โฆษกสูงสุดของรัฐบาลแห่งประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวในวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๗ ว่า เครื่องบินทหารของจีนลำหนึ่งได้รุกล้ำเข้ามาภายในน่านฟ้าญี่ปุ่นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๗ เหตุการณ์นี้จึงกล่าวได้ว่า เป็นการละเมิดเขตแดนและภัยคุกคามความมั่นคงที่ “ไม่สามารถยอมรับได้อย่างยิ่ง”
นาย Yoshimasa Hayashi ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Cabinet Secretary* ได้กล่าวว่า ในวันดังกล่าวเครื่องบินลาดตระเวน Chinese Y-9 ลำหนึ่งได้เข้ามาภายในบริเวณทางทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของน่านฟ้าญี่ปุ่นในช่วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้กองทัพต้องนำเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้นอย่างรวดเร็วและกล่าวเสริมว่า นี่เป็นครั้งแรกที่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (Japan Self-Defense Force) ตรวจพบเครื่องบินทหารของจีนภายในน่านฟ้าญี่ปุ่น
“การรุกล้ำน่านฟ้าญี่ปุ่นโดยกองทัพอากาศของจีนไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดต่อเขตแดนของญี่ปุ่นอย่างร้ายแรง แต่ยังเป็นการคุกคามความมั่นคง” Hayashi ได้กล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน โดยเห็นว่า “เราพบว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างยิ่ง”
เครื่องบินลาดตระเวน Chinese Y-9 บินวนเป็นวงกลมเหนือเกาะดันโจซึ่งตั้งอยู่ในเขตนอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู ซึ่งเป็นเกาะหลักทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา ๒ นาที ญี่ปุ่นจึงได้นำเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้นอย่างรวดเร็วและเตือนให้เครื่องบินจีนออกไป เจ้าหน้าที่ร่วมของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นได้กล่าวเมื่อค่ำวันจันทร์ พร้อมเสริมว่า เจ้าหน้าที่นั้นกำลังวิเคราะห์กิจกรรมทางการทหารล่าสุดของประเทศจีน
เมื่อวันอังคาร นาย Lin Jian โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่าจีนไม่มีเจตนาละเมิดน่านฟ้าของประเทศใด ๆ และ“เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของจีนกำลังเรียนรู้และตรวจสอบสถานการณ์”
Hayashi เน้นย้ำว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางทหารของจีนที่เกิดขึ้นรอบญี่ปุ่นนั้นมีการ “ขยายและเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ” ซึ่งญี่ปุ่นจะคอยเฝ้าจับตามองกิจกรรมทางทหารของจีนอย่างต่อเนื่อง และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อตอบโต้การละเมิดรุกล้ำน่านฟ้าที่อาจเป็นไปได้
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ระบุในแถลงการณ์ว่า นาย Masataka Okano รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เรียกนาย Shi Yong รักษาการเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบ เพื่อแสดงการประท้วงอย่างรุนแรงต่อการรุกล้ำน่านฟ้าดังกล่าว อีกทั้งเรียกร้องให้จีนดำเนินการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ตามข้อมูลของกองทัพญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้แย่งเข้าชิงสกัดกั้นเครื่องบินไอพ่นเกือบ ๖๖๙ ครั้งในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๒๓ ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.๒๐๒๔ หรือประมาณร้อยละ ๗๐ ของเวลาดังกล่าวต่อเครื่องบินทหารของจีน แม้ว่าจะไม่ได้รวมการรุกล้ำน่านฟ้าด้วยก็ตาม
เจ้าหน้าที่กลาโหมญี่ปุ่นมีความกังวลมากยิ่งขึ้นต่อความร่วมมือทางทหารระหว่างกองทัพอากาศของประเทศจีนและรัสเซียที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนกิจกรรมที่แสดงออกของประเทศจีนต่อน่านน้ำและน่านฟ้าในบริเวณรอบ ๆ ประเทศญี่ปุ่น สิ่งนี้เหล่านี้ทำให้ทางโตเกียวต้องเสริมกำลังการป้องกันทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายรวมถึงเกาะห่างไกล อันนับว่าเป็นกุญแจที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์การป้องกันภายในภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่น
ข่าวประจำวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://apnews.com/article/japan-china-airspace-violation-a1a399abd83d9f531e98ed135e2d101f
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย
*ตามโครงสร้างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตำแหน่ง Chief Cabinet Secretary คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (โดยเทียบเท่าได้กับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย)
ข้อมูลจาก สลค.สาร ปีที ๑๔ ฉบับที่ ๕ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ หน้า ๑๑. สืบค้นเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๗, จาก https://www.soc.go.th/wp-content/uploads/2019/02/socmag_May49.pdf