BANNER

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬามาเลเซียเรียกร้องให้อาเซียนทบทวนสถานะการเป็นสมาชิกอาเซียนของเมียนมาจากการใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย


 ข่าวต่างประเทศ      08 Dec 2016

  


นาย Khairy Jamaluddin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา ให้สัมภาษณ์ว่า ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดกับชาวมุสลิมโรฮีนจาหลักการดังกล่าวควรไม่ใช้บังคับ

กองทัพเมียนมาได้ออกปฏิบัติการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจาที่อาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันตกของรัฐยะไข่ (Rakhine State) ทำให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาต้องหนีภัยเข้าไปในบริเวณชายแดนประเทศบังคลาเทศ

รัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬากล่าวในงานประชุมพรรค United Malays National Organisation[๑] “ถึงอาเซียน  พวกเราเรียกร้องให้ทบทวนสถานะสมาชิกอาเซียนของเมียนมา หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิกไม่ใช้บังคับเมื่อมีเหตุการณ์กวาดล้างชนกลุ่มน้อยเกิดขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียน” หลังจากที่รัฐมนตรีกล่าวเสร็จสิ้นได้มีการเปิดวีดีทัศน์ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นและกล่าวปิดท้ายว่า “พวกเรามาสวดภาวนาต่อพระเจ้าให้ปกป้องชาวมุสลิมโรฮีนจาจากความอยุติธรรมและการทำลายล้าง”
 

เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกล่าวว่าการกวาดล้างชาวโรฮีนจาอาจจะถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้  อดีตเลขาธิการสหประชาชาตินาย Kofi Annan ได้เดินทางเยือนประเทศเมียนมาโดยจะเดินทางไปทางเหนือของรัฐยะไข่ด้วย

อย่างไรก็ตาม  ทางด้านของประเทศเมียนมาได้ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาโดยให้ข้อมูลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการติดตามผู้ก่อการร้ายก่อจลาจลที่สถานีตำรวจในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
 

ทั้งนี้ มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมได้วิจารณ์การจัดการปัญหาของประเทศเมียนมาในแง่ลบ และเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ทางการมาเลเซียได้เชิญทูตประเทศเมียนมาเข้าพบ ในขณะเดียวกันชาวมาเลเซียและชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียจำนวนประมาณ ๕๐๐ คนได้เดินขบวนประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมา


นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ประณามเมียนมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงและวิจารณ์ท่าทีประเทศสมาชิกอาเซียนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะร่วมเดินขบวนประท้วงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา



ข่าวจาก http://www.bangkokpost.com/news/asia/1148177/review-myanmars-asean-membership-says-malaysia-minister
ข้อมูลเพิ่มเติม
ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรอง ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน[๒] เมื่อปี ๒๕๕๕ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงหลักคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศอาเซียนยังมีความแตกต่างกัน
 
Principle of Non-Interference หรือ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน คือหลักที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยึดถือว่าหากมีกิจการภายในประเทศสมาชิกอาเซียนจะไม่แสดงความเห็นต่อกิจการที่เกิดขึ้น นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ใน Treaty of Amity and Cooperation (สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)[๓] สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดหลักการที่ประเทศนอกสมาชิกอาเซียนต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิกอาเซียน
 
[๑] https://en.wikipedia.org/wiki/United_Malays_National_Organisation พรรครัฐบาลประเทศมาเลเซียเข้าถึงข้อมูลวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๙
[๒] http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20130614-163951-210860.pdf คำแปลปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙
[๓] http://www.mfa.go.th/asean/th/code?c=t เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙

© 2017 Office of the Council of State.