หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
แนะนำอาเซียน
ข่าวต่างประเทศ
ความตกลง
APSC
AEC
ASCC
ASEAN PLUS
บทความ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน
บทความวิชาการ
งานวิจัย
กฎหมายน่ารู้
ติดต่อเรา
อาเซียนแสดงท่าทีต่อต้านสงครามการค้า
ข่าวต่างประเทศ
13 Sep 2019
องค์กรเอกชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนและรัฐบาลออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อสันติภาพของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่สงครามการค้าทวีความรุนแรงและคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก
นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN BAC) ได้กล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers' Meeting: AEM) เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ โดยชี้ว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลง ในโอกาสที่อาเซียนก่อตั้งมาแล้วถึง ๕๒ ปี รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องมีความเป็นผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็งเพื่อยุติสงครามการค้าและนำสันติภาพกลับคืนสู่เศรษฐกิจโลก เนื่องจากอาเซียนจะไม่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพราะในระยะยาวสหรัฐฯ อาจมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ นายอรินทร์ได้กล่าวว่าสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนไปทั่วโลก ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก ดังนั้น เสียงของอาเซียนจะช่วยกระตุ้นประเทศอื่น ๆ ให้ทำตามท่าทีของอาเซียน และต่อต้านสงครามการค้าระหว่างสองประเทศใหญ่ โดยนายอรินทร์ได้เสนอให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ทั้งนี้ อาเซียนจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการผลิตอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิตอล ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ นอกจากนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานในภูมิภาคที่อาจสูญเสียงานจากการขยายตัวของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้รัฐบาลในอาเซียนต้องมีมาตรการเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานให้สูงขึ้น
การวิจัยและพัฒนา และการเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลล้วนมีความสำคัญ โดยนายอรินทร์ได้เสนอให้มีการให้ความช่วยเหลือองค์กรหรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลด้วย
ในการนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประธานในพิธีเปิดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ ได้กล่าวว่า อาเซียนจะต้องเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม ประกอบกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้ประกอบการรายย่อย และสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ ท่ามกล่างความท้าทายทางการค้าของโลก “ขณะนี้ อาเซียนจะต้องมุ่งสร้างหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ทั้งยังเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะผลักดันการเจรจาเพื่อจัดตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้สำเร็จ ซึ่งอยู่ในการเจรจารอบสุดท้ายในปีนี้” จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของอาเซียนและคู่เจรจาในการเชื่อมโยงระบบการค้าและการลงทุนด้วยการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีที่ยึดมั่นในกฎระเบียบและข้อบังคับ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังได้เรียกร้องให้อาเซียนให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติด้วยการส่งเสริมความยั่งยืนและการเชื่อมโยง เช่น การประมง การวิจัยและการพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานทดแทน
ด้านนาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวเสริมว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จัดขึ้นจะเป็นการหารือเกี่ยวกับการเร่งลดภาษีนำเข้าของทุกรายการให้เป็นร้อยละ ๐ ในระหว่างประเทศอาเซียนในกลุ่มประเทศอาเซียนหลังจากที่การเจรจานั้นล่าช้ากว่ากำหนดเดิมในปีพ.ศ. ๒๕๖๐
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือกับรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการเจรจาเพื่อจัดตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
(RCEP) โดยเห็นว่าควรจะมีการลดความแตกต่างในการเจรจาเพื่อให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.bangkokpost.com/business/1744739/asean-pressed-to-oppose-trade-war
© 2017 Office of the Council of State.