BANNER

อินโดนีเซียประกาศใช้ระเบียบกำกับดูเทคโนโลยีการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน


 ข่าวต่างประเทศ      17 Jan 2017

  


หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของอินโดนีเซีย (Indonesian Financial Services Authority : OJK ) ประกาศใช้ระเบียบลำดับที่ ๗๗/๒๐๑๖ (POJK No. 77/2016) ว่าด้วยการกำกับธุรกิจเทคโนโลยีการเงินโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินกู้จากบุคคลสู่บุคคล (Peer to Peer lending)

โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเงินต้องมีทุนทรัพย์จดทะเบียนตั้งบริษัท ๑ พันล้านรูปี หรือประมาณ ๒,๘๒๐,๐๐๐ บาท[1] และถ้าหากจะขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการด้านการเงินต้องมีทุนทรัพย์
 ๒.๕ พันล้านรูปี หรือประมาณ ๗,๐๕๐,๐๐๐ บาท1

ในด้านของการกำกับดูแลดอกเบี้ยเงินกู้กฎระเบียบใหม่ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย  แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเงินสามารถให้คำแนะนำด้านดอกเบี้ยแก่ นักลงทุนและลูกค้าได้โดยคำนึงถึงความยุติธรรมและสภาพเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการ OJK กล่าวในงานแถลงข่าวว่าระเบียบใหม่เป็นก้าวแรกของการกำกับดูแลตลาดให้บริการเงินกู้ส่วนบุคคลโดยเทคโนโลยีและหน่วยงานต้องการให้ธุรกิจค่อย ๆ เจริญเติบโต การออกกฎระเบียบฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีการเงินตามแนวทางที่โปร่งใส

ทางด้านของผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน นาย Aria Widyanto รองประธานบริษัท Amartha Mikro Fintek ให้สัมภาษณ์ว่าระเบียบใหม่ซึ่งกำหนดให้บริษัทให้บริการเทคโนโลยีด้านการเงินต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมธุรกิจการเงินอินโดนีเซียจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของประเทศอินโดนีเซีย OJK ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการเกิดใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีด้านการเงินในปี ๒๕๕๙ ซึ่งมีจำนวนถึง ๑๒๐ รายและส่วนใหญ่เป็น Startup ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นจากผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเงินจะมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ ๑๘ ต่อปีและภายในปี ๒๕๖๓ จะมีมูลค่าถึง ๑๔.๕ ล้านล้านเหรียญจากการคาดการณ์ของเว็บไซต์ www.statista.com

เทคโนโลยีด้านการเงินในประเทศไทย
ปัจจุบันความพยายามของการนำเทคโนโลยีด้านการเงินมาใช้ในประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การจัดทำ Prompt pay ของธนาคารแห่งประเทศไทย และในทางด้านของการระดมทุนสาธารณะ หรือ Crowd Funding สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอเป็นผู้ระดมทุนแล้วประเทศไทยกำหนดบริษัทที่สามารถประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเงินต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาท[2] แต่ยังไม่ได้ความนิยมจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้ลงทุนมากนัก

แหล่งข่าวจาก http://www.thejakartapost.com/news/2017/01/04/financial-authority-issues-regulation-on-fintech-lending.html

 
[1] อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๐ ธนาคารแห่งประเทศไทย
[2] http://www.sec.or.th/TH/RaisingFunds/CFD/Pages/principle.aspx

© 2016 Office of the Council of State.