BANNER

ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) ประกาศยุติการใช้พลังงานถ่านหิน


 ข่าวต่างประเทศ      04 Nov 2021

  


          ประเด็นเกี่ยวกับถ่านหินได้รับการกล่าวถึงในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (26th UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) โดยประเทศที่เข้าร่วมการประชุม ธนาคาร และองค์กรต่าง ๆ มุ่งมั่นที่จะถอนการเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของการใช้ถ่านหิน
          การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดและยุติการใช้ถ่านหินเป็นหัวใจสำคัญของการประชุม COP26 และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อลดอุณหภูมิโลก โดยมีการแสดงเจตนารมณ์ในวันพลังงานโลก ณ เมือง กลาสโลว์ ประเทศสก็อตแลนด์ เพื่อเป็นสัญญาณที่จะแสดงให้เห็นว่าโลกกำลังจะก้าวเข้าสู่การยุคแห่งการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งรัฐภาคี ๒๓ ประเทศ รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อียิปต์ สเปน เนปาล สิงคโปร์ ชิลี และยูเครนได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อยุติการใช้พลังงานถ่านหินภายใต้แถลงการณ์เปลี่ยนพลังงานถ่านหินสู่พลังงานสะอาด (Global Coal to Clean Power Transition Statement) โดยมีความมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นและยกเลิกการใช้ถ่านหิน
          การแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นไปตามความมุ่งมั่นที่จะยกเลิกการสนับสนุนทางการเงินสำหรับพลังงานถ่านหิน โดยประเทศพัฒนาแล้วได้ประกาศช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด
          ด้านธนาคารและสถาบันการเงินระหว่างประเทศรายใหญ่ เช่น ธนาคาร HSBC กองทุนระหว่างประเทศ Fidelity และ Ethos ประกาศยุติการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการใช้พลังงานถ่านหินที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ได้ประกาศยกเลิกการสนับสนุนเงินทุนแก่ต่างประเทศสำหรับพลังงานถ่านหินไปก่อนหน้านี้
          นอกจากนี้ ๒๕ ประเทศ รวมถึงประเทศอิตาลี แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์กร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐได้ลงนามในแถลงการณ์ยุติการสนับสนุนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีการควบคุมภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนเงินสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ๑๗.๘ พันล้านดอลลาร์ต่อปีสู่การใช้เพื่อพลังงานสะอาด ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศเอธิโอเปีย ฟิจิ และหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้ประกาศสนับสนุนการยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นความพยายามที่แสดงถึงความสามัคคีที่เพิ่มขึ้นในระดับสากล
          ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระการประชุมที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นวาระที่มีการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในการประชุม COP ทั้งยังได้กำหนดวันสิ้นสุดการสนับสนุนทางการเงินสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลร่วมกันอย่างชัดเจน และได้กำหนดมาตรฐานทองคำใหม่ของความตกลงปารีส (Paris Alignment) เกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศและกำหนดให้ภาคเอกชนปฏิบัติตาม
          นอกจากนี้ ความก้าวหน้าสำคัญที่เกิดขึ้นในการประชุมคือการลงนามเข้าร่วมพันธมิตรลดการใช้ถ่านหิน (The Powering Past Coal Alliance) ของ ๒๘ ประเทศ รวมถึงประเทศชิลีและสิงคโปร์ โดยมีประเทศสหราชอาณาจักรและแคนาดาเป็นประธาน และมีประเทศพันธมิตรมากกว่า ๑๖๐ ประเทศ ซึ่งเป็นพันธมิตรระดับอนุภูมิภาคและภาคธุรกิจ รวมถึงการประกาศความร่วมมือยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินด้วยการยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ของประเทศภาคี ๒๐ ประเทศ รวมถึงเวียดนาม โมรอคโคและโปแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศของประเทศปากีสถาน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และสร้างความร่วมมือ No New Coal Power Compact เพื่อผลักดันการเลิกใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๒๑ โดยประเทศศรีลังกา ชิลี มอนเตเนโกร และประเทศในภูมิภาคยุโรป ซึ่งในช่วงหกปีนับตั้งแต่มีการบังคับใช้ความตกลงปารีส จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ทั่วโลกลดลง ร้อยละ ๗๖ ซึ่งเท่ากับมีการยกเลิกการผลิตมากกว่า ๑,๐๐๐ กิกะวัตต์
          ด้านประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายใหญ่ในปัจจุบันได้ดำเนินการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานถ่านหินสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้ได้ประกาศความร่วมมือกับกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Investment Funds) เพื่อยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน โดยได้รับการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก ๒ พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) เพื่อยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนกำหนด ประเทศแอฟริกาใต้และสนับสนุนใช้พลังงานสะอาด โดยได้ประกาศในการประชุมผู้นำระดับโลกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๒๑
          Alok Sharma ประธานการประชุม COP26 กล่าวว่า การเป็นประธานการประชุมของสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการประชุม COP26 จะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการยุติการใช้ถ่านหิน การยืนยันเจตนารมณ์ของพันธมิตรทั้ง ๑๙๐ ประเทศในการถอนการสนับสนุนพลังงานถ่านหินและยุติการสร้างโรงงานถ่านหินแห่งใหม่ รวมถึงการลงนามแถลงการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันอย่างแท้จริง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างการเข้าถึงไฟฟ้าให้กับผู้คนกว่าสามในสี่ของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ในขณะนี้ และสามารถสร้างพลังงานสะอาดที่จำเป็นสำหรับอนาคตได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์
          Gonzalo Muñoz และ Nigel Topping ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสภาพภูมิอากาศระดับสูง กล่าวเกี่ยวกับความพยายามในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยกล่าวว่าการดำเนินการตามความร่วมมือ Green Hydrogen Catapult และสมาชิกของความร่วมมือแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับโลก และความสนใจของผู้บริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
          นอกจากนี้ สมาชิกภายใต้ความร่วมมือ Race to Zero ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า ๗๕๐ กิกะวัตต์ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ แต่จะเติบโตได้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทด้านพลังงานในการเข้าร่วมโครงการแข่งขันลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (Race to Zero) และมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นต่อไป ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของภาคพลังงาน
          ภายใต้การประชุม COP26 ได้มีการประกาศความร่วมมือและการสนับสนุนด้านพลังงานในประเด็นเพิ่มเติมดังนี้ 
  • ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสภาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition Council) และพันธมิตรด้านพลังงานระดับโลกเพื่อประชาชนและโลก (Global Energy Alliance for People and Planet: GEAPP) โดย GEAPP ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๐๒๑ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์จากองค์กรการกุศลและธนาคารเพื่อการพัฒนา
    เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนสะอาดให้แก่ประชาชน ๑ พันล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา
    และประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงการสร้างอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ๑๕๐ ล้านตำแหน่งภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐
  • ประเทศภาคี ๑๔ ประเทศ รวมถึงอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไนจีเรียได้ลงนามความร่วมมือระดับสากลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า การทำความเย็น มอเตอร์ และเครื่องทำความเย็น
  • การเปิดตัวพันธมิตรไฮโดรเจนสีเขียวระหว่างแอฟริกาและลาตินอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้เป็นศูนย์


ข่าวประจำวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
แปลและเรียบเรียงจาก https://unfccc.int/news/end-of-coal-in-sight-at-cop26

© 2017 Office of the Council of State.