เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เลขาธิการอาเซียนและเลขาธิการสหประชาชาติจัดประชุมเลขาธิการในระดับภูมิภาคครั้งที่ ๔ (Secretariat-to-Secretariat: S2S) ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยที่ประชุมยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน และรับทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงเน้นย้ำการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น
ที่ประชุมเลขาธิการอาเซียนและเลขาธิการสหประชาชาติ (S2S) ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก โดยในด้านความมั่นคงและการเมือง ที่ประชุมมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลีภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงของอาเซียน โดยกล่าวถึงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ การอำนวยความสะดวกทางการค้า อาหารและการเกษตร พลังงาน การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) รวมถึงโครงการเกี่ยวกับการทำงานในอนาคต ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจาก
ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาและวัฒนธรรม การส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก สวัสดิการทางสังคมและการพัฒนา และการสาธารณสุข
ในการนี้ ที่ประชุมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือต่อไปหลังจากสิ้นสุดแผนปฏิบัติการอาเซียน – สหประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓ (ASEAN-UN Plan of Action 2016-2020) และได้เน้นย้ำถึงก้าวต่อไปของอาเซียนและสหประชาติในส่งเสริมความร่วมมือว่าด้วยวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี พ.ศ. ๒๕๗๓ และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี พ.ศ. ๒๕๖๘ รวมถึงการเน้นย้ำให้เพิ่มความพยายามในการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อริเริ่มที่กำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อความก้าวหน้าของการทำงานร่วมกันในประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน - สหประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๖๘ (ASEAN-UN Plan of Action 2021-2025)
ดาโต๊ะ Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียนกล่าวในพิธีเปิดประชุมว่า ในโลกที่พึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้นนั้น ความร่วมมือพหุภาคีได้กลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการกับความท้าทายซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน โดยอาเซียนยังคงมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระดับพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป และยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ สำหรับอนาคตความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนและสหประชาติจะเป็นไปด้วยดีด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันและร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความรุ่งเรืองในภูมิภาคและระดับโลก
ด้านนาง Ursula Mueller ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายกิจการด้านมนุษยธรรมและรองผู้ประสานงานบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน และหัวหน้าคณะผู้แทนของสหประชาชาติกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาอาเซียนและสหประชาชาติได้ดำเนินงานตามขั้นตอนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๖๘ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๗๓ ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการอาเซียนและสหประชาชาติได้จัดทำกรอบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติในประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคมุ่งสู่ความสำเร็จตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเนื่องจากความเป็นหุ้นส่วนขององค์การระหว่างภูมิภาคเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจภายใต้วาระการปฏิรูปของสหประชาชาติ อาเซียนจึงเป็นศูนย์กลางและเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหประชาชาติ
ในการเปิดประชุมดังกล่าว ดาโต๊ะ Lim Jock Hoi และนาง Mueller ได้ร่วมเปิดการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยรองเลขาธิการและเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านผู้เข้าร่วมจากองค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยผู้ช่วยเลขาธิการและผู้อำนวยการสำนักภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้อำนวยการด้านกิจการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกสหประชาชาติ สำนักกิจการการเมืองและสันติภาพรองเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติและตัวแทนระดับภูมิภาคจากสหประชาชาติ