ศาลรัสเซียสั่งปรับและจำคุกชาวรัสเซียที่ครอบครองและแสดงวัตถุสีรุ้งที่สื่อถึง LGBTQ+ ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย LGBTQ+
ข่าวต่างประเทศ
29 Feb 2024
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ศาลสูงของรัสเซียได้มีคำสั่งให้การครอบครองและแสดงออกซึ่งวัตถุสีรุ้งที่สื่อถึง LGBTQ+ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและถือเป็นขบวนการของกลุ่มลัทธิหัวรุนแรง โดยผู้ใดที่กระทำการดังกล่าวต้องได้รับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ตั้งแต่มีคำสั่งดังกล่าว รัสเซียก็ได้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยการปรับและจำคุกชาวรัสเซียที่ครอบครองและแสดงภาพธงสีรุ้งหรือวัตถุที่เป็นสีรุ้ง เนื่องจากเป็นการละเมิดกฎหมาย LGBTQ+ มาโดยตลอด โดยที่ผ่านมามีรายงานว่ามีชาวรัสเซียที่ได้รับโทษตามกฎหมายดังกล่าวแล้วอย่างน้อย ๓ ราย ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากการครอบครองและแสดงถึงวัตถุสีรุ้งในรูปแบบต่าง ๆ
โดยช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๗ ศาลในเมือง Nizhny Novgorod มีคำสั่งจำคุก Anastasia Yershova เป็นเวลา ๕ วัน ในข้อหาแสดงวัตถุสีรุ้งซึ่งสื่อถึง LGBTQ+ จากการที่เธอสวมต่างหูสีรุ้งในที่สาธารณะ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา Inna Mosina ผู้เป็นศิลปินและช่างภาพชาวรัสเซียถูกศาลในเมือง Saratov สั่งปรับเป็นเงิน ๑,๕๐๐ รูเบิล (ประมาณ ๕๙๐ บาท) เนื่องจากเขาเผยแพร่ภาพธงสีรุ้งบนแอปพลิเคชัน Instagram หลายภาพ ทั้งนี้ Mosina ชี้แจงว่าภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่ก่อนที่ศาลจะสั่งให้วัตถุสีรุ้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายเสียอีก นอกจากนี้ ศาลในเมือง Volgograd ได้มีคำสั่งปรับชายคนหนึ่งเป็นเงิน ๑,๐๐๐ รูเบิล (ประมาณ ๓๙๐ บาท) จากการโพสต์ธงสีรุ้งบน Social Media
ทั้งนี้ ความพยายามในการกำจัดกลุ่ม LGBTQ+ ของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียได้มีมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยอาศัยมาตรการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการสนับสนุน ความสัมพันธ์ทางเพศที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี การปฏิรูปรัฐธรรมนูญโดยห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การห้ามมิให้มีการแปลงเพศ และห้ามบุคคลที่แปลงเพศรับอุปถัมภ์บุตรบุญธรรม และเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าแนวคิด LGBTQ+ ถือเป็นความคิดอันวิปริตที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของสังคมและการสูญพันธุ์ของมนุษย์
ข่าวประจำวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://apnews.com/article/russia-lgbtq-crackdown-court-rainbow-flag-dc4081bd74938fedf600ac0cca5cc679
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย