BANNER

นโยบายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของกลุ่มประเทศสมาชิก APEC


 ข่าวต่างประเทศ      10 Jan 2023

  


          ผลกระทบร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและเศรษฐกิจได้กระตุ้นให้กลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคมุ่งมั่นที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนด้วย
          ปัจจุบัน คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก Rhea C. Hernando นักวิจัยอาวุโสจาก APEC Policy Support Unit กล่าวว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิภาคเอเปคจะสามารถดึง GDP กลับมาได้ถึงร้อยละ ๑๘.๓ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย กล่าวคืออุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยจากโรคในระบบทางเดินและการที่ฝนตกบ่อยขึ้นก็อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียและไข้เลือดออก
มีการประเมินว่าภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสูงถึงประมาณ ๒ ถึง ๔ พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ของภูมิภาคเอเปคคิดเป็นร้อยละ ๖๐ โดยประมาณของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปี พ.ศ. ๒๕๖๒
          เนื่องจากความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นที่น่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้คนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง คนยากจน ผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ และชนพื้นเมืองทั่วทั้งภูมิภาค สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไม่ควรทำให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อผู้ถือหุ้นในภาคธุรกิจ ดังนั้น แนวทางสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมคือการสร้าง “งานที่มีคุณค่า” เพื่อสนับสนุนผู้คนที่การดำรงชีวิตของพวกเขาต้องพึ่งพาภาคส่วนธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนและลดผลกระทบด้านลบต่อกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งนโยบายการจ้างงาน การเจรจา การปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมและการลงทุนควรดำเนินการควบคู่กันไป
          สรุปนโยบายที่ประเทศสมาชิกเอเปคจะนำมาใช้ในการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มี ๗ ข้อ ดังนี้
(๑) ส่งเสริมการลดปริมาณคาร์บอนอย่างจริงจัง
(๒) หลีกเลี่ยงการสร้างแหล่งคาร์บอนแห่งใหม่
(๓) เพิ่มโอกาสในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
(๔) ให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง
(๕) การแก้ไขเยียวยาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
(๖) ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
(๗) สร้างความมั่นใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงว่ามีความโปร่งใสและครอบคลุมผ่านการเจรจากับภาคประชาสังคม
          นโยบายสนับสนุนตลาดแรงงานมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าชุมชนและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะเติบโตได้ดีในระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งหมายถึงการสร้างสมดุลระหว่างการให้การสนับสนุนทางการเงิน การคุ้มครองสำหรับการถูกเลิกจ้างหรือการพลัดถิ่นของผู้ใช้แรงงานและการขยายโอกาสทางการศึกษา การเพิ่มทักษะและการฝึกอบรม
          ตามบทสรุปของนโยบายดังกล่าว นโยบายการค้าและการลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมสีเขียว นวัตกรรมและงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ประสบความสำเร็จคือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปเหล่านี้จำเป็นต้องมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อวิสาหกิจที่ยั่งยืน
          นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้รวดเร็วมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ข่าวประจำวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.apec.org/press/news-releases/2022/greener-economic-transition-should-promote-equity-and-inclusivity-study
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

© 2017 Office of the Council of State.