BANNER

สงครามทางการค้า : กรณีศึกษาสหรัฐอเมริกา-สหภาพยุโรป (Chicken Tax)


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      31 Jan 2017

  


บทนำ
          การค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนที่พึงพาการส่งออกเป็นสำคัญ การค้าระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานกลไกสำคัญของการค้าระหว่างประเทศภาษีอากรขาเข้า (Tariff) ภาษีอากรขาเข้านั้นเชื่อมโยงกับรัฐถิ่นกำเนิดสินค้าและข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งจะให้สิทธิยกเว้นการเก็บภาษีอากรขาเข้าแก่ประเทศที่มีความตกลงกันหรืออาจจะเป็นการรวมตัวเป็นเขตการค้าเสรีอย่างเช่น สหภาพยุโรป เขตการค้าเสรีอาเซียน ด้วยเหตุนี้ หากประเทศใดต้องการที่จะกดดันประเทศอื่น ๆ สามารถขึ้นการตอบโต้ทางการค้าคืออาวุธสำคัญในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้จากการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Donald Trump ที่ชูนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้สงครามทางการค้ามีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ดังนั้น เราควรจะต้องศึกษาบทเรียนจากสงครามทางการค้าที่ผ่านเพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในบทความนี้จะกล่าวถึงกรณีศึกษาสงครามการค้าระหว่างอเมริกา-สหภาพยุโรป หรือที่รู้จักกันว่า Chicken Tax
ประวัติศาสตร์
          เนื้อไก่เปรียบเสมือนอาหารสำหรับผู้มีฐานะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ในประเทศสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มไก่ในปริมาณจำนวนมากจึงทำให้ลดต้นทุนลงและส่งออกได้ในราคาถูก ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ตลาดเนื้อไก่ในสหภาพยุโรปเต็มไปด้วยเนื้อไก่ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีราคาถูก เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับ
ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ในสหภาพยุโรปรวมถึงรัฐบาลประเทศ เยอรมันตะวันออก และฝรั่งเศส ทำให้ในปี
 ค.ศ. ๑๙๖๒ สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้นโยบาย Common Agricultural Policy ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตรอีกทั้งเก็บภาษีอากรขาเข้ากับสินค้าการเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้เนื้อไก่ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาต้องถูกเก็บภาษีอากรขาเข้าทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสูงขึ้นจนสุดท้ายเนื้อไก่จากสหรัฐอเมริกาเสียส่วนแบ่งการตลาดไปในที่สุด
          ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวหาสหภาพยุโรปว่ามีนโยบายกีดกันการค้าและได้ตอบโต้ตามสิทธิที่มีใน (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT)[1] ด้วยการเก็บภาษีอากรขาเข้าในสินค้าต่าง ๆ ประกอบด้วย มันฝรั่ง เดกซ์ทริน บรั่นดี และรถกระบะ[2] ตามสัดส่วนที่สหรัฐอเมริกาต้องเสียหายจากการที่สหภาพยุโรปเก็บภาษีอากรขาเข้าเนื้อไก่ ต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยกการเก็บภาษีอากรขาเข้าใน มันฝรั่ง เดกซ์ทิน บรั่นดี แต่ยังคงการเก็บภาษีอากรขาเข้าในรถกระบะไว้ ซึ่งภาษีรถกระบะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์และการค้าระหว่างประเทศ

 
          ข้อดีและข้อเสียของภาษีไก่[3]
                     รถยนต์คือสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ ๒ รองจากน้ำมันดิบ[4] การเก็บภาษีอากรขาเข้าร้อยละ ๒๕ ของรถกระบะของสหรัฐอเมริกามีทั้งมีทั้งผลดีและผลเสียต่อตลาดและการค้าระหว่างประเทศ
                     ข้อดี
·   ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อรถกระบะทำให้ในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถใช้ภาษีกระบะเป็นข้อต่อรองให้ประเทศอื่นยอมลดภาษีอากรขาเข้ารายการอื่น ๆ ที่ต้องการได้ แต่ในระยะยาวด้วยความที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดขนาดใหญ่ บริษัทผลิตรถยนต์ต่างประเทศย่อมอยากที่จะเข้าไปจำหน่าย
รถกระบะและสุดท้ายแล้วเมื่อบริษัทใหญ่ทุกบริษัทเข้าไปเปิดโรงงาน ภาษีดังกล่าวก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป
·   ภาษีรถกระบะทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาหรือต่างประเทศยังคงฐานการผลิตรถกระบะไว้สร้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา
·      ภาษีรถกระบะกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบรถให้แปลกขึ้น เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบบริเวณกระบะให้สามารถเป็นได้ทั้งที่บรรทุกและที่โดยสาร[5]
ข้อเสีย
·      ภาษีรถกระบะกระตุ้นให้เกิดการเลี่ยงภาษีโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอัตราจัดเก็บนั้นสูงถึงร้อยละ ๒๕ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลีกเลี่ยงโดยการแยกชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือออกแบบรถยนต์ให้สามารถสลับชิ้นส่วนระหว่างที่นั่งและที่บรรทุกเมื่อนำเข้ามาในประเทศก็จะถอดที่นั่งออก
·   ภาษีรถกระบะกีดกันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการทดลองขายในตลาดสหรัฐอเมริกาเนื่องจากการที่จะนำเข้ารถยนต์ทั้งคันเพื่อทดลองขายมีต้นทุนสูงไม่สามารถแข่งขันได้ และการลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกาก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จทำให้ภาษีดังกล่าวกีดกันผู้ผลิตรถยนต์รายเล็ก

ผลกระทบของอาเซียน
          อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัทลงทุนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย การที่สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีอากรขาเข้ารถกระบะส่งผลต่อประเทศไทยไม่สามารถเป็นฐานการผลิตรถกระบะได้อย่างเต็มที่ ซึ่งประเทศไทยเคยยกเป็นข้อต่อรองในการเจรจาการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วแต่ไม่เป็นผล[6]
 
บทเรียน
          ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งมีส่วนประกอบจากหลายประเทศหากสหรัฐอเมริกาเริ่มสงครามการค้ากับประเทศจีนอาเซียนย่อมได้รับผลกระทบด้วยหากสินค้าที่ถูกกีดกันนั้นเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากหลายประเทศ ประเทศที่พึงพาการส่งออกอย่างประเทศไทยจึงควรเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หาตลาดใหม่ พัฒนาสินค้าขึ้นเอง และใช้ผู้รับจ้างผลิตส่วนประกอบจากท้องถิ่นนั้น ๆ
 
[1]Robert E. Baldwin, Carl B. Hamilton, André Sapir. US-EC GATT Litigation, 26-28
[2] http://www.presidency.ucsb.edu/ws/index.php?pid=75178
[3] Dan Ikenson (2003). The Case for Abolishing the 25 Percent Truck Tariff. Cato Institute
[4] http://www.worldstopexports.com/worlds-top-exports-products-countries/
[5] https://www.wired.com/2014/12/subaru-brat/
[6] http://mhlnews.com/global-supply-chain/preview-president-trumps-impact-supply-chain?page=2

© 2017 Office of the Council of State.