รัฐ Montana เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า
ข่าวต่างประเทศ
30 Apr 2023
เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ มีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรของรัฐ Montana ของสหรัฐอเมริกาเห็นชอบร่างกฎหมาย ห้ามใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งรัฐ Montana เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ในอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัว โดยผ่านมติการลงคะแนน ๕๔ ต่อ ๔๓ เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบด้านความมั่นคงของรัฐจากการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว
ร่างกฎหมายฉบับใหม่ พุ่งเป้าไปที่บริษัทผู้ให้บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป็นหลัก โดยกำหนดให้บริษัท Apple และ Google ต้องนำแอปพลิเคชัน TikTok ออกจากช่องทางการดาวน์โหลด หากฝ่าฝืนจะถูกปรับวันละ ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๓๔๐,๐๐๐ บาท แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้ห้ามผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปแล้ว
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ หากผู้ว่าการรัฐลงนามรับรอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เคยมีการสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐมิให้ใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ในอุปกรณ์สื่อสารของรัฐ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการที่บริษัท ByteDance บริษัทสัญชาติจีน ในฐานะเจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok ถูกกล่าวหาว่าได้เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลจีน แต่บริษัทดังกล่าวยืนยันว่าดำเนินธุรกิจไม่ต่างจากบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ และไม่มีนโยบายที่จะถ่ายโอนข้อมูลตามคำสั่งของฝ่ายใดก็ตาม
ประเด็นความมั่นคงและการเจาะข้อมูลลับจากจีน กลายเป็นประเด็นอ่อนไหว เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลของประชาชนจะรั่วไหล และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ อย่างไรก็ตาม การห้ามใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ไม่ได้เพิ่งถูกสั่งห้ามในสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก เพราะหลายประเทศมีการสั่งห้ามหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน TikTok มาตั้งแต่ ๒-๓ ปีก่อนแล้ว เช่น ในอินเดีย ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโฆษกของบริษัท ByteDance ออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ในรัฐ Montana ซึ่งถูกคุกคามสิทธิจากการทำหน้าที่อันเกินขอบเขตของรัฐบาลอย่างถึงที่สุด
ข่าวประจำวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/world-us-canada-65281881
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย