BANNER

สรุปการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ ๒๔ ที่กรุงลิมา ประเทศชิลี


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      30 Nov 2016

  


สรุปการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ ๒๔ ที่กรุงลิมา ประเทศชิลี

          การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC)  ครั้งที่ ๒๔ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ กรุงลิมา ประเทศชิลี ในการประชุมครั้งนี้มีหัวข้อสำคัญคือ การเติบโตอย่างมีคุณภาพและการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ และหัวข้ออื่น เช่น การรวมเศรษฐกิจภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวและการเติบโตอย่างยั่งยืนการเสริมสร้างตลาดอาหารในภูมิภาค การพัฒนาองค์กรธุรกิจบุคคลเดียว เล็ก กลาง ในประเทศสมาชิกให้ทันสมัย และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ แถลงการณ์ผู้นำฯ แบ่งออกเป็น ๕ หัวข้อด้วยกันประกอบด้วย[๑]

. การเติบโตอย่างมีคุณภาพและการพัฒนามนุษย์
          ประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
 การพัฒนาอย่างยั่งยืน นวัตกรรม และการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยที่แนวทางดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงแล้วในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ว่าด้วยการพัฒนานวัตกรรมและการปฏิรูปและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (APEC Accord on Innovative Development, Economic Reform and Growth) [๒][๓] นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นว่าประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาตามที่ได้ระบุไว้ใน APEC Education Strategy ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับสูงและการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ซึ่งเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพตั้งแต่วัยเยาว์

          นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เน้นถึงความสำคัญต่อความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชายในด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงโอกาสการศึกษา การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การเจริญก้าวหน้าทางอาชีพ สนับสนุนให้ตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทต่าง ๆ มีผู้หญิงมากขึ้น การสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ

          และการพัฒนามนุษย์โดยเน้นสุขภาพของประชาชนเป็นที่สำคัญ โดยที่ประชุมเห็นด้วยว่าทุกประเทศต้องมีการจัดประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน (Universal Health Coverage : UHC)

. ความท้าทายและโอกาสของการค้าการลงทุนในบริบทของโลกปัจจุบัน
          เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินปี ๒๕๕๑ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างช้าและไม่ทั่วถึงส่งผลให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไม่ไปถึงประชาชนมากนัก อีกทั้งโลกยังประสบกับการผันผวนของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าแต่ละประเทศจะไม่แทรกแซงค่าเงินและจะไม่ปกป้องค่าเงินประเทศตนเอง ในการดำเนินงานต่อไปทุกประเทศจะส่งเสริมการค้าและการลงทุน สนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

          ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการสนับสนุนวาระของ WTO ซึ่งในปี ๒๕๖๐ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีโดยที่ประชุมขอให้เจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิกเร่งการทำงานของตนเองและการทำงานกับประเทศสมาชิก WTO ประเทศอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ WTO นอกจากนี้  ที่ประชุมยังได้สนับสนุนให้สมาชิก APECเข้าร่วมเป็นสมาชิกในความตกลง WTO Environmental Goods Agreement (EGA)

          วาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์รวมถึงงานวิจัยที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุน Lima Declaration on Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP แถลงการณ์นี้ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานของ APEC ต่อไปในอนาคตซึ่งเป็นวาระหลักของ APEC ซึ่งทีประชุมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศดำเนินการตามงานวิจัย

. การเชื่อมโยงภูมิภาคอย่างแท้จริง
          ที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงภูมิภาคเนื่องจากเห็นว่าจะช่วยทำให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ การอยู่รวมกันอย่างสงบสุข ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ๒๕๖๘ ประเทศสมาชิก APEC จะเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวจะเป็นไปตามแผน APEC Connectivity Blueprint 2015 – 2025

. ความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการเข้าถึงแหล่งน้ำ
          ที่ประชุมเห็นว่าปัญหาความมั่นคงด้านอาหารเป็นปัญหาสำคัญและได้สนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการในด้าน เกษตรกรรม อาหาร ป่าไม้ ประมง และตลาดอาหาร อย่างยั่งยืน ปัญหาความมั่งคงด้านอาหารยังเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอีกด้วย ซึ่ง APECให้ความสำคัญที่จะลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นอกจากนี้  ที่ประชุมสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกแบ่งปันแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ดีระหว่างกัน

. แนวทางในอนาคต
          ที่ประชุมกำหนดเป้าหมายในอนาคตโดยเห็นพ้องกันว่าประเทศสมาชิกจะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึงทุกเพศทุกสถานะอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ที่ประชุมแนะนำให้ประเทศสมาชิกร่วมกันปราบปรามการคอรัปชันซึ่ง APEC ได้จัดทำความร่วมมือ APEC Anti-Corruption Authorities and Law Enforcement Agencies (ACT-NET) ขึ้นมาเพื่อเป็นแกนกลางในการประสานงาน นอกจากนี้  ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารการหารือในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่าง ๆ
 
สรุป
          การประชุม APEC ในครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่กระแสการเมืองระดับโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางดังจะเห็นได้จากผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่ต้องการจะแยกออกจากสหภาพยุโรป ร่วมถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ผู้นำที่สนับสนุนนโยบายกีดกันทางการค้าและจำกัดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี แถลงการณ์ผู้นำได้มีการเน้นย้ำถึงจุดยืนการเปิดเสรีทางการค้าและจะไม่ใช้นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกัน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  สหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมีการเปลี่ยนผู้นำในช่วงต้นปี ๒๕๖๐ ซึ่งผู้นำคนใหม่มีจุดยืนด้านการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป ความคืบหน้าสำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือที่ประชุมได้รับรองเอกสารกำหนดการดำเนินงานของ FTAAP ซึ่งเป็นเอกสารที่แนะนำประเทศสมาชิกถึงขึ้นตอนในการทำให้เป้าหมายของ FTAAP เป็นจริงซึ่ง FTAAP จะเป็นการผสานเอเชียและแปซฺิฟิคเข้าด้วยกันผ่านทางความตกลงเปิดเสรีทางการค้า ทางฝั่งเอเชียคือความตกลง RCEPT ทางฝั่งแปซิฟิคคือ TPP แต่การที่สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนผู้นำทำให้อนาคต TPP มีความไม่แน่นอน ซึ่งประเทศอินโดนีเซียได้แสดงความกังวลและได้เสนอให้ประเทศสมาชิก APEC เปิดเจรจาความตกลงเปิดเสรีทางการค้าดึงประเทศที่อยู่ใน TPP มาเจรจาร่วมกัน

 


[๑] http://www.apec.org/Meeting-Papers/Leaders-Declarations/2016/2016_aelm.aspx

[๒] ความสำคัญของข้อตกลงได้ก่อตั้งเสาความร่วมมือ ๕ เสา ประกอบด้วย เสาปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เสาเศรษฐกิจแบบใหม่ เสาการเติบโตของนวัตกรรม เสาการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ และ การพัฒนาเมือง

[๓] http://www.apec.org/Meeting-Papers/Leaders-Declarations/2014/2014_aelm/2014_aelm_annexc.aspx

© 2017 Office of the Council of State.