อาร์เจนตินาเสนอร่างกฎหมายที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง ๖ ปีต่อผู้จัดการชุมนุมประท้วง
ข่าวต่างประเทศ
01 Feb 2024
ฮาเวียร์ มิเล ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาเสนอร่างกฎหมายที่ประกาศให้ประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะแก่สภาคองเกรส และมีตัวบทกฎหมาย ๖๖๔ มาตรา ที่เปลี่ยนแปลงรากฐานทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา โดยเป็นการถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติในด้านเศรษฐกิจ การเงิน ประกันสังคม การคลัง สุขภาพ การเลือกตั้งไปให้แก่รัฐบาล โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วง
มิเล เสนอว่า การชุมนุมประท้วงชั่วคราวและมีเจตนาซึ่งมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปถือเป็นการชุมนุมประท้วงซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง ๖ ปี หากกระทำการโดยกีดขวางการขนส่งสาธารณะหรือการให้บริการสาธารณะ
นับตั้งแต่มิเล ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาเข้ารับตำแหน่งในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ.๒๐๒๓ ได้มีนโยบายที่กำหนดให้มีการแจ้งเตือนให้ทางการทราบล่วงหน้าหากมีการชุมนุมในที่สาธารณะ กระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะคัดค้านการชุมนุมประท้วงหรือเสนอการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ผู้จัดการชุมนุมประท้วงต้องประกาศว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียกให้บุคคลมารวมตัวชุมนุมกันในกรณีที่ต้องรับผิดทางอาญา ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นผลมาจากการลงนามในพิธีสารต่อต้านการชุมนุมประท้วง (anti-protest protocol) โดยแพทริเซีย บูลริช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงของอาร์เจนตินา
ข้อเสนอของมิเลประกาศให้อาร์เจนตินาตกอยู่ในสถานการณ์ “ฉุกเฉินสาธารณะ” จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สามารถขยายออกไปได้อีกสองปี ซึ่งตามระยะเวลาได้ครอบคลุมวาระการดำรงตำแหน่งทั้งหมดของเขา ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะ รัฐบาลสามารถใช้อำนาจที่สอดคล้องกับของฝ่ายนิติบัญญัติได้ ซึ่งโดยทั่วไปรัฐธรรมนูญของอาร์เจนตินาป้องกันการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าว “ยกเว้นในเรื่องเฉพาะด้านการบริหารหรือเหตุฉุกเฉินสาธารณะ โดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการบริหารและอยู่ภายใต้พื้นฐานของคณะผู้แทนที่จัดตั้งโดยสภาคองเกรส”
ข่าวประจำวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
เรียบเรียงจาก https://english.elpais.com/international/2023-12-28/argentine-president-javier-milei-proposes-law-punishing-protest-organizers-with-up-to-six-years-in-prison.html?fbclid=IwAR1ijeFon1QNOEte-L0pclctv2_LOPo7WU0-buVmZjKgnG23DJUw4VYWxYY
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย