BANNER

มาเลเซีย: พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียนเชื่อมโยงสู่จีน


 ข่าวต่างประเทศ      15 May 2019

  


         

         นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (Fourth Industrial Revolution) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมออนไลน์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E – Commerce) มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยกลายมาเป็นวิธีการของภาคธุรกิจและการค้าที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงอาเซียน
          เมื่อกล่าวถึงการค้าภายในอาเซียนและโดยรอบ โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรราที่ ๒๑ ( Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาลจีน โดยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนใน ๑๕๒ ประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศในยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา โดยมีอาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ในภูมิภาคอาเซียนยังหนึ่งในเส้นทางของโครงการดังกล่าวที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้
          บริษัทแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ปั๋วไห่ (Tianjin Bohai Commodity Exchange: BOCE) และบริษัท คอมโมดิตีส์ โกลบอล เทรด (Commodity Global Trade Sdn Bhd: CGTSB) ของมาเลเซียได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงและความตกลงความร่วมมือผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค (International Regional Cross-Border E-Commerce Service Provider Cooperation Agreement) ในงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติประเทศจีน (China International Import Expo) เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
          บริษัท คอมโมดิตีส์ โกลบอล เทรด (CGTSB) เป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซียที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้น โดยโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ปั๋วไห่ (Bohai Commodity Exchange: BOCE) ในฐานะของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการซื้อขายระดับภูมิภาคสำหรับมาเลเซียและประเทศอาเซียน โดยแพลตฟอร์มการซื้อขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รู้จักกันในนามกรอบการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ปั๋วไห่มาเลเซียและอาเซียน (BOCE MALAYSIA/ASEAN) ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจของมาเลเซียและอาเซียนสามารถเข้าสู่ตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลก (BOCE Global) จะช่วยให้ผู้ค้าได้รับประโยชน์จากโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (BRI) ของจีนอีกด้วย ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนด้านการส่งออกไปยังประเทศจีนในราคาตลาดที่มีกำไรสูงและส่งออกได้อย่างไม่จำกัด รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เสมือนศูนย์รวมผู้ซื้อและผู้ขายในการสร้างเครือข่ายธุรกิจสำหรับกิจกรรมทางการค้า โดยบริษัท คอมโมดิตีส์ โกลบอล เทรด (CGTSB) เป็นศูนย์ให้บริการอย่างครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียน การประกวดราคา และด้านเอกสารการซื้อขายสำหรับผู้ส่งออก การตั้งบริษัท คอมโมดิตีส์ โกลบอล เทรด (CGTSB) เป็นผู้ให้บริการ ทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่ห้าของโลกที่มีการใช้งานแพลตฟอร์มนอกประเทศจีนและเป็นแนวทางใหม่สำหรับอาเซียน โดยประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินงานแพลตฟอร์มนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และยูเครน ในส่วนของแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดิจิทัลแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซียและอาเซียน (BOCE MALAYSIA/ASEAN) เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ในการนี้นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภูมิภาค โดยเทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการแพร่กระจายของแนวคิดใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การทำงานในระบบดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดความท้าทายได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศในอาเซียนจะต้องมีความพร้อมเกี่ยวกับระบบดิจิทัลในส่วนของการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและการนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในประเทศและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้กล่าวเสริมว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ นำมาซึ่งการนิยามประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อขายใหม่ เนื่องจากดิจิทัลเป็นตัวช่วยในการลดระยะเวลาและวิธีการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการตัดสินใจซื้อและทำธุรกรรมของผู้บริโภค ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีความพร้อมใช้งานทุกที่ทุกเวลา ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีราคาที่แข่งขันได้ โดยการพัฒนาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ความต้องการของผู้บริโภคจะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผู้บริโภคต้องการความยืดหยุ่นและตัวเลือกการจัดส่งที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต ซึ่งวิธีการผลิตและการส่งมอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดิมนั้นไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
          ในการนี้ นาย Khairuddin Abu Hassan ประธานบริษัท คอมโมดิตีส์ โกลบอล เทรด ได้กล่าวถึงประโยชน์ของแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยชี้ว่ามีข้อดีในเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน การขยายช่องทางการขาย ความโปร่งใสในการซื้อขายและการจัดการขาย การจัดการความเสี่ยง การส่งเสริมประชาสัมพันธ์ กลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการราคาที่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาด ตลอดจนด้านการให้คำปรึกษาจากที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของจีน  นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกว่า ๒๐๐ แห่ง และธนาคารแห่งชาติ ๑๕ แห่ง (เครือข่ายสาขากว่า ๑,๐๐๐ แห่งในจีน) ที่เข้าร่วม จึงทำให้เป็นแพลตฟอร์มบริการอย่างครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย การใช้แพลตฟอร์มทางอิเล็กทรอนิกส์นี้คาดว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของมาเลเซียและอาเซียนจำนวนมากใช้เป็นโอกาสในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการเพิ่มการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภาคธุรกิจของมาเลเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเริ่มดำเนินกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และเนื่องจากอาเซียนมีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับสามของโลก รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลางและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้อาเซียนกลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญเมื่อมีการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนของมาเลเซียเองก็ได้กำหนดบทบาทเป็นผู้เล่นที่สำคัญภายใต้แพลตฟอร์มดังกล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก 
https://theaseanpost.com/article/malaysia-aseans-e-commerce-gateway-china

© 2017 Office of the Council of State.