BANNER

ASEAN Law Association Legal Forum (ALA)


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      31 Oct 2016

  


ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ กลุ่มนักกฎหมายของประเทศสมาชิกก่อตั้งอาเซียนซึ่งประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้จัดการประชุมนักวิชาชีพกฎหมายในหัวข้อ “การพัฒนากฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน (Legal Development in ASEAN Countries)” ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวที่ประชุมได้มีมติเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการก่อตั้ง ASEAN Law Association Legal Forum ขึ้นเพื่อเป็นเวทีหารือ
และเสริมสร้างเครือข่ายวิชาชีพกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และต่อมาในปี
พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้มีการจัดประชุม ASEAN Law Association Legal Forum เป็นครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์และในการประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นชอบ “ธรรมนูญ ALA” ซึ่งธรรมนูญได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของ
ความร่วมมือ ๔ ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย
๑.    เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้นในหมู่นักวิชาชีพกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน

๒.    เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค

§   ในการศึกษาและวิจัยกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อแสวงหาแนวทางในการกำหนดให้กฎหมายของประเทศสมาชิกมีความเป็นเอกภาพโดยคำนึงถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน

§   เพื่อการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ และร่วมมือกันจัดทำโครงการร่วมกันระหว่างนักกฎหมายจาก สมาชิกของ ALA มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยกฎหมาย และองค์กรอื่น ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน

§  เพื่อการให้การสนับสนุน แลกเปลี่ยน และจัดระเบียบข้อมูลกฎหมาย ระบบกฎหมาย รวมถึงกระบวนการพัฒนากฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน

§  เพื่อการนำเสนอผลงานต่าง ๆ จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นใน วารสาร จดหมายข่าว แถลงการณ์ รวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมสัมมนา และเวทีหารือ

๓. เพื่อจัดทำแนวความร่วมมือในอาเซียนในด้าน การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง(Conflict avoidance) การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และคำวินิจฉัยในปัญหากฎหมายของสัญญาระหว่างประเทศที่มีขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียน

๔. เพื่อร่วมมือในระดับนานาชาติ ภูมิภาค ระดับชาติ และกับองค์การในระดับต่าง ๆ

โครงสร้างของ ALA ประกอบด้วย[๑]
o   Standing Committees มีหน้าที่จัดทำคำแนะนำเสนอต่อ Governing Council
ในด้านที่แต่ละประเทศรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย กฎหมายระหว่างประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของบรูไน นักวิชาชีพกฎหมายอยู่ในความรับผิดชอบของประเทศฟิลิปปินส์ กฎหมายธุรกิจอยู่ในความรับผิดชอบของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ กฎหมายการศึกษาอยู่ในความรับผิดชอบของอินโดนีเซีย กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลอยู่ในความรับผิดชอบของสิงคโปร์ และกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกอยู่ในความรับผิดชอบของประเทศเวียดนาม

o   General Assembly คือ ที่ประชุมของสมาชิกของ ALA ซึ่ง General Assembly จะมีการประชุมทุก ๓ ปี อำนาจหน้าที่ของ General Assembly ประกอบด้วยอำนาจ
ในการกำหนดนโยบาย ให้การยอมรับรายงานต่าง ๆ ของ Governing Councilกำหนดสถานที่ประชุมในครั้งต่อไป

o   Governing Council คือ สมาชิกจำนวน ๕ คน ที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่ง ๕ คนนั้นต้องประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กร อัยการ
ผู้พิพากษา ทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของ Governing Council มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ ให้การอนุมัติงบประมาณ ปรับเปลี่ยนข้อบังคับ กำหนดหัวข้อของแต่ละการประชุม แต่งตั้งเจ้าหน้าที่

o   Secretariat (สำนักเลขาธิการ) คือ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำ สำนักงานอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ผลงานสำคัญของ ALA
          จัดทำเอกสารทางวิชาการในเรื่องระบบกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน ๗ ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม[๒]

          จัดตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียน[๓][๔]และเผยแพร่สู่สาธารณะ

เว็บไซต์ของ ALA
          http://www.aseanlawassociation.org/

 
[๑] Constitution of the ASEAN Law Association Article IV, V, VI
[๒] http://www.aseanlawassociation.org/legal.html เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
[๓] http://www.aseanlawassociation.org/tig.html เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
[๔] http://www.aseanlawassociation.org/tigmaterials.html เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙

© 2017 Office of the Council of State.