BANNER

การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๒๑


 ข่าวต่างประเทศ      13 Aug 2019

  


         
ภาพจาก www.asean.org

 
          การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๒๑ (Twenty-First Meeting of The Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution) จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ประเทศบรูไน โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดิน และป่าไม้ จากประเทศบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมการประชุม  นอกจากนี้ยังได้มีการจัดประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับมลพิษหมอกควัน ครั้งที่ ๒๑ (Twenty-first Meeting of the Technical Working Group on Transboundary Haze Pollution) ขึ้นแล้วก่อนหน้านี้
          ภายใต้การประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้รับทราบถึงข้อมูลแนวโน้มสภาพอากาศที่นำเสนอโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorology Centre: ASMC) สำหรับฤดูแล้งสภาพอากาศทางตอนใต้ของอาเซียนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมปีนี้จะมีความแห้งแล้งและมีอุณหภูมิสูง  นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะเป็นกลาง (neutral) มีการคาดการณ์ว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงอาจทำให้มีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นและจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหมอกควันข้ามพรมแดนในภูมิภาค ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้มีการเฝ้าระวังและติดตาม รวมถึงเพิ่มความพยายามในการป้องกันปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนระหว่างช่วงที่อากาศแห้งแล้ง
          นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กล่าวถึงความพยายามของศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียนในการปรับปรุงขีดความสามารถด้านเทคนิคให้ดียิ่งขึ้นเพื่อติดตาม ประเมินผล และเฝ้าระวังการเกิดหมอกควันข้ามแดนซึ่งการป้องกันและเฝ้าระวังหมอกควันข้ามพรมแดนเกี่ยวข้องกับการลงทุนของศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียนโดยทีมนักอุตุนิยมวิทยาผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ที่ดำเนินงาน ซึ่งทำการตรวจสอบและประเมินสภาพอากาศและหมอกควันในภูมิภาคตลอด ๒๔ ชั่วโมง และนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับการพยากรณ์สภาพอากาศขั้นสูง รวมถึงการใช้ทรัพยากรจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ในการนี้ ที่ประชุมได้กล่าวถึงหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิกอาเซียน ๕ ประเทศเพื่อแบ่งปันความรู้ทางเทคนิคและทักษะต่าง ๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลพยากรณ์สภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
          ที่ประชุมได้กล่าวถึงโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการหมอกควันข้ามพรมแดนในภูมิภาคของประเทศสมาชิก โดยประเทศสมาชิกได้แสดงความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน เช่น การใช้ทรัพยากรพิเศษเพื่อให้ความช่วยเหลือในการดับเพลิงเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และปฏิบัติตามหลักการของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) และแผนงานความร่วมมือของอาเซียนว่าด้วยการควบคุมมลพิษและหมอกควันข้ามแดนด้วยวิธีการดำเนินงานที่จะทำให้อาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยที่ประชุมเรียกร้องให้หน่วยงานระดับชาติและระดับท้องถิ่นดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันไฟป่าและมลพิษหมอกควันจากปัญหาไฟป่า
          ที่ประชุมได้กล่าวถึงการประชุมชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ (34th ASEAN Summit) เมื่อระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ จัดประชุม ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และได้เน้นย้ำว่ามลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนที่เกิดจากไฟป่าและที่ดินยังคงเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาค ที่ประชุมจึงได้เห็นพ้องร่วมกันที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนผ่านการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Plan of Action: PoA)  นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งทบทวนและประเมินผลการดำเนินงาน และความสำเร็จในการทำให้อาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ รวมถึงได้มีการเสนอการทบทวนขั้นสุดท้ายของแผนงานเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการภายใต้การประชุมภาคีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน และได้รับทราบถึงความก้าวหน้าในการจัดทำความตกลงก่อตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับการควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน (ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control :ACC THPC)
ในอินโดนีเซีย

          ที่ประชุมได้มีการหารือและกล่าวถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของการดำเนินงานตามการทบทวนยุทธศาสตร์ของโครงการและกิจกรรมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการจัดการควบคุมหมอกควันผ่านระบบการเฝ้าระวังและติดตาม การป้องกันและการขจัดไฟป่า (๒) การปรับปรุงระบบจัดชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) (๓) การปรับปรุงการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน (Standard Operating Procedure: SOP) สำหรับการติดตาม ประเมินผล
และการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน ซึ่งจะมีระดับการแจ้งเตือน จุดเสี่ยงและการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอัคคีภัย (๔) การสร้างความร่วมมือในระดับทวิภาคีให้สอดคล้องกับความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน และ (๕) การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้เครือข่ายฝึกอบรมระดับภูมิภาค

          นอกจากนี้ ได้มีการเรียกร้องให้ที่ประชุมภาคีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ ๑๓ (Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: COP-13) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ ประเทศบรูไนรับรองการแลกเปลี่ยนข้อมูลจุดความร้อนของประเทศภาคีการประชุมรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ได้รับคำแนะนำจากการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิค ครั้งที่ ๗ (Meeting of the MSC Technical Task Force: MTTF) และได้กล่าวถึงกลไกการแบ่งปันข้อมูลที่ดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง
          ที่ประชุมได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าพรุอาเซียน พ.ศ. ๒๕๔๙ - ๒๕๖๓ (ASEAN Peatland Management Strategy: APMS 2006-2020) และแผนงานของอาเซียนด้านการจัดการระบบนิเวศป่าพรุอย่างยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๓ (ASEAN Programme on Sustainable Management of Peatland Ecosystems: APSMPE 2014-2020)และที่ประชุมได้กล่าวแสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากหุ้นส่วนการเจรจาและการพัฒนาอาเซียน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ  นอกจากนี้ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในโครงการการใช้ป่าพรุที่ยั่งยืนและการบรรเทาหมอกควันในอาเซียน (Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN: SUPA) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development: IFAD) มาตรการสำหรับการจัดการพื้นที่ปลอดหมอกควันอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Measurable Action for Haze-Free Sustainable Land Management in Southeast Asia: MAHFSA) รวมทั้งได้มีการเน้นย้ำถึงการให้ความร่วมมือของประเทศสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ
          ในตอนท้าย ที่ประชุมได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลบรูไนในการจัดประชุมครั้งนี้ได้อย่างดีเยี่ยมและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น  โดยการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียในปี พ.ศ. ๒๕๖๓

แปลและเรียบเรียงจาก https://asean.org/twenty-first-meeting-sub-regional-ministerial-steering-committee-transboundary-haze-pollution-21st-msc/
 

© 2017 Office of the Council of State.