ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทยเป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทรมากที่สุด โดยอินโดนีเซียมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเล ๐.๔๘ – ๑.๒๙ เมตริกตันต่อปี ฟิลิปปินส์ ๐.๒๘ – ๐.๗๕ เมตริกตันต่อปี เวียดนาม ๐.๒๘ – ๐. ๗๓ เมตริกตันต่อปี ในขณะเดียวกันประเทศไทยและมาเลเซียก็มีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลถึง ๐.๑๕ – ๐.๔๑ เมตริกตันต่อปีและ ๐.๑๔ – ๐.๓๗ เมตริกตันต่อปี ตามลำดับ โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวมีการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้องและขาดระบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนจึงทำให้เป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกจำนวนมาก[1] นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก ๘๓๖,๕๒๙ ตัน เป็น ๒,๒๖๕,๙๖๒ ตัน ภายใน ๓ ปี[2] โดยประเทศมาเลเซีย เวียดนาม ไทย อินโดนีเซียและเมียนมาเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการนำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดในภูมิภาค ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ ประเทศดังกล่าวมีปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง[3] จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเลของภูมิภาคเป็นที่น่าวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะความร่วมมือในระดับภูมิภาค เนื่องจากเป็นขยะพลาสติกทะเลในอาเซียนเป็นปัญหาข้ามพรมแดนจึงส่งผลต่อประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ บทความฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอกลไกการจัดการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของอาเซียนเพื่อสะท้อนถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของสถาบันหลักของภูมิภาค และเพื่อการพัฒนากลไกเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม: กลไกของอาเซียนในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกทะเลในภูมิภาค.pdf
แก้ไขปรับปรุงเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
[2] กรีนพีซ. (ม.ป.ป.). อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก. เข้าถึงเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ จาก กรีนพีซ: https://www.greenpeace.org/thailand/act/asean-no-waste-for-space/
[3] ประเทศมาเลเซียมีการนำเข้าขยะพลาสติก ๘๗๒,๗๙๗ ต้น ประเทศเวียดนาม ๔๙๒,๘๓๙ ตัน ประเทศไทย ๔๘๑,๓๘๑ ตัน ประเทศอินโดนีเซีย ๓๒๐,๔๕๒ ตัน และประเทศเมียนมา ๗๑,๐๕๐ ตัน (อ้างอิงจาก: กรีนพีซ. (๒๕๖๒). ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเทศสมาชิกอาเซียน. กรุงเทพฯ: กรีนพีซ.)