BANNER

รัฐบาลตุรกีเสนอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิสัตว์ เพื่อให้สามารถการุณยฆาตสุนัขจรจัดที่ไม่มีผู้รับเลี้ยงได้


 ข่าวต่างประเทศ      30 Jun 2024

  


                    พรรครัฐบาลของตุรกีอย่าง Justice and Development (AKP) กำลังพิจารณาการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิสัตว์เพื่ออนุญาตให้ทำการุณยฆาตแก่สุนัขจรจัดได้ โดยแหล่งข่าวของ AKP กล่าวถึงวิธีในการจัดการกับสุนัขจรจัดที่ผ่านมา เช่น การทำหมันและการจัดให้มีสถานสงเคราะห์สำหรับสุนัขจรจัดนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมจำนวนสุนัขจรจัด  ทั้งนี้ สังเกตได้จากจำนวนสุนัขจรจัดข้างถนนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                    เจ้าหน้าที่ AKP อธิบายว่ากฎหมายว่าด้วยสิทธิสัตว์ฉบับใหม่กำหนดให้แต่ละเทศบาลต้องถ่ายรูปสุนัขในสถานสงเคราะห์ของตน และโพสต์ลงเว็บไซต์เพื่อให้มีผู้รับไปเลี้ยง หากสุนัขนั้นไม่ถูกรับเลี้ยงภายใน ๓๐ วัน จะต้องถูกการุณยฆาตโดยการฉีดสารพิษ  สื่อของรัฐบาลยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากสุนัขจรจัด เช่น การทำร้ายผู้คน อุบัติเหตุบนท้องถนน และโรคพิษสุนัขบ้า โดยกล่าวว่าสุนัขจรจัดทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนถึง ๓,๕๐๐ ครั้ง ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และอ้างถึงผลสำรวจของรัฐบาลที่ระบุว่าประชาชนร้อยละ ๘๓.๖ ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่าสุนัขจรจัดเป็นปัญหาสำหรับพวกเขา
                    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของสุนัขจรจัดที่ทำร้ายร่างกายผู้คนด้วย อย่างกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุง Ankara ที่สุนัขจรจัดทำร้ายร่างกายเด็ก ๑๐ ขวบจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
                    ในด้านของประธานาธิบดี Tayyip Erdogan ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและพยายามสงบสติอารมณ์ต่อข้อเสนอที่ให้กำจัดสุนัขด้วยวิธีดังกล่าว เขากล่าวในรัฐสภาว่า เราต้องการให้สัตว์ทุกตัวที่ถูกส่งตัวเข้ามาในสถานสงเคราะห์ได้รับการรับเลี้ยง หากเราสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการขั้นต่อไปในการกำจัดสุนัขเหล่านี้  อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้อาจสร้างภาระหนักในแง่ของการให้สถานที่พักพิง การทำหมัน และการหาบ้านให้สุนัขจรจัด
                    ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวชาวตุรกีที่รักสัตว์ได้ออกมาแสดงความกังวล โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ที่รัฐบาลพยายามจัดการกับปัญหาสุนัขจรจัด โดยการส่งสุนัขจรจัด ๘๐,๐๐๐ ตัวไปยังเกาะเล็ก ๆ นอกเมือง Istanbul ทำให้สุนัขเหล่านั้นล้วนต้องเสียชีวิตจากความหิวโหย กระหายน้ำหรือแม้แต่ฆ่ากันเอง โดยประธานสหพันธ์สิทธิสัตว์ Ahmet Kemal Senpolat กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการทำหมันสุนัขจรจัดทั่วประเทศ เนื่องจากเรามีความต้องการให้จำนวนของสุนัขจรจัดนั้นลดลงภายใต้การดำเนินการอย่างมีมนุษยธรรม
                    ปัจจุบันประเทศตุรกีมีจำนวนสุนัขจรจัดประมาณ ๔ ล้านตัวทั่วประเทศ แต่มีสุนัขที่ได้รับการทำหมันโดยเฉลี่ยเพียงปีละ ๒๖๐,๐๐๐ ตัว ซึ่งไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดจำนวนประชากรของสุนัขจรจัดได้อย่างมีนัยสำคัญ

ข่าวประจำวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.reuters.com/world/middle-east/turkeys-plan-get-stray-dogs-off-streets-touches-raw-nerve-2024-05-30/
https://www.duvarenglish.com/turkish-parliament-to-vote-on-euthanasia-for-stray-dogs-bill-news-64384
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

© 2016 Office of the Council of State.