BANNER

บทอวสานของบุคลากรระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาร์ในเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่จากหลักการไร้ความคุ้มกันและความรับผิดของผู้บังคับบัญชาของศาลอาญาระหว่างประเทศ


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      24 Dec 2018

  


      เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ประเทศเมียนมาร์ซึ่งมีการสังหารชาวโรฮิงญาหลายพันคน วางเพลิงเผาหมู่บ้าน และกระทำการอันเป็นการทารุณทางเพศอย่างกว้างขวาง บีบให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว ๗๐๐,๐๐๐ คนอพยพหนีข้ามชายแดนเข้าสู่บังกลาเทศ เป็นกรณีที่รัฐบาลเมียนมาร์ได้มีการกระทำอันเป็นการเข้าข่ายความผิดฐานอาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติซึ่งกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและสันติภาพของโลก ส่งผลให้ในการนี้ประชาคมระหว่างประเทศรวมถึงประเทศสมาชิกรัฐอาเซียนทั้งหลายจึงให้ความสำคัญในการนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาลงโทษให้จงได้ ซึ่งบุคคลที่มีความผิดฐานดังกล่าวนี้ย่อมสามารถถูกดำเนินคดีตามกฎหมายภายในของรัฐต่างๆได้แม้จะไม่ใช่ท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นก็ตาม อันเนื่องมากจากการเป็นความผิดสากล
      ทั้งนี้ได้ปรากฏว่ามีการฟ้องร้องนางออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาร์ในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crimes against humanity) ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ต่อศาล Magistrate ณ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่นางซูจีเดินทางไปเยือนออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียที่นครซิดนีย์ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ด้วยเหตุที่ว่านางซูจีไม่สามารถใช้อำนาจที่มีตามตำแหน่ง ยับยั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชานั้น แต่ในท้ายที่สุดการดำเนินคดีก็ต้องยุติลงโดยอัยการสูงสุดด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ต้องหานี้มีสถานะเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาล (heads of government)  ซึ่งมีความคุ้มกันของรัฐ (immunity of states) ตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญาโดยศาลออสเตรเลียของรัฐเจ้าของดินแดน กรณีดังกล่าวจึงเกิดประเด็นปัญหาช่องว่างของกฎหมายระหว่างประเทศ  กล่าวคือ บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่นี้อาจสามารถยกข้อกล่าวอ้างถึงความคุ้มกันนี้เพื่อปฏิเสธการดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศร้ายแรงกับตนเองได้ ทำนองเดียวกับการยกเว้นการดำเนินคดีอาญากับนางซูจีที่เกิดขึ้นนี้
      อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาดังกล่าวอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเนื่องจากความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเป็นความผิดอาญาที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศตามธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งแม้ศาลอาญาภายในของรัฐจะไม่สามารถดำเนินคดีได้ด้วยเหตุแห่งความคุ้มกันของรัฐก็ตาม แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นก็หาได้ถูกจำกัดอำนาจการดำเนินคดีด้วยเหตุเช่นว่านี้ไม่ หากแต่สามารถทะลุทะลวงความคุ้มกันของรัฐและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ด้วยข้อบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรรมระหว่างประเทศร้ายแรง  ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงจะได้ทำการอธิบายถึงหลักความคุ้มกันของรัฐ หลักไร้ความคุ้มกันของศาลอาญาระหว่างประเทศ และหลักความรับผิดของผู้บังคับบัญชา แล้วจึงได้ทำการวิเคราะห์กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีกับนางออง ซาน ซูจี ตามกรณีศึกษาต่อไป
ลิงค์บทความฉบับเต็ม

© 2017 Office of the Council of State.