สิงคโปร์เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด – ๑๙ สูงที่สุด โดยข้อมูล ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๒๐ พบว่า ประเทศสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อ ๓๙,๓๘๗ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๒๕ ราย[1] ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของสมาชิกอาเซียนบางประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ราย ตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๐ ประเทศเวียดนามมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษา ๑๑ ราย และสามารถรักษาหายแล้ว ๓๒๑ ราย[2]แม้สิงคโปร์จะอยู่ในภาวะของการระบาดระยะที่สองตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๐ จำนวน ๑,๔๒๖ ราย[3] อย่างไรก็ดี สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงวิธีการจัดการการระบาดภายในประเทศได้อย่างเป็นที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของการเป็นตัวอย่างการชะลอการระบาดในช่วงแรกและเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศอื่นในการเพิ่มความระมัดระวังเมื่อเข้าสู่ช่วงผ่อนมาตรการเพื่อมิให้เกิดการแพร่ระบาดในระยะที่สอง[4] ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้มาตรการที่หลากหลายของภาครัฐในการจัดการกับการระบาดในสิงคโปร์ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอแนวทางการจัดการกับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ ในประเทศสิงคโปร์ โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑) มาตรการเกี่ยวกับการจำกัดการเคลื่อนไหวของบุคคลช่วงการระบาดของโควิด - ๑๙ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (Infectious Diseases Act) และกฎหมายว่าด้วยโควิด - ๑๙ ค.ศ. ๒๐๒๐ (มาตรการชั่วคราว) (COVID-19 (Temporary Measures) Act 2020) และส่วนที่ ๒) มาตรการผ่อนการควบคุมและการเปิดประเทศ
ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม สิงคโปร์กับเส้นทางต่อสู้โควิด – ๑๙: มาตรการผ่อนการควบคุมและการเปิดประเทศ.pdf
[1] ข้อมูล ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ (อ้างอิง: Worldometers. (2020, June 12). Worldometers. Retrieved May 20, 2020, from https://www.worldometers.info/coronavirus/country/singapore/
[2] ข้อมูล ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ (อ้างอิง: Active Cases in Vietnam. (2020, June 11). Retrieved June 12, 2020, from World Matter: https://www.worldometers.info/coronavirus/country/viet-nam/)
[3] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๔.
[4] แถลงการณ์สถานการณ์โควิด – ๑๙ ประเทศไทย ประจำวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – ๑๙