BANNER

นโยบายการปราบปรามยาเสพติดในอาเซ๊ยน


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      29 Sep 2016

  


นโยบายการปราบปรามยาเสพติดในอาเซียน

บทนำ

          ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาซึ่งอาเซียนได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้หมดไปจากภูมิภาคความพยายามของอาเซียนแสดงให้เห็นได้จากผู้นำอาเซียนได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากยาเสพติด (Joint Declaration for A Drug-Free ASEAN) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ในแถลงการณ์ร่วมได้ระบุว่าภูมิภาคอาเซียนจะปลอดจากยาเสพติดภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวเช่น ลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ขาย ปราบปรามเส้นทางขนยาเสพติด แต่หลังจากดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวเป็นเวลานานปัญหายาเสพติดก็มิได้หมดไปแต่อย่างใดทำให้ประเทศไทยเริ่มที่จะหานโยบายทางเลือกเช่น การเปิดให้รัฐสามารถเป็นผู้ขายยาเสพติดได้ หรือ การใช้ยาเสพติดรักษาผู้ป่วย ในขณะเดียวกันประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างประเทศฟิลิปปินส์กลับใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อยาเสพติด ทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงนโยบบายที่แตกต่างกันอย่างยิ่งภายในอาเซียนบทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาและทิศทางต่อไปของอาเซียนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ประวัติศาสตร์สงครามยาเสพติด (War on Drug)

          ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่พบเจอได้ทุกประเทศซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไปในการรับมือกับปัญหา แต่การใช้นโยบายที่แข็งกร้าวต่อยาเสพติดในยุคสมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดี Richard Nixon สหรัฐอเมริกาประสบกับปัญหายาเสพติดอย่างมากมีการใช้ยาเสพติดกันอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น รัฐสภาผ่านกฎหมายแยกประเภทยาเสพติดและกำหนดโทษ
          ปัญหายาเสพติดในอาเซียนมีความแตกต่างจากในสหรัฐอเมริกาโดยที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งผลิตยาเสพติดสำคัญ เช่น ภาคเหนือของประเทศไทยปลูกฝิ่น และบริเวณสามเหลี่ยมทองคำก็เป็นแหล่งส่งออกเฮโรอีนไปยังทั่วโลก

แนวทางของประเทศไทย

          ประเทศไทยเคยประกาศสงครามกับยาเสพติดในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งสงครามดังกล่าวใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นการวิสามัญทันทีในที่เกิดเหตุ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในหลักพันคน นอกจากผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาคดีจากศาล และบางกรณีตำรวจก็ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบในการยัดข้อหา ปัญหาดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นที่องค์กรระหว่างประเทศต้องออกแถลงการณ์ให้ประเทศหยุดการใช้มาตรการดังกล่าว

ฟิลิปปินส์ตามรอยประเทศไทย

          จากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ฟิลิปปินส์ได้ประกาศสงครามกับยาเสพติดทั่วประเทศมาตรการ ที่นำมาใช้คล้ายกับประเทศไทยเช่นการวิสามัญผู้ค้ายาในที่เกิดเหตุโดยไม่มีการสอบสวน ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวทำให้มีประชาชนถูกวิสามัญแล้วกว่า 3 พันคน[1] จะเห็นได้ว่าความรุนแรงดังกล่าวเทียบได้กับสมัยที่ประเทศไทยดำเนินมาตรการปราบปรามยาเสพติด

อาเซียนยังคงใช้วิธีปราบปรามกับปัญหายาเสพติด

          ประเทศสมาชิอาเซียน10 ประเทศดำเนินนโยบายทางยาเสพติดคล้ายกันคือ บังคับใช้โทษประหารชีวิต ยาเสพติดถูกห้ามใช้เป็นยารักษาทางการแพทย์ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศในยุโรปที่ใช้แนวทางการป้องกัน ตัวอย่างเช่นประเทศโปรตุเกสในช่วงในอดีตเคยเป็นประเทศที่มีปัญหายาเสพติดอย่างมาก[2] และโปรตุเกสใช้นโยบายปราบปรามอย่างรุนแรงหากพบว่าครอบครองยาเสพติดจะถือว่าเป็นผู้จำหน่ายทันที แต่การใช้แนวทางดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ปัญหารุนแรงน้อยลง โปรตุเกสจึงตัดสินใจที่จะเปิดเสรีให้ประชาชนสามารถครอบครองเพื่อใช้ในการส่วนตัวได้ การเปิดเสรีดังกล่าวเปิดโอกาสให้โปรตุเกสสามารถนำเงินงบประมาณไปลงทุนในส่วนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดและการตามจับผู้ผลิตยาเสพติด นอกจากแนวทางในยุโรปแล้วแนวทางในสหรัฐอเมริกาหลายมลรัฐเริ่มยกเลิกกัญชาเป็นยาเสพติดส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การนำกัญชามาใส่กับอาหาร
          จะเห็นได้ว่ากระแสของนโยบายยาเสพติดทั่วโลกเริ่มไปในแนวทางการยกเลิกโทษยาเสพติดและบำบัดผู้ติดยาไม่มีการใช้มาตรการรุนแรง แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นนอกจากฟิลิปปินส์แล้วอินโดนีเซียเริ่มมีการพูดถึงการใช้มาตรการรุนแรงในการจัดการกับยาเสพติดเช่นกัน

ประเทศไทยเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทาง

          ปัจจุบันถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ค้ายาเสพติดแต่ในทางข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตแล้วนอกจากนี้ประเทศไทยมีนโยบายที่จะคัดแยกผู้เสพออกจากผู้ขาย การแยกดังกล่าวส่งผลให้สามารถนำกระบวนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดมาใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ เพราะการนำผู้ติดยาเสพติดเข้าไปอยู่ในเรือนจำแต่ไม่ได้มีการบำบัดก็เสมือนกับการนำปัญหาไปเก็บไว้รอวันกลับออกสู่สังคม นอกจากการแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ติดยาเสพติดแล้วประเทศไทยก็เริ่มมีการพูดถึงการยกเลิกให้ยาเสพติดบางชนิดสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นยารักษาได้[3] ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในทวีปยุโรป

สรุป

          แนวทางการจัดการปัญหายาเสพติดของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ผ่านมาเน้นการใช้ความรุนแรงให้เกิดความหวาดกลัวแต่ถึงที่สุดแล้วแนวทางดังกล่าวในระยะยาวก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เลือกแนวทางที่สวนทางกับทั่วโลกแต่ประเทศไทยเลือกที่จะเดินทางสายกลางที่ค่อนไปการยกเลิกยาเสพติดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

 


[1] https://www.theguardian.com/world/2016/sep/19/philippine-president-rodrigo-duterte-extend-drug-war-kill-them-all
[2] https://mic.com/articles/110344/14-years-after-portugal-decriminalized-all-drugs-here-s-what-s-happening#.KVAZvyxs9
[3] http://news.sanook.com/2057226/

© 2017 Office of the Council of State.