BANNER

ประเทศแคนาดาเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อกำหนดนิยามและปราบปรามการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังทางออนไลน์ (online hate speech)


 ข่าวต่างประเทศ      30 Jun 2021

  


 ประเทศแคนาดาเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่กำหนดนิยามการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือการใส่ร้ายบุคคลหรือกลุ่มบุคคล (hate speech) โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนาย Trudeau ได้เสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังทางออนไลน์ และเพิ่มช่องทางการร้องทุกข์สำหรับผู้เสียหาย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับใหม่ประกอบด้วยบทบัญญัติที่มีเนื้อหาสาระเพิ่มเติมจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนแคนาดา โดยกำหนดความหมายของการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังที่ชัดเจน และกำหนดให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดความหมายของการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังที่ร้ายแรงและชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม  อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ตามปกติประชาชน โดยจะควบคุมเฉพาะการแสดงคำพูดที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังหรือใส่ร้ายป้ายสีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แสดงออกทางออนไลน์ ซึ่งจะไม่ครอบคลุมถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมหรือเนื้อหาที่ที่ทำให้เสียหาย ทำให้อับอาย หรือแสดงความไม่ชอบหรือการดูถูกเหยียดหยาม และการสื่อสารส่วนบุคคล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ยกตัวอย่างเหตุรถบรรทุกพุ่งชนประชาชนที่เกิดขึ้น ณ เมือง London จังหวัด Ontario เป็นตัวอย่างของความรุนแรงซึ่งเป็นผลมาจากความเกลียดชังทางออนไลน์
          ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาจะจำกัดสิทธิของชาวแคนาดา เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังอย่างชัดเจน และจะเป็นการสร้างขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการรับเรื่องร้องทุกข์ที่จะเกิดขึ้น
          ร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการร้องทุกข์สำหรับผู้เสียหายจากการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชัดทางออนไลน์ โดยผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ให้มีการดำเนินมาตรการต่อผู้เผยแพร่คำพูดดังกล่าวและเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ได้  อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว CBC ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษหรือสร้างความรับผิดสำหรับบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นแพลตฟอร์ม เช่น Facebook และ Twitter ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง โดยบริษัทด้านสื่อสังคมออนไลน์จะถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายอื่นที่จะมีมาตรการสำหรับการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังบนแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยเฉพาะ แต่กรณีดังกล่าวยังไม่เป็นที่ชัดเจน
          ด้านเครือข่ายต่อต้านการสร้างความเกลียดชังอย่างเช่น the Canadian Anti-Hate Network แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยเห็นว่า ปัจจุบันแคนาดาไม่มีเครื่องมือที่จะจัดการกับผู้สร้างความเกลียดชัง ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเป็นเครื่องมือสำหรับรัฐในการจัดการกับความเกลียดชังทางออนไลน์ 
          สำหรับมาตรการในการดำเนินการตามร่างกฎหมายฉบับนี้ กรณีผู้มีส่วนในการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังทางออนไลน์จะถูกสั่งให้หยุดแสดงคำพูดหรือลบการแสดงคำพูดดังกล่าวในแพลตฟอร์มออนไลน์ และไม่ทำการสื่อสารในลักษณะดังกล่าวอีก ในกรณีที่เนื้อหาของคำพูดมีการระบุถึงบุคคลที่สามโดยเฉพาะอาจต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายสูงสุด ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์ กรณีที่ไม่หยุดแสดงการกระทำดังกล่าวจะถูกปรับสูงสุด ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์
          นอกจากนี้ ได้ปรับเปลี่ยนประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มคำนิยามคำว่า “hatred” (ความเกลียดชัง) และได้เพิ่มกรณี “detestation or vilification” (ความเกลียดชังหรือการใส่ร้ายป้ายสี) ไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนแคนาดาด้วย และได้กำหนดมาตรการคุ้มครองบุคคลที่อาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังสามารถขอคำสั่งคุ้มครองเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังได้ หากมีการละเมิดข้อผูกพันดังกล่าว ผู้กระทำจะมีโทษจำคุกสูงสุดสี่ปี
          ร่างกฎหมายฉบับใหม่ถูกกล่าวถึงหลังปิดสมัยการประชุม ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าอาจเกิดการเลือกตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดสมัยประชุมสมัยหน้าในเดือนกันยายน ร่างกฎหมายใหม่ไม่อาจบังคับใช้และดำเนินการได้ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการแสดงคำพูดที่สร้างความเกลียดชังที่เข้มงวดอย่างเร่งด่วน


ข่าวประจำวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔
เรียบเรียงจาก https://www.cbc.ca/news/politics/hate-speech-bill-c36-1.6077606


 

© 2017 Office of the Council of State.