BANNER

นักเรียกร้องสิทธิด้านเกษกรรมคัดค้านรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ควรให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)


 ข่าวต่างประเทศ      27 Oct 2016

  


นักเรียกร้องสิทธิด้านเกษกรรมคัดค้านรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ควรให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

          นักเรียกร้องสิทธิเพื่อสิทธิของเกษตรกรเรียกร้องต่อรัฐบาลอินโดนีเซียว่าไม่ควรให้สัตยาบันในความตกลงการค้าเสรี RCEP เนื่องจากความตกลงดังกล่าวบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันใน International Union for the Protection of New Varieties of Plants (UPOV) 1991[๑] ซึ่งหากลงนามในความตกลงดังกล่าวจะทำให้บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจต่อรองเหนือเกษตรกรรายย่อยในเรื่องเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์
 
          ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศอินโดนีเซียนาย Muhammad Nurdin เปิดเผยว่าจากการที่ UPOV ผูกมัดให้ผู้ถือครองสิทธิบัตรในพันธุ์พืชได้รับการคุ้มครอง ๒๐ ถึง ๒๕ ปี จะทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถพัฒนาพันธุ์พืชของขึ้นมาใช้ได้เองได้เนื่องด้วยเหตุผลว่าอาจจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา  นอกจากนี้ผู้แทนยังแสดงความกังวลว่าประเทศร่วมเจรจากับสมาชิกอาเซียนกดดันให้อาเซียนให้สัตยาบันใน UPOV 1991
 
          นอกจากนี้ โฆษกขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการเกษตรของอินโดนีเซียได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยได้กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียได้มีคำพิพากษาที่มีลักษณะเป็นการให้ความคุ้มครองเกษตรกรรายย่อย ชุมชนคนพื้นเมือง และองค์กรเกษตรกรที่จะพัฒนาสายพันธุ์ของตนเอง ซึ่งถ้าหากอินโดนีเซียให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็อาจทำให้คำพากษาเปลี่ยนได้
 
          อนึ่งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนอีก ๖ ประเทศด้วยกันประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์
การเจรจาครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่ เมือง เทียนจิน ประเทศจีน ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึง ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
 
[๑] ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญา UPOV ๑๙๙๑, งานวิจัยยอยตามโครงการ FTA Digest
ลำดับที่ ๑๑  วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘, http://www.tdri.or.th/fta/pdf/miniResearch๐1_UPOV1991Membership.pdf, เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

© 2017 Office of the Council of State.