BANNER

ความน่าเชื่อถือของอาเซียนอยู่ในภาวะเสี่ยง หากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ(Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ไม่ได้ข้อสรุปในปีนี้


 ข่าวต่างประเทศ      12 Feb 2019

  


ภาพจาก www.nationmultimedia.com
 
            ความน่าเชื่อถือของอาเซียนอยู่ในภาวะเสี่ยง หากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ(Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ไม่ได้ข้อสรุปในปีนี้
          ในการประชุมหัวข้อ “การเป็นประธานอาเซียนของไทย: ความท้าทายในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies: ISIS) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN: ERIA) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ความเห็นว่า หากประเทศไทยไม่สามารถเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ได้อาจจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเจรจาเพื่อบรรลุความตกลง RCEP จึงถือเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล ผู้แทนจากสำนักเอเชีย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเจรจาเพื่อหาข้อสรุปของความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอันเนื่องมาจากความแตกต่างในด้านผลประโยชน์และความคาดหวังของประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลง ในขณะที่ผู้แทนของรัฐบาลไทยกล่าวถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยชี้ว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทย แต่อาจส่งผลให้การเจรจาความตกลงต่าง ๆ ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก
          นอกจากนี้ ผู้แทนจากประเทศไทยได้กล่าวเกี่ยวกับความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ว่าเป็น ๑ ใน ๑๓ ผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ หากการเจรจาประสบความสำเร็จจะทำให้ความตกลงดังกล่าวเป็นความตกลงระดับพหุภาคีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโลก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ทำให้มี GDP รวมถึงร้อยละ ๒๘ ของ GDP โลก ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ การเจรจามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นจึงมีโอกาสที่จะเจรจาเสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ. ๒๕๖๒
           สำหรับประเด็นเรื่องการต่อต้านการกีดกันทางการค้า ประเทศไทยมีความคาดหวังให้ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นความร่วมมือที่ตอบโต้ต่อกระแสการปกป้องทางการค้าและเป็นความร่วมมือที่แสดงให้เห็นว่าอาเซียนยังคงเชื่อมั่นในการรวมกลุ่มแบบภูมิภาคนิยม ตลอดจนเชื่อมั่นในความร่วมมือแบบพหุภาคีที่จะเป็นทางออกของความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
           ด้านนายกวี จงกิจถาวร นักวิเคราะห์ของสถาบันการศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) กล่าวว่าการเจรจาเพื่อบรรลุความตกลง RCEP มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากอาเซียนเป็นผู้นำด้านการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคและการสร้างความร่วมมือในระดับพหุภาคีมากกว่าการดำเนินความสัมพันธ์แบบฝ่ายเดียว (unilateralism) และการปกป้องทางการค้า ความตกลง RCEP จึงเป็นสิ่งที่อาเซียนยึดมั่นและให้ความสำคัญ  ดังนั้น ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนอาจจะถูกมองว่ามีความเปราะบางและไร้ประสิทธิภาพหากไม่สามารถหาข้อสรุปของความตกลง RCEP ได้ภายในปีนี้  
            นอกจากนี้ นาย Ponciano S. Intal นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จของการเจรจา RCEP จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับภูมิภาคอาเซียน ในขณะเดียวกันการสร้างความร่วมมือกับอินเดียและจีนภายใต้ความตกลง RCEP ก็จะนำมาซึ่งการแข่งขันในตลาดอาเซียนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอาเซียนก็ยังคงเป็นรองจีนและอินเดียในทางเศรษฐกิจทั้งด้านทักษะและทรัพยากร
            สำหรับประเด็นผลกระทบจากการเลือกตั้งทั่วไป นายสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียนกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประชุมและการเจรจาของอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เนื่องจากผู้นำของในประเทศไทยให้การสนับสนุนความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียน และนางชุติมาได้กล่าวเสริมว่า การเลือกตั้งของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ไม่เป็นการขัดขวางการประชุมอาเซียน แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจทำให้กระบวนการเจรจา RCEP ชะลอตัวลง  อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งก็จะมีการสรุปเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาความตกลง RCEP ทั้งหมดให้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป  นอกจากนี้ ภายใต้การประชุมดังกล่าวการกล่าวถึงการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ในปีพ.ศ. ๒๕๖๒ เช่นในอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่อาจทำให้การเจรจาช้าลงในช่วงครึ่งปีแรก

แปลและสรุปความจาก: http://www.nationmultimedia.com/detail/breakingnews/30364006

© 2017 Office of the Council of State.