BANNER

ส.ส. และประชาชนในเมือง Bradford ของอังกฤษเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายควบคุมดอกไม้ไฟในเมือง Bradford


 ข่าวต่างประเทศ      13 Oct 2024

  


                    ประชาชนจากภาคครัวเรือนต่าง ๆ ในเมือง Bradford ของประเทศอังกฤษมีแคมเปญเรียกร้องขอให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมและสั่งห้ามมิให้มีการแสดงดอกไม้ไฟในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นการต่อต้านสังคม ซึ่งประชาชนจำนวนมากถือเป็นภัยคุกคาม
                    แคมเปญดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนักการเมืองของทุกพรรค โดยสภาเขต (Metropolitan District Council) Bradford (Bradford City Council) ได้กล่าวกับสำนักข่าว BBC ในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗ ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายระดับชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้ดอกไม้ไฟที่เกิดขึ้น แม้ตำรวจและสภาท้องถิ่นของเมือง Bradford จะมีอำนาจในการควบคุมการขายดอกไม้ไฟเบื้องต้นอยู่แล้วก็ตาม
                            ปัจจุบัน สมาชิกสภาเขต Bradford ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมมือกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายดังกล่าวขึ้น โดยพวกเขาได้รับจดหมายร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหานี้จำนวนมาก ซึ่งสมาชิกสภาเขต Bradford South Judith Cummins ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อจำกัดเสียงดอกไม้ไฟต่อรัฐสภาเมื่อปี พ.ศ ๒๕๖๖ และกล่าวว่ามีจดหมายร้องเรียนในประเด็นนี้ส่งหาเธอจำนวนมาก ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอน Second Reading (คือ ขั้นตอนที่สมาชิกรัฐสภาที่รับผิดชอบเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้น ๆ อภิปรายหลักการสำคัญของร่างกฎหมาย และสมาชิกรัฐสภาและพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ จะให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่อไป (ที่มา: https://www.parliament.uk/about/how/laws/passage-bill/commons/coms-commons-second-reading/)) แต่สมาชิกสภาเขตต้องการผลักดันให้มีการเน้นย้ำถึงประเด็นนี้อีกครั้ง
                    โดยสมาชิกสภาเขต Keighley และ Ilkley Robbie Moore กล่าวว่า เขามักได้รับการติดต่อจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากประชาชนจำนวนมากกังวลว่าเสียงจากดอกไม้ไฟจะส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของพวกเขา และ Robbie Moore กล่าวว่าเขาเห็นด้วยกับการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและกฎระเบียบที่ห้ามจุดดอกไม้ไฟบนทางหลวงสาธารณะ
                    ด้านสมาชิกสภาเขต Shipley Anna Dixon สมาชิกคนใหม่ของพรรคแรงงาน เห็นด้วยว่าการใช้ดอกไม้ไฟเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสดงออกเพื่อต่อต้านสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เธอกล่าวว่าขณะนี้ผ่านมาแล้วสองทศวรรษนับตั้งแต่มีการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับดอกไม้ไฟฉบับล่าสุด
                    ขณะเดียวกันสมาชิกสภาเขต Bradford West Naz Shah กล่าวว่า เธอต้องการให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการใช้ดอกไม้ไฟในสถานที่จัดงานแต่งงาน
                    สำหรับแคมเปญเกี่ยวกับดอกไม้ไฟ ปัจจุบัน คำร้องแบบออนไลน์ฉบับใหม่มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว กว่า ๑,๘๐๐ รายชื่อ และมีการประท้วงเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา
                    โดยนักรณรงค์ที่จัดตั้งกลุ่ม Ban the Menace Fireworks ชื่อว่า Inayah Sher กล่าวว่า แม้ว่าพวกเธอจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่นั่นก็แทบไม่มีความคืบหน้าเลย เธอจึงเรียกร้องให้นักการเมือง ดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อคืนสันติภาพให้กับคนในชุมชน
                    ในอังกฤษและเวลส์ การจุดดอกไม้ไฟระหว่างเวลา ๒๓ นาฬิกา ถึง ๗ นาฬิกาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเว้นในวัน Bonfire Night ซึ่งต้องจุดให้เสร็จภายในเวลาเที่ยงคืน และช่วงเวลาจุดดอกไม้ไฟ
จะขยายไปจนถึงเวลาตีหนึ่ง ในวันส่งท้ายปีเก่า วันตรุษจีน และวัน Diwali (เป็นวันหยุดเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดูที่จัดขึ้นเป็นเวลา ๕ วันในช่วงเดือน Ashvina และ Karttika (ตุลาคมถึงพฤศจิกายน) โดยชาวฮินดูจะจุดประทีปแล้ววางเป็นแถวนอกบ้านของตน โดยประทีปเป็นสัญลักษณ์ว่าด้วยชัยชนะของความสว่างไสวเหนือความมืดมัว ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ (ที่มา:
curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=12524 และ www.britannica.com/topic/Diwali-Hindu-festival))

                    สำหรับการใช้ดอกไม้ไฟเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ผู้ใช้สามารถซื้อดอกไม้ไฟได้จากผู้จำหน่าย
ที่ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น ตามช่วงเวลาที่กำหนด โดยตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคมถึง ๑๐ พฤศจิกายน และตั้งแต่วัน
Boxing Day (๒๖ ธันวาคม) จนถึงวันส่งท้ายปีเก่า และสามวันก่อนวัน Diwali และวันตรุษจีน โดยร้านค้าปลีกสามารถลงทะเบียนเพื่อจำหน่ายดอกไม้ไฟอย่างถูกกฎหมายได้ตลอดทั้งปี และการจำหน่ายดอกไม้ไฟโดยผิดกฎหมายอาจมีโทษจำคุกถึง ๖ เดือน


ข่าวประจำวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/articles/cm293l5kj17o
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

© 2016 Office of the Council of State.