BANNER

ศาลญี่ปุ่นมีคำสั่งให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการบังคับให้บุคคลทำหมันตามกฎหมายคุ้มครองสุพันธุศาสตร์ ค.ศ. ๑๙๔๘ ที่ไม่มีผลใช้บังคับแล้วในปัจจุบัน


 ข่าวต่างประเทศ      03 Apr 2023

  


คำว่า Eugenics แปลเป็นภาษาไทยว่า “สุพันธุศาสตร์” หมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการจัดการชาติพันธ์ุ พันธุกรรมให้ดี ให้สมบูรณ์ และการที่จะได้มาซึ่งชาติพันธ์ุที่ดี สมบูรณ์ และบริสุทธิ์ตามนิยาม ก็จะต้องบริหาร
ให้คนที่มียีน DNA ที่มีคุณสมบัติดีนั้นเจริญพันธ์ุ และทำให้คนที่มียีนด้อย หรือ DNA ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปราศจากคุณสมบัตินั้นไม่สามารถที่จะเจริญพันธ์ุได้อีกต่อไป  จากแนวคิดนี้ สะท้อนหลักคิดเบื้องหลังชัดเจนว่า มนุษย์แต่ละเผ่าพันธ์ุไม่เท่ากัน  ดังนั้น เมื่อธรรมชาติจัดการไม่ได้ “สุพันธุศาสตร์” และกลไกของรัฐก็จะเข้ามาจัดการ


ในจังหวัดชิซูโอกะ ศาลญี่ปุ่นได้มีคำสั่งให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้หญิงซึ่งถูกบังคับทำหมัน ภายใต้กฎหมายกฎหมายคุ้มครองสุพันธุศาสตร์ (Eugenic Protection Law :EPL)  ค.ศ. ๑๙๔๘ ที่ได้ถูกยกเลิกแล้ว
ศาลแขวงชิซูโอกะ (Shizuoka District Court) พบว่ากฎหมาย EPL ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินให้โจทก์จำนวน ๑๖.๕ ล้านเยนแก่โจทก์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชิซูโอกะ ซึ่งได้เริ่มฟ้องคดีในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ โดยได้อ้างว่าเธอได้ถูกบังคับให้ผ่าตัดทำหมัน ในปี ค.ศ. ๑๙๗๐

คดีดังกล่าวนับเป็นคดีที่ ๔ ซึ่งมีการชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลที่ถูกบังคับผ่าตัดทำหมัน ซึ่งคดีก่อนหน้า ๓ คดี ได้มีคำพิพากษาของศาลสูงโตเกียว, โอซาก้า (Tokyo and Osaka high courts) และศาลแขวงคุมาโมโต้ (Kumamoto District Court)

นายโยชิโนริ มาสุดะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ กล่าวว่า การบังคับบุคคลทำหมันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงที่ตัดสินใจว่าจะให้กำเนิดบุตร โดยเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองสิทธิที่จะแสวงหาความสุข

การบังคับผ่าตัดทำหมันโดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น มาจากแนวคิดเลือกปฏิบัติที่ว่าควรป้องกันไม่ให้มีการกำเนิดลูกหลานที่พิการเพราะส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจและร่างกายอย่างมาก ทางศาลญี่ปุ่นตัดสินว่ารัฐบาลมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้หญิงที่ถูกบังคับทำหมัน และอายุความ 20 ปี สำหรับ
การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการบังคับให้บุคคลทำหมันภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งไม่มีผลใช้บังคับ


มีการฟ้องร้องในคดีลักษณะเดียวกันนี้ถึง ๑๐ ศาลทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่ในศาลแขวงต่าง ๆ (District Court)ส่วนใหญ่ได้ยกฟ้องการเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามอายุความในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๔๘ ถึง ๑๙๙๖

กฎหมายคุ้มครองสุพันธุศาสตร์ ได้มีผลใช้บังคับกับการทำหมันให้แก่ประชาชนผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีอาการป่วยทางจิต หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม แม้ว่าจะไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลเหล่านั้นก็ตาม  จากข้อมูลทางสถิติของรัฐบาล มีประชาชนกว่า ๒๕,๐๐๐ คนได้รับการทำหมัน ทนายความโจทก์ กล่าวว่า การบังคับทำหมันดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น



ข่าวประจำวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
เรียบเรียงจาก https://thestandard.co/podcast/8-minutes-history-ep116/

https://www.japantimes.co.jp/news/2023/02/24/national/crime-legal/japan-forced-sterilization-court-order/?fbclid=IwAR1wLeuD9YEiOyJbop8HyHJAwvhJ3ZJEgpYUFm5n3bQfJm31gDHdovp81Ik

*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

 

© 2017 Office of the Council of State.