BANNER

ความคืบหน้าของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนด้านการคมนาคม สรุปจากการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนครั้งที่ ๒๒


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      25 Nov 2016

  


ความคืบหน้าของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนด้านการคมนาคม สรุปจากการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนครั้งที่ ๒๒

          การคมนาคมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเชื่อมต่อภายในภูมิภาค การคมนาคมที่ดีหรือการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะช่วยให้ประเทศและภูมิภาคมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ในทางกลับกันหากประเทศใดไม่มีระบบการคมนาคมที่ดีก็จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางธุรกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะถดถอย อาเซียนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการคมนาคมและได้จัดทำแผนคมนาคมอาเซียนขึ้นโดยใช้ชื่อว่า Kuala Lumpur Transport Strategic Plan (KLTSP) 2016-2025[๑]

          ในการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนฯได้รับเกียรติจาก Mr. Benjamin Diokno รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณและการจัดการแห่งประเทศฟิลิปปินส์กล่าวเปิดงาน โดยรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการทำให้การคมนาคมของประเทศยั่งยืนและเป็นพื้นฐานของการเคลื่อนย้ายบุคคล ดึงดูดเงินลงทุน และช่วยให้ธุรกิจเจริญเติบโต ปัจจุบันฟิลิปปินส์กำลังพัฒนาระบบขนส่งในเมืองให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และสร้างโครงข่ายรถไฟสายแรกนอกจังหวัด Luzon ซึ่งรถไฟสายดังกล่าวจะเชื่อมระหว่างเมือง Visayas กับ Mindanao

          หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยแบ่งหัวข้อเรื่องออกเป็น ๘ หัวข้อ ประกอบด้วย

๑.    การรวมการคมนาคมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น รัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนกล่าวยินดีอย่างยิ่งกับการประกาศใช้ Kuala Lumpur Transport Strategic Plan (KLTSP) 2016 – 2025  และกล่าวให้การสนับสนุน Key Performance Indicators  ในด้านการคมนาคมทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ การคมนาคมขนส่งแบบยั่งยืน และการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง

๒.   การเชื่อมโยงให้อาเซียนมีตลาดการบินเป็นหนึ่งเดียวมากยิ่งขึ้น (ASEAN Single Aviation Market : ASAM) รัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันเข้าร่วมความตกลงเปิดเสรีทางการบินครบทุกประเทศสมาชิก การที่ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันจะช่วยทำให้นโยบาย Open Skies เป็นไปได้อย่างราบรื่นในอนาคต ซึ่งแผนการเจรจาขั้นต่อไปจะเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้นและจะมีการเจรจาและรับรองการมีผลใช้บังคับพิธีสารเพื่ออนุมัติข้อผูกพันชุดที่ ๑๐ เพื่อเปิดเสรีทางการบินภายใต้
กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนภายในปี ๒๕๖๐
 
นอกจากนี้ที่ประชุมคาดการณ์ว่าในการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนครั้งถัดไปครั้งที่ ๒๓ ในปี ๒๕๖๐ ที่ประชุมจะสามารถให้การรับรองการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม Mutual Recognition Arrangement on Flight Crew Licensing  (MRA on Flight Crew Licensing)  

๓.   การมุ่งหน้าไปสู่การเดินทางระหว่างประเทศของผู้โดยสารและการเคลื่อนย้ายสินค้าที่เสรียิ่งขึ้น
ที่ประชุมมีความยินดีอย่างยิ่งที่การเจรจาความตกลง ASEAN Framework Agreement On The Facilitation Of Cross Border Transport Of Passenger By Road Vehicles มีความคืบหน้าและตกลงกันว่าจะลงนามอย่างเร็วที่สุด ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะช่วยให้การเดินทางข้ามแดนของผู้โดยสารทางรถยนต์เป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการนำความตกลง ๓ ฉบับ ประกอบด้วย ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit (AFAFGIT), ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport (AFAMT), ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Inter-State Transport (AFAFIST) บังคับใช้ภายในประเทศสมาชิกซึ่งปัจจุบันสมาชิกบางประเทศยังไม่สามารถปฏิบัติได้เต็มที่ ที่ประชุมจึงแนะนำให้ประเทศที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้เร่งกระบวนการตามที่ได้ระบุไว้ใน Kuala Lumpur Transport Strategic Plan

๔.   การเพิ่มความพยายามในการรวมตลาดขนส่งอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว
ที่ประชุมได้รับรองกรอบความร่วมมือ Framework of Cooperation on Certification of Competency for Near Coastal Voyages[๒] (NCV) issued by ASEAN Member States ซึ่งกรอบความร่วมมือจะเน้นการสร้างความร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสและกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินงานกรอบความร่วมมือ

๕.    การนำระบบการขนส่งอัจฉริยะมาใช้
ที่ประชุมได้รับรองหลักการ ASEAN ITS Policy Framework 2.0 ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้กำหนดแนวทางให้ประเทศสมาชิกอาเซียนระบุถึงปัญหา วางแผนแก้ไข ประเมิน และอำนวยความสะดวก Intelligent Transport Systems การนำระบบขนส่งอัจฉริยะมาใช้จะช่วยทำให้การใช้ถนนมีประสิทธิภาพและช่วยทำให้การจราจรเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

๖.    การรณรงค์ให้ใช้ถนนอย่างปลอดภัยในอาเซียน
ที่ประชุมรับรองหลักการและเปิดตัวเอกสาร ASEAN Road Safety Booklet ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ถนนอาเซียนปลอดภัยตามยุทธศาสตร์ (ASEAN Regional Road Safety Strategy)

๗.    การขยายความร่วมมือด้านการคมนาคมกับหุ้นส่วนต่าง ๆ
ที่ประชุมยินดีอย่างยิ่งกับความคืบหน้าด้านการคมนาคมกับประเทศจีน เช่น ความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการปรับแก้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านคมนาคมระหว่างกัน และกล่าวชมความคืบหน้าของความร่วมมือ ASEAN – China Air Transport Agreement (AC ATA) และพิธีสารที่ออกตามความตกลงซึ่งมี ๒ ชุดด้วยกัน ในอนาคตที่ประชุมหวังว่าจะมีเจราจาเพิ่มสนามบินที่ได้รับสิทธิเพิ่มเติมตามพิธีสารฉบับ ๒ [๓]

ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น อาเซียนร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยมีการจัดทำ ASEAN – Japan Transport Partnership (AJTP) จัดทำแผนปฏิบัติงาน ASEAN – Japan Action Plan on Environment Improvement in the Transport Sector (AJ-APEIT) ในแผนดังกล่าวมีโครงการน่าสนใจเช่น รณรงค์ให้ใช้เรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้การขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ในด้านการคมนาคมทางอากาศที่ประชุมคาดการณ์ว่าจะได้ข้อสรุปในความตกลงทางการบินระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น

ความร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ ที่ประชุมหวังว่าการเจรจาเปิดเสรีการบินระหว่างอาเซียน – เกาหลีใต้ จะเสร็จสิ้นเร็วกว่ากำหนด

ความร่วมมือกับประเทศอินเดีย ที่ประชุมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาเซียนจะเริ่มเจรจาเปิดเสรีทางการบินระหว่าง อาเซียน – อินเดีย อย่างเป็นทางการในเรื่องการเปิดเสรีการบิน

ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ปัจจุบันอาเซียนและสหภาพยุโรปได้จัดทำโครงการระหว่างกันชื่อว่า ASEAN Air Transport Integration Project (EU-AATIP), ASEAN Regional Integration Support from the EU (ARISE) นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความยินดีอย่างยิ่งในความคืบหน้าที่อาเซียนได้เริ่มเจรจาความตกลงเปิดเสรีทางการบินกับสหภาพยุโรป (ASEAN – EU Comprehensive Air Transport Agreement : CATA) หากเจรจาสำเร็จและมีการประกาศใช้จะเป็นความตกลงเปิดเสรีทางการบินฉบับแรกที่เป็นการเปิดเสรีระหว่าง ๒ ภูมิภาค

๘.    การประชุมรัฐมนตรีคมนาคมครั้งที่ ๒๓
การประชุมครั้งหน้าจะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปรปี ๒๕๖๐
 
สรุป จะเห็นได้ว่าอาเซียนมีความคืบหน้าด้านคมนาคมเป็นอย่างยิ่งเช่น ด้านการบินซึ่งมีความตกลงหลัก ๓ ความตกลง และความตกลงกับประเทศคู่เจราจาเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความต้องการที่จะเพิ่มเติมสนามบินที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเปิดเส้นทางบินได้ โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก นอกจากนี้ใน Kuala Lumpur Transport Strategic Plan ได้ระบุให้อาเซียนต้องมีการเจรจาเปิดเสรีทางการบินกับ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และอินเดีย ภายในปี ๒๕๖๘ ทั้งนี้ในปี ๒๕๖๐ ที่จะถึงอาเซียนให้ความสำคัญกับการทำให้ตลาดขนส่งอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อการขนส่งแบบ Roll-on Roll-off[๔] เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม MRA on Flight Crew Licensing ให้เสร็จสิ้น

 


[๑]http://www.asean.org/storage/2016/01/11/publication/KUALA_LUMPUR_TRANSPORT_STRATEGIC_PLAN.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

[๒] near - coastal voyages “การเดินเรือใกล้ฝั่ง” หมายถึง การเดินเรือภายในเขตจํากัดทะเลใกล้ฝั่ง. อ้างอิงจาก http://www.thaishipowners.com/file/maritimelaw/20141117120424-th.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

[๓] http://asean.org/wp-content/uploads/images/2015/December/asean-transport-ministers-meeting/CTC%20of%20AC-ATA-Protocol-2.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

[๔] http://www.posttoday.com/biz/aec/scoop/419489 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

© 2017 Office of the Council of State.