ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษแก้ไขกฎหมายที่บังคับให้โรงเรียนต้องมีเนื้อสัตว์และนมในมื้ออาหาร เนื่องจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม
ข่าวต่างประเทศ
22 Oct 2024
Dale Vince เป็นผู้ประกอบธุรกิจสีเขียว (ผู้ประกอบธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด[๑]) ซึ่งบริจาคเงินมากกว่า ๕ ล้านปอนด์ (๒๑๖ ล้านบาท) ให้กับพรรคแรงงานของอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๒๐ เขาต้องการพูดคุยกับรัฐบาลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่บังคับให้โรงเรียนต้องมีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมในมื้ออาหารของโรงเรียนในอังกฤษ
โดยเขากล่าวว่าการทานอาหารมังสวิรัติดีต่อสุขภาพมากกว่าการทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และเขาเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรบังคับให้เด็ก ๆ ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านั้น
ซึ่งตามแนวปฏิบัติของรัฐบาลได้บังคับให้โรงเรียนในอังกฤษจะต้องจัดให้มีอาหารที่หลากหลายตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งจะต้องมีผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม และเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์
ปัจจุบันเขากำลังรณรงค์ให้ยุติการเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด ซึ่งเขากล่าวว่าการทำปศุสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพอากาศในปัจจุบัน โดยเขากล่าวในการประชุม Fringe ในงานประชุมของพรรคแรงงานว่า ปัจจุบันบริษัท Devil's Kitchen ของเขาได้มีการจัดอาหารมังสวิรัติให้กับโรงเรียนประถมศึกษามากถึงหนึ่งในสี่แห่งของประเทศ และโรงเรียนหลายแห่งต้องการให้มื้ออาหารในโรงเรียนมีความเป็นมังสวิรัติมากกว่านี้ โดยไม่ต้องการให้มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมอยู่ในเมนูอาหารเลย
นอกจากนี้ เขาได้มีการวางแผนที่จะพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการบรรจุหลักสูตรเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน (Climate and Sustainability) ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาด้วย
ทั้งนี้ เขาปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาที่จะต่อต้านกลุ่มเกษตรกร และไม่ต้องการทำลายอุตสาหกรรมในภาคการเกษตร เพียงแต่เขาต้องการให้อุตสาหกรรมนี้เกิดการปฏิรูปขึ้นใหม่ (reborn) เท่านั้น ซึ่งเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จากข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์
ที่เขาทราบ เกษตรกรจะต้องเลิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ และนั่นไม่น่าเป็นปัญหาเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการเพาะปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว
ข่าวประจำวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/articles/crejwrypryyo
อ้างอิง[๑] https://link.springer.com/referenceworkentry/10.1007/978-3-031-01949-4_113
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย