BANNER

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอาเซียนแลกเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙


 ข่าวต่างประเทศ      25 May 2020

  


เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินของอาเซียนด้านการสาธารณสุข (ASEAN Emergency Operations Centre Network for Public Health Emergencies) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางไกลระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเด็นที่มุ่งเน้นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินการควบคุม บรรเทา และรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙ เจ้าหน้าที่จากประเทศไทย และเวียดนามได้กล่าวถึงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการที่ดำเนินการโดยรัฐบาลเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙ รวมถึงความท้าทาย และข้อกังวลที่เกิดขึ้นสำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่รายงานผู้ป่วยติดเชื้อนอกประเทศจีน มีจำนวนผู้ป่วยยืนยัน ๓,๐๓๑ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๕๖ ราย ซึ่งได้พบการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ต่อมาตั้งแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่จำนวนน้อยกว่า ๑๐ รายต่อวัน
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย กล่าวว่านอกจากมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประเทศไทยได้ดำเนินงานไปในช่วงเดือนมกราคมนั้น ประเทศไทยยังได้ดำเนินมาตรการกักกันในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยมีข้อสั่งการให้ปิดโรงเรียนทุกแห่งเป็นการชั่วคราว ห้ามการชุมนุม และกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่สำคัญจำเป็น ห้ามอากาศยานบินเข้าประเทศไทย ห้ามและจำกัดการเดินทางของประชาชนข้ามจังหวัด และห้ามประชาชนออกจากบ้านในช่วงเวลาระหว่าง ๒๓.๐๐ น.ถึง ๐๔.๐๐ น. รวมถึงได้จัดให้มีมาตรการตรวจคัดแยกและจัดพื้นที่กักกันบริเวณพื้นที่โรงแรมในประเทศ ขณะที่เวียดนาม ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาด พบผู้ป่วยยืนยัน ๓๒๔ ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และไม่พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในช่วง ๓๒ วันที่ผ่านมา
Dr. Dang Quang Tan อธิบดีฝ่ายเวชภัณฑ์ป้องกัน กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามได้เริ่มดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดของทรัพยากรในประเทศ และจำนวนประชากรเวียดนามมีความหนาแน่นของสูง รวมทั้งมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศที่มีการระบาดของโรค โดยเวียดนามได้มีแผนการดำเนินงานระดับชาติ จัดตั้งคณะกรรมการทุกระดับประกอบด้วยหลายภาคส่วน และมียุทธศาสตร์การป้องกันสี่ด้าน ซึ่งเป็นการล้อมรั้วตรวจหาเพื่อชะลอการแพร่ระบาดในชุมชน การรักษาผู้ป่วยยืนยันทุกราย และการสื่อสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเวียดนามได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังชั่วคราวโดยมีข้อจำกัดสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ และปรับปรุงมาตรการเฝ้าระวังโดยการขยายคำจำกัดความของผู้ต้องสงสัยที่ป่วยเป็นโรคโควิด - ๑๙  ดำเนินการติดตามกลุ่มผู้สัมผัส ตลอดจนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง
ผู้เข้าร่วมประชุมได้กล่าวถึงเกณฑ์ในการปล่อยตัวผู้ติดเชื้อ และมาตรการในการแก้ปัญหาการติดเชื้อซ้ำการคัดกรอง/ตรวจสอบ รวมถึงการจัดการเฝ้าระวังกรณีผู้ไม่แสดงอาการ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชน และการผ่อนคลายมาตรการกักกันในประเทศสมาชิกอาเซียน
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวว่าประเทศไทยได้พิจารณาให้เปิดการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยแบ่งออกเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่ ๓ พฤษภาคม ซึ่งจัดประเภทของธุรกิจที่สามารถเปิดได้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด และจำกัดเวลาเปิด - ปิดกิจการตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด ขณะเดียวกันเวียดนามได้เตรียมแผนบรรเทาผลกระทบระยะยาวระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙
การประชุมทางไกลดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายการฝึกอบรมการระบาดวิทยาของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Field Epidemiology Training Network (ASEAN+3 FETN)) โดยความมุ่งมั่นของเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN Emergency Operations Centre Network) และอาเซียน +3 FETN ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การรายงานสถานะล่าสุด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบทเรียนที่ได้รับจากการมาตรการป้องกัน COVID - ๑๙ อย่างต่อเนื่อง

ข่าว ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓  สำนักเลขาธิการอาเซียน
https://asean.org/asean-health-experts-share-government-policies-tackling-covid-19-pandemic/
 

© 2017 Office of the Council of State.