ศาลสูงสุดแห่งกรุงโตเกียวมีคำพิพากษาว่าการห้ามมิให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ข่าวต่างประเทศ
30 Nov 2024
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ศาลสูงสุดแห่งกรุงโตเกียวได้มีคำพิพากษาว่า การไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งสร้างความยินดีแก่ผู้เป็นโจทก์ โดยอาจกล่าวได้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็น “คดีประวัติศาสตร์”
ทั้งนี้ นับเป็นศาลสูงสุดแห่งที่สองที่มีการกล่าวถึงว่า การห้ามมิให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลแห่งแรกมีคำพิพากษาเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ณ ศาลสูงสุดแห่งซัปโปโร
คดีเกี่ยวกับการสมรสเพศเดียวกันมีจำนวน ๖ คดี ที่ได้มีการยื่นฟ้องในเขตศาลทั่วประเทศ
คำพิพากษาของศาลข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนมากขึ้น
เมื่อเทียบกับคำพิพากษาของศาลแห่งกรุงโตเกียวเมื่อปี ๒๐๒๒ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบุเพียงว่า กฎหมายภายในที่มีการห้ามสมรสของคู่รักเพศเดียวกันอยู่ในสถานะที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
Sonoe Taniguchi หัวหน้าผู้พิพากษากล่าวว่า การอนุญาตให้เฉพาะคู่รักต่างเพศแต่งงานได้นั้นไม่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกฟ้องการเรียกร้อง
ค่าสินไหมทดแทน จำนวน ๑ ล้านเยน (๖,๕๒๓ ดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่โจทก์แต่ละราย จากจำนวนทั้งหมด ๗ ราย
เขากล่าวว่า การห้ามการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันขัดกับมาตรา ๑๔ ของรัฐธรรมนูญฯซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกันสิทธิความเท่าเทียม และมาตรา ๒๔ วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้กฎหมายของรัฐเกี่ยวกับการสมรสนั้นต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล
“ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและครอบครัวต้องได้รับการพิจารณาจากหลากหลายปัจจัย รวมทั้งวัฒนธรรมของรัฐและทัศนคติของสาธารณะ” คำพิพากษาดังกล่าวระบุว่า “แม้ว่าจะได้มีการพิจารณา
ก็ไม่มีเหตุผลที่จะแยกแยะว่า ... พวกเขามีสิทธิได้รับประโยชน์ทางกฎหมายหรือไม่ หากพิจารณาตามรสนิยมทางเพศซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่สามารถเลือกหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามใจ”
คำพิพากษาดังกล่าวได้กล่าวถึงวิธีการแก้ไขกฎหมายที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ รวมทั้งการตรากฎหมายขึ้นใหม่เพื่อรองรับระบบการอนุญาตให้มีสิทธิพิเศษแก่คู่รักเพศเดียวกัน
ภายหลังจากมีคำพิพากษา โจทก์กล่าวว่า พวกเขารู้สึกมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคต โดยทนายความของพวกเขาอย่าง Makiko Terahara กล่าวว่า คำตัดสินนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
Haru Ono หญิงวัย ๕๐ ปี ผู้เป็นหนึ่งในจำเลยได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า เธอนั้นรู้สึกมีความสุขที่ผู้พิพากษาได้ยอมรับว่าการมีครอบครัวไม่ได้จำกัดแต่เพียงรูปแบบประเพณีแบบดั้งเดิมและสามารถออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันได้
Ono และคู่ของเธอ Asami Nishikawa ผู้เป็นโจทก์นั้นได้อาศัยอยู่ร่วมกันพร้อมกับลูกๆของพวกเขาอีก ๓ คน ซึ่งได้ตั้งครรภ์ระหว่างการแต่งงานครั้งก่อนกับผู้ชาย “ตลอดการพิจารณาของคดีนี้ แนวคิดของเด็กทั้งสามคนนี้ทำให้ฉันหนักใจ แต่ในวันนี้ หัวหน้าผู้พิพากษายอมรับว่า แม้ความสัมพันธ์กับเด็กทางสายเลือดจะมหัศจรรย์และเป็นที่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทางเดียวและครอบครัวนั้นมีหลายประเภท ซึ่งฉันดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ยินแบบนั้น” เธอกล่าว หนึ่งในลูกของพวกเขาได้มาฟังผลคำพิพากษาในวันนี้และเมื่อการพิพากษาคดีสิ้นสุดลง (เด็กคนนั้น) ก็พูดว่า “นี่คือการก้าวไปข้างหน้า”
การพิจารณาคดีนี้ใช้เวลามากกว่า ๕ ปี และโจทก์กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ Ikuo Sato โจทก์อีกคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนที่จะได้ฟังคำตัดสินในวันพุธนี้
“วันนี้เรานำรูปของ Ikuo Sato ซึ่งได้ยื่นฟ้องคดีร่วมกับเรามาแสดง จริง ๆ แล้ว ฉันอยากให้เขาได้ยินคำตัดสินไปกับพวกเรา” Ono กล่าว “ในขณะที่เรากำลังพูดว่าเราต้องการให้การแต่งงานของคน
เพศเดียวกันได้รับการอนุญาต มีเพื่อนบางคนของเราที่เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น เราจึงอยากให้ความปรารถนาของเรานั้นเป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
สำหรับการอุทธรณ์ โจทก์ทั้ง ๗ คน ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว จังหวัดโอกินาวะ และประเทศเยอรมนีได้โต้แย้งว่า คู่รักเพศเดียวกันมีความเหมือนกับคู่รักต่างเพศ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงและควรมีเสรีภาพในการแต่งงาน พวกเขาระบุว่า การจำกัดการแต่งงานโดยพิจารณาจากสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา เช่น รสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพนั้น ขาดความสมเหตุสมผลและละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
คำพิพากษาก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับการห้ามสมรสในคู่รักเพศเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นมีความหลากหลายในการใช้ภาษา จาก “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ไปจนถึง “อยู่ในสภาวะขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ในขณะที่ศาลบางแห่งก็ได้ประกาศว่าเป็น “รัฐธรรมนูญ”
ข่าวประจำวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.japantimes.co.jp/news/2024/10/30/japan/crime-legal/same-sex-ruling-unconstitutional/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย