เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - ๑๙ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จึงทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบ ไวรัสโควิด - ๑๙ มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศจีนและด้วยขนาดเศรษฐกิจของประเทศจีนจึงก่อให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม โดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ประมาณการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปี ๒๕๖๓ ติดลบศูนย์จุดห้าเปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากประเทศจีนแล้ว ผลกระทบดังกล่าวยังเกิดขึ้นในส่วนของกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ซึ่งประกอบประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ผ่านช่องทางหลัก ๓ ช่องทาง โดยจะส่งผลต่อกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ดังนี้
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ผลกระทบในด้านการเดินทาง การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะหยุดชะงักลง การระงับเที่ยวบิน การยกเลิกการเดินทาง การห้ามหรือจำกัดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศจีน รวมทั้งคำสั่งของประเทศจีนที่กำหนดห้ามการเดินทางเป็นหมู่คณะออกนอกประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคลดลง
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๖ การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ ๕๐ – ๙๐ ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปีถัดมา แต่ได้ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๔๐ จากที่เคยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนร้อยละ ๒๐ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในภูมิภาคก่อนที่โรคซาร์สจะระบาด ทั้งที่มาจากประเทศจีนและจากประเทศอื่น
การท่องเที่ยวกลายเป็นภาคส่วนสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยมีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่งในภูมิภาคตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ และในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับการประเมินว่ามีสัดส่วนในภาคเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชามากกว่าร้อยละ ๓๐ ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และมากกว่าร้อยละ ๒๐ สำหรับประเทศไทยและฟิลิปปินส์ การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและประเทศอื่น ๆ จึงสร้างความเสียหายต่อกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่และต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว
จากประเทศจีน
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- ๑๙ ยังมีผลต่อการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม เนื่องจากภาคส่วนการผลิตและอุปสงค์ภายในประเทศของประเทศใกล้เคียงกำลังได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจในภูมิภาคหลายแห่ง เช่น ประเทศสิงคโปร์และเวียดนามที่พึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยมีประเทศจีนเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญภายใต้เครือข่ายการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการค้าระหว่างจีนและภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศจีนย่อมจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการผลิตของภูมิภาคด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น โดยคาดว่าการค้าจะฟื้นตัวตามอุปสงค์จากประเทศจีนที่เพิ่มมากขื้นเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด- ๑๙ ลดลง โดยเฉพาะสินค้าช่วงกลาง (intermediate goods) และสินค้าสุดท้าย (final goods)
หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสามมีจำนวนผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อที่ไวรัสโควิด – ๑๙ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วการแพร่ระบาดของไวรัสจะมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งมาจากผลกระทบทางด้านสาธารณสุข รวมถึงมาตรการที่นำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เช่น การกักกันหรือการจำกัดการเดินทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ ดังที่เกิดขึ้นในประเทศจีน พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคการผลิตและการลงทุนในประเทศ และการลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการของผู้บริโภค
หากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสเกิดขึ้นเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามคงต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ ประเทศจีนเริ่มมีการใช้มาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนประเทศอื่น ๆ ได้มีการดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การใช้นโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยผู้กำหนดนโยบายในระดับภูมิภาคในช่วงเวลานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของไวรัสและความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น