BANNER

การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ต่างคดี


 ข่าวต่างประเทศ      16 Aug 2021

  


      การใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นทนายความในการแก้ต่างในคดีผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถประมวลผลได้เองถูกนำมาใช้ในวงการกฎหมายมากยิ่งขึ้น
          นาย Joshua Browder อธิบายเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน DoNotPay ที่ได้พัฒนาขึ้นว่าเป็นหุ่นยนต์ทนายความแรกของโลก ซึ่งการทำงานของแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถช่วยร่างเอกสารทางกฎหมายโดยที่ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับระบบได้ เช่น การยื่นคำร้องอุทธรณ์เกี่ยวกับค่าปรับการจอดรถ โดยระบบจะแนะนำภาษากฎหมายที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งาน  นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถกรอกข้อโต้แย้งของตนและระบบจะจับคู่ให้เข้ากับแนวทางกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวได้รับความนิยมทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา โดยมีสมาชิกราว ๑๕๐,๐๐๐ คน และได้รับรางวัลจากเนติบัณฑิตยสภาสหรัฐอเมริกาด้านการเข้าถึงกฎหมายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยระบบการทำงานของแอปพลิเคชันสามารถช่วยผู้ใช้งานในการร่างเอกสารทางกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว การร้องเรียนหน่วยงานของรัฐและเอกชน การขอคืนเงิน เป็นต้น ขณะที่มีบางส่วนเห็นว่าการทำงานของระบบยังไม่สามารถให้คำแนะนำทางกฎหมายได้สมบูรณ์
          อย่างไรก็ตาม แม้การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลอาจส่งผลกระทบต่อวิชาชีพทนายความแต่มีบางส่วนที่เห็นด้วยกับการใช้ระบบดังกล่าว เพราะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นและจัดเรียงเอกสารเกี่ยวกับคดีจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของ Sally Hobson หนึ่งในทนายความประจำสำนักงานกฎหมาย The 36 Group กรุงลอนดอน ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีอาญาใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์พิจารณาคดีฆาตกรรม ซึ่งเป็นคดีที่ต้องวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ฉบับ โดยที่ระบบสามารถทำงานได้รวดเร็วภายใน ๔ สัปดาห์ และประหยัดค่าใช้จ่ายในกระบวนการดังกล่าวได้ ๕๐,๐๐๐ ปอนด์
          ด้าน Eleanor Weaver ผู้บริหารบริษัท Luminance ผู้พัฒนาระบบชี้ให้เห็นว่า ทนายความที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วยจะก่อให้เกิดแนวทางใหม่  อย่างไรตาม บริษัทที่ปรึกษากฎหมายมากกว่า ๓๐๐ แห่งใน ๕๕ ประเทศมีการใช้งานระบบดังกล่าว โดยที่ระบบสามารถทำงานได้ถึง ๘๐ ภาษา แม้เดิมจะมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบเอกสารได้ด้วยการค้นหาคำสำคัญ เช่น การกดปุ่ม Ctrl และ F บนคอมพิวเตอร์แต่ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงคำและวลีที่เกี่ยวข้องกันได้  นอกจากนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือทนายความในการเรียบเรียงพยานเอกสาร แต่ยังสามารถช่วยเตรียมคดี การกำหนดรูปคดี และค้นหาเรื่องที่เกี่ยวข้องที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้อีกด้วย
          ด้าน Laurence Lieberman หัวหน้าส่วนโครงการข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัลประจำบริษัท Taylor Wessing ผู้ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ Litigate พัฒนาโดยบริษัทของประเทศอิสราเอลเปิดเผยว่า เมื่อป้อนข้อมูลคดีและคำคู่ความ ระบบสามารถค้นหาคู่ความที่เกี่ยวข้องและความเชื่อมโยงและรวบรวมลำดับเหตุการณ์สำคัญพร้อมคำอธิบายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ Bruce Braude หัวหน้าเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของบริษัท Deloitte อธิบายเกี่ยวกับระบบ TAX-I ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของศาลเกี่ยวกับคดีภาษี โดยระบบสามารถประเมินผลคำพิพากษาของศาลได้แม่นยำสูงถึงร้อยละ ๗๐ และประมวลความเป็นไปได้เกี่ยวกับคดี โดยผู้ใช้งานสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อวางแผนคดีต่อไปได้
          นอกจากนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์นักกฎหมาย ทนายความ และผู้พิพากษาโดยบางส่วนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนาย Richard Susskind ประธานกลุ่มที่ปรึกษาด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ประจำบริษัทของสหราชอาณาจักรแสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยชี้ว่าก่อนการแพร่ระบาดของของไวรัสโคโรนา ศาลในประเทศบราซิลมีคดีที่ค้างพิจารณามากกว่า ๑๐๐ ล้านคดี ซึ่งผู้พิพากษาและทนายความไม่อาจจัดการกับคดีจำนวนมากดังกล่าวได้  ดังนั้น หากระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถประเมินผลของคำพิพากษาศาลได้อย่างแม่นยำสูงราวร้อยละ ๙๕ อาจมีการเริ่มที่จะนำระบบประมวลผลดังกล่าวมาเป็นการพิจารณาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศที่มีปริมาณคดีค้างพิจารณาในศาลจำนวนมาก
           
         
ข่าวประจำวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔
เรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/business-58158820

© 2017 Office of the Council of State.