BANNER

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียนและแนวทางการพัฒนาในอนาคต


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      28 Dec 2016

  


บทนำ
          อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของอาเซียน เนื่องด้วยสภาพภูมิศาสตร์และขนาดตลาดที่มีประชากรชนชั้นกลางอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ในช่วงทศวรรษ 1970 ค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานประกอบและผลิตในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่บริษัทรถยนต์เข้าไปตั้งฐานการประกอบและผลิตคือ ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากสภาพทางภูมิศาสตร์และประชาชนกรจะส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว ในแง่ภาษีประเทศสมาชิกอาเซียนได้สนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนตร์เติบโตในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFATA) ซึ่งได้มีการลดกำแพงภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ระหว่างกันทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถบริหาร Supply Chain ได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น สั่งชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศมาเลเซียเข้ามาประกอบรถยนตร์ในประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์กำลังจะเปลี่ยนแปลงบางชิ้นส่วนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายรวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยมีความสำคัญน้อยลงดังนั้นอาเซียนควรกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกันเพื่อทำให้อาเซียนยังคงสถานะภูมิภาคแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไว้

AFTA กับอุตสาหกรรมรถยนต์
          ประวัติศาสตร์เขตการค้าเสรีอาเซียนเริ่มต้นตั้งแต่ แถลงการณ์บาหลี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เขตการค้าเสรีอาเซียนเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ประเทศร่วมก่อตั้งหลักคือ สิงคโปร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ณ เวลานั้นคือประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจพร้อมในการเป็นตลาดร่วม AFTA มีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อย่างยิ่งเนื่องจาก AFTA ได้กำหนดให้ภาษีประเทศสมาชิกต้องลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าในสินค้าหลายชนิด ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สามารถที่จะลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศมาเลเซียและสั่งชิ้นส่วนบางรายการที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งการสั่งชิ้นส่วนหากไม่มีเขตการค้าเสรีอาเซียน ชิ้นส่วนบางชนิดอาจจะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละประเทศการมีเขตการค้าเสรีทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถบริหาร Supply Chain ได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลถึงราคารถยนต์มีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ชิ้นส่วนที่สามารถได้รับสิทธิทางภาษีได้ต้องมีส่วนที่ผลิตในอาเซียนไม่น้อยกว่าที่กำหนด คือ ๔๐ % และต้องมีเอกสารรับรองจากประเทศสมาชิก[๑]

 
อาเซียนกับยกระดับมาตรฐานรถยนต์ในภูมิภาค
          ประเทศไทย[๒][๓]
          การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียนเริ่มตั้งแต่ในทศวรรษ 1960 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายตั้งอัตราภาษีการนำเข้ารถยนต์ในอัตราส่วนสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการขายรถยนต์ในประเทศไทยหรือต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานประกอบรถยนต์ต้องร่วมทุนกับบริษัทไทยเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศ โรงงานแห่งแรกในประเทศไทยคือโรงงาน Anglo-Thai Motor Company ซึ่งเป็นการลงทุนระหว่างบริษัท Ford Motor และบริษัทนำเข้ารถยนต์ Ford ในขณะนั้น ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายย่อยของประเทศโดยการระบุให้ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ รวมถึงกำหนดให้รถยนต์ที่ประกอบในประเทศไทยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทไทยบางส่วน นโยบายดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยของประเทศไทยได้ประโยชน์และช่วยให้พัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยอีกด้วย ในช่วงทศวรรษ 1990 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่โดยกำหนดว่าประเทศไทยต้องเป็น “Detroit of Asia” คือเป็นประเทศที่สามารถส่งออกรถยนต์รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ที่มีความตกลงทางการค้า และปัจจุบันประเทศไทยเริ่มนโยบายในการส่งเสริมผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นมาตรฐานของเครื่องรถขับเคลื่อนในอนาคต[๔]
          ประเทศมาเลเซีย
          ปัจจุบันมาเลเซียคือประเทศผลิตและส่งออกอันดับ ๓ ของอาเซียน ในช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรมมาเลเซียดำเนินนโยบายคล้ายประเทศไทยคือตั้งภาษีนำเข้ารถยนต์สูงรวมถึงในกรณีของมาเลเซีย มีการตั้งภาษีขายสินค้าสำหรับรถยนต์นำเข้าโดยเฉพาะ[๕]เพื่อให้บังคับให้บริษัทรถยนต์ต้องร่วมทุนกับผู้ผลิตในประเทศ และในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลมาเลเซีย ในขณะนั้นโดยการนำของ Dr. Mahathir bin Mohamad มีนโยบายที่จะจัดตั้งบริษัทผลิตรถยนต์แห่งชาติมาเลเซียในนามว่า Proton[๖] รถยนต์รุ่นแรกของบริษัทชื่อว่า Proton Saga[๗] ซึ่งร่วมพัฒนากับบริษัท Mitsubishi Motors นโยบายรถยนต์แห่งชาติดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งทำให้ประชาชนมาเลเซียมีรถยนต์ใช้และเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับประเทศโดยการมีรถยนต์ประจำชาติ
          ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของมาเลเซียมีความชัดเจนที่ต้องการจะเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์มากกว่าจะเป็นประเทศที่มีการผลิตมากที่สุดซึ่งต่างจากประเทศไทยที่เน้นให้ผู้ผลิตรายย่อยในประเทศได้ประโยชน์จากการอยู่ในเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่
          ประเทศอินโดนีเซีย
          ประเทศอินโดนีเซียมีประชากรประมาณ ๒๕๕ ล้านคน ปัจจุบันมีจำนวนการผลิตรถยนต์
เป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศอาเซียน สภาพตลาดอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่และอยู่ในระยะที่จะเริ่มมีชนชั้นกลางที่สามารถมีรายได้ในการซื้อรถยนต์มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกอย่าง Toyota ลงทุนสร้างโรงงานและพัฒนารถสำหรับขายในประเทศอินโดนีเซียโดยเฉพาะ[๘] ในอนาคตด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียคาดว่าจะมีผู้ผลิตรถยนต์เข้าลงทุนธุรกิจรถยนต์ประเทศอินโดนีเซียมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าประเทศไทย และขนาดตลาดที่ใหญ่แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็มีความเสี่ยงในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่มีความพร้อมและภัยธรรมชาติ
          ประเทศฟิลิปปินส์
          ประเทศฟิลิปปินส์มีประชากรประมาณ ๑๐๐ ล้านคน ปัจจุบันมีจำนวนการผลิตรถยนต์เป็นอันดับที่ ๔ ของอาเซียน ทางด้านเศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีประชากรชนชั้นกลางมากกว่าประเทศอินโดนีเซีย และเป็นประเทศที่มีอัตราการซื้อรถยนต์ใหม่[๙] อยู่ในช่วงเพิ่มจนทำให้มีปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลวงกรุงมะนิลา[๑๐] หากจะเปรียบเทียบอุตสาหกรรมรถยนต์ฟิลิปปินส์มีลักษณะคล้ายอินโดนีเซียที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นมีความต้องการที่จะสร้างนโยบายและแรงจูงใจให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เข้าลงทุนในประเทศมากที่สุด
          ประชาคมอาเซียน
          ประชาคมอาเซียนมีความร่วมมือกันระดับอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยิ่งตัวอย่างคือ ASEAN NCAP [๑๑] คือหน่วยงานทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ที่ประกอบและจำหน่ายในประเทศสมาชิกอาเซียนการมีหน่วยงานทดสอบเป็นการสร้างมาตรฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพการประกอบรถยนต์ของโรงงานต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน
Tran-Pacific Partnership (TPP) กับอุตสาหกรรมรถยนตร์อาเซียน[๑๒]
          ความตกลง TPP หากประเทศสมาชิกจัดทำกระบวนการในประเทศเสร็จสิ้นและให้สัตยาบันจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างยิ่ง เนื่องจาก ความตกลงฯ มีประเทศผู้ผลิตรถสำคัญคือประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ความตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ญี่ปุ่นได้เปรียบในการที่จะส่งรถเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาและลดความจำเป็นที่จะต้องตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศที่อยู่ในความตกลง NFATA ซึ่งในบางกรณีอาจจะเข้าไปตั้งโรงงานเพราะ Economic of Scale ของประเทศคุ้มที่จะลงทุน
          นอกจากญี่ปุ่นแล้วความตกลง TPP มีมาเลเซียเป็นสมาชิกในความตกลงซึ่งความตกลงอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่มาเลเซียจะนำรถยนต์แห่งชาติแบรด์ Proton ไปจำหน่ายในประเทศที่มีการแข่งขันไม่สูงนัก ทั้งนี้ประเทศที่อาจจะได้ประโยชน์ด้วยคือเวียดนามซึ่งปัจจุบันวางยุทธศาสตร์ประเทศส่งออกเครื่องนุ่งห่มเป็นหลัก หาก TPP มีผลก็อาจจะเป็นที่น่าสนใจของบริษัทรถยนต์ได้เพราะตลาดรถยนต์เวียดนามก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นเช่นกัน
RCEP กับอุตสาหกรรมรถยนต์อาเซียน
          ความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศและประเทศอื่น ๆ คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ณ ปัจจุบันข้อมูลความตกลงยังไม่มีการเปิดเผยอย่างใด อย่างไรก็ตามหากในความตกลงมีระบุถึงการลดภาษีรถยนต์หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ๖ ประเทศ ดังกล่าวประเทศจีนถือได้ว่าเป็นประเทศที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องการบุกตลาดมากที่สุดเนื่องด้วยขนาดของประชากรและกำลังซื้อที่อยู่ในช่วเพิ่มขึ้น[๑๓] นอกจากนี้ ยังจะส่งผลดีกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยจะสามารถส่งออกชิ้นส่วนได้ ทั้งนี้ ความตกลงก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนได้จำหน่ายรถยนต์นอกประเทศจีนเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดรถยนต์แข่งขันกันมากขึ้น
นวัตกรรมรถยนต์ในอนาคต
          ปี ๒๕๕๙ ถือได้ว่าเป็นปีที่กระแสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองและรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมาก [๑๔] โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตรายใหม่อย่าง Tesla Motor ที่สามารถสร้างให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามีความน่าสนใจ ซึ่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าต้องอาศัยแบตเตอรี่ในการเก็บประจุไฟฟ้าเพื่อการขับเคลื่อน
ทำให้แร่ Lithium [๑๕] ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แร่ดังกล่าวสามารถพบได้ในประเทศจีนและทวีปอเมริกาใต้ ในอนาคตหากแร่ดังกล่าวมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ประเทศที่มีแร่ดังกล่าวอาจจะใช้เป็นข้อต่อรองในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศได้
          ทั้งนี้จากกระแสของโลกที่ต้องการลดมลพิษจากการปล่อยไอเสียรถยนต์ทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตอย่างแน่นอน ประเทศไทยซึ่งเป็นฐานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้มีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า[๑๖] เช่นมีการให้สิทธิทางภาษีทั้งกับผู้ผลิตรถยนต์และประชาชนที่ซื้อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรายย่อยในประเทศไทยอาจจะต้องปรับตัวกับมาตรฐานใหม่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งภาครัฐควรมีส่งเสริมทางด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
          ในส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา บรูไน เวียดนาม ประเทศเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่เป็นตลาดเกิดใหม่ผู้ผลิตรถยนต์สามารถนำรถยนต์ที่ประกอบในประเทศไทยเข้าไปขายได้ประเทศที่คาดว่าจะมียอดขายรถยนต์เพิ่มคือ เวียดนาม[๑๗]
          สรุป
          อุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จ้างแรงงานเป็นจำนวนมากทั้งโดยตรงคือ โรงงานประกอบรถยนต์ และทางอ้อมคือ การจ้างบริษัทผลิตชิ้นส่วนแทน นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาต่อไปได้เช่น มาเลเซียที่ลงทุนในการสร้างบริษัทผลิตรถยนต์แห่งชาติ ประเทศไทยที่ลงทุนให้สิทธิทางภาษีแก้รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในส่วนของอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่กำลังสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศตนจากความได้เปรียบทางตลาดผู้ซื้อที่มีขนาดใหญ่กว่า
ถึงอย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกอาเซียนยังขาดนวัตกรรมที่จะก้าวข้ามจากการเป็นภูมิภาคที่รับผลิตเป็นภูมิภาคที่สามารถผลิตรถยนต์ได้เองความพยายามของมาเลเซียเป็นความพยายามที่น่ายกย่องแต่ด้วยทุนที่จำกัดทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้ ดังนั้นอาเซียนควรจะมีการร่วมมือในการสร้างบริษัทรถยนต์หรือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างจุดเด่นใหม่ ๆ มากกว่าการรับผลิต รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองเป็นเทคโนโลยีใหม่ซึ่งยังมีการแข่งขันในตลาดน้อยจึงควรใช้โอกาสเพื่อที่จะยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งภูมิภาค

 


[๑] http://www.kasikornbank.com/TH/SME/KSMEKnowledge/SMETips/Pages/Form-D-AEC.aspx เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๒] Production Networks, Trade And Investment Policies, And ASIAN Regional Cooperation : The Thai Automotive Industry Case, Samart Chiasakul

[๓] TECHAKANONT, Kriengkrai 2011 “ Thailand Automotive Parts Undustry” in intermediate Goods Trade in East Asia: Economic Deepening Through FTAs/EPAs, edited by Mitsuhiro Kagami, VRC Research Report No. 5, Bangkok Research Center, IDE-JETRO, Bangkok, Thailand.

[๔] http://www.posttoday.com/auto/news/446304 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๕] http://factsanddetails.com/southeast-asia/Malaysia/sub5_4e/entry-3698.html#chapter-0 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๖] https://en.wikipedia.org/wiki/PROTON_Holdings เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๗] http://corporate.proton.com/en/About/Brand/History.aspx เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๘] http://www.indonesia-investments.com/business/industries-sectors/automotive-industry/item6047 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๙] http://www.campiauto.org/auto-industry-starts-2016-with-27-6-percent-growth/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๐] http://news.mb.com.ph/2016/12/24/mmda-faces-greatest-challenge-managing-2-5-m-vehicles-in-mm/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๑] http://www.aseancap.org/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๒] https://www.weforum.org/agenda/2015/11/how-will-the-tpp-affect-the-auto-industry/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๓] http://www.wsj.com/articles/china-car-sales-rise-sharply-in-september-1476267256 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๔] http://seekingalpha.com/article/4032851-tesla-q4-delivery-items-watch เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๕] http://www.economist.com/news/business/21688386-amid-surge-demand-rechargeable-batteries-companies-are-scrambling-supplies เข้าถึงเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๖] http://www.posttoday.com/auto/news/469384 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๙

[๑๗] http://www.thanhniennews.com/business/small-cars-to-get-cheaper-in-vietnam-after-luxury-tax-cut-60984.html เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

© 2017 Office of the Council of State.