BANNER

นักข่าวเมียนมาถูกยกคำร้องอุทธรณ์การลงโทษ


 ข่าวต่างประเทศ      28 Jan 2019

  


     นาย Kyaw Soe Oo และ นาย Wa Lone นักข่าวชื่อดังที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งเสรีภาพด้านการสื่อข่าวและได้รับการขนานนามว่าเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสาร Time Magazine ปี ค.ศ.๒๐๑๘ จากสำนักข่าว Reuters ถูกพิพากษาให้รับโทษจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปี ณ เรือนจำ Insein อันโด่งดัง ณ กรุงย่างกุ้งซึ่งในเวลานี้พวกเขาถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 13 เดือน ในข้อหาละเมิดรัฐบัญญัติความลับของรัฐ (the State Secrets Act) ด้วยเหตุที่ถูกกล่าวหาว่า มีข้อมูลลับเกี่ยวกับการปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในรัฐยะไข่ จากที่ชาวมุสลิมโรฮิงยาหลายแสนคนหนีไปในระหว่างการถูกล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งข้อดังกล่าวนี้ก็เป็นการถูกกุขึ้นเพื่อปิดบังรายงานข่าวของพวกเขาถึงการสอบสวนความโหดร้ายที่กระทำต่อชาวโรฮิงญาในพม่า และต่อมาศาลก็ได้ยกคำร้องอุทธรณ์ ส่งผลให้ให้เพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวที่คาดหวังอิสรภาพของพวกเขาผิดหวังและเสียใจอย่างมาก โดยเฉพาะภริยาของนักข่าวทั้งสอง  อย่างไรก็ตาม สำหรับในมุมมองของฝ่ายตุลาการเมียนมานั้นก็ได้ให้ความเห็นว่าคำวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวนี้เป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว
     ทั้งนี้ นักข่าวทั้งสองนั้น ได้กล่าวว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของการยัดเยียดข้อหาของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยมีประจักษ์พยานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานชั้นล่างที่ให้การว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาไปดักจับพวกเขา ในช่วงเวลาที่ถูกจับกุมนั้นพวกเขากำลังตรวจสอบการสังหารชาวโรฮิงญา 10 คนที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่ทางเหนือ การจำคุกพวกเขาสองคนนั้นเป็นเพียงวิธีการปิดบังความจริงที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น อีกทั้ง การพิจารณาคดีดังกล่าวยังได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อข่มขู่ยับยั้งการทำงานของสื่ออื่นๆอีกด้วย
ความรุนแรงในการปฏิบัติการทางทหารเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น ปรากฏว่ามีการบังคับชาวโรฮิงญากว่า ๗๒๐,๐๐๐ คนข้ามชายแดนไปยังบังคลาเทศ การฆาตกรรม การข่มขืน และการเผาบ้านเรือน โดยในการนี้ทางสหประชาชาติก็ได้เรียกร้องให้ผู้นำระดับสูงของเมียนมาทำการสอบสวน และตำหนินางอองซานซูจี ที่ปรึกษารัฐบาลเมียนมา ถึงเรื่องเหตุการณ์การล้างเผ่าพันธุ์อีกด้วย เนื่องจากเธอได้ให้สัมภาษณ์ว่าเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล
     อย่างไรก็ดี แม้ศาลจะได้ทำการวินิจฉัยยกคำร้องดังกล่าว แต่ก็ยังอาจอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ หรือยื่นเรื่องขออภัยโทษจากประธานาธิบดีอีกทางหนึ่ง โดยทั้งนี้ นาย Kristian Schmidt ทูตสหภาพยุโรปคาดหวังว่าประธานาธิบดีของเมียนมาจะแก้ไขความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นนี้ให้ถูกต้อง  นอกจากนี้ตามรายงานข่าวของ BBC ยังปรากฏว่า Jeremy Hunt รัฐมนตรีต่างประเทศเรียกร้องให้ นางซูจีพิจารณาถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่าเป็นไปตามหลักกระบวนธรรม (due process) หรือไม่ เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการคดีนี้จะทำลายสัญลักษณ์แห่งสิทธิมนุษยชนเลยทีเดียว
     เรียบเรียงจาก: https://humanrightsinasean.info/article/myanmar-journalists-lose-appeal-against-sentence.html
ข่าวเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒
 

© 2017 Office of the Council of State.