BANNER

กระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่นเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มอายุความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์จาก ๑๓ ปี เป็น ๑๖ ปีเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน


 ข่าวต่างประเทศ      25 Mar 2023

  


             เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลให้ผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนพ้นจากการกระทำความผิดหลายครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ด้วยความกังวลในเรื่องอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้เยาว์ คณะกรรมาธิการของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นจึงเสนอให้เพิ่มอายุความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์ตามกฎหมายจาก ๑๓ ปีเป็น ๑๖ ปี
กฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศของญี่ปุ่น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศเป็นอาชญากรรม และขยายความคำจัดความของการข่มขืนโดยได้เพิ่มปัจจัยอื่น ๆ เข้าไป เช่น การมอมเหล้า การมอมยา การถูกฉวยโอกาส และการใช้จิตวิทยาควบคุม
             ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กำหนดอายุให้ความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์ไว้ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและต่ำที่สุดในกลุ่ม G7 โดยประเทศเยอรมนีและอิตาลีกำหนดอายุให้ความยินยอมการมีเพศสัมพันธ์ไว้ที่ ๑๔ ปี กรีซและฝรั่งเศสกำหนดไว้ที่ ๑๕ ปี และสหราชอาณาจักรและหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ที่ ๑๖ ปี
             กฎหมายของญี่ปุ่นในปัจจุบัน หากจะเอาผิดผู้ต้องหาที่ก่ออาชญากรรมทางเพศได้ เหยื่อข่มขืนจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “มีการใช้ความรุนแรงและข่มขู่ระหว่างการข่มขืน” และ “ไม่สามารถขัดขืนได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดในกฎหมาย เนื่องจากนักวิจารณ์โต้แย้งว่า ข้อกำหนดนี้เป็นการกล่าวโทษเหยื่อว่าขัดขืนไม่เพียงพอและผู้รอดชีวิตอาจกลัวจนพูดไม่ออกหรือขยับไม่ได้ระหว่างถูกทำร้ายหรือยอมจำนน เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม ส่วนด้านคณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมยังไม่มีการออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว
             นาย Yusuke Asanuma เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีผลต่อความยากง่ายในการชนะคดีของผู้เสียหาย แต่น่าจะทำให้คำตัดสินของศาลเป็นไปในทางเดียวกันมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะผ่านร่างแก้ไขกฎหมายนี้อย่างเร็วที่สุดภายในเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖


ข่าวประจำวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/world-asia-64703519
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/191050
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

© 2017 Office of the Council of State.