BANNER

อาเซียนและองค์การสหประชาชาติมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ พร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน


 ข่าวต่างประเทศ      05 Oct 2018

  


อาเซียนและองค์การสหประชาชาติมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕
พร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภาพจาก: asean.org
 
          เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ อาเซียนและองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนและองค์การสหประชาติ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ประชุมได้ยืนยันความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับองค์การสหประชาชาติเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี ค.ศ. ๒๐๒๕ และวาระการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐสิงคโปร์ และดร. Vivian Balakrishnan ประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุมและมีนาย António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ María Fernanda Espinosa Garcés  ประธานการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติครั้งที่ ๗๓ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน นาย Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน และเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการประชุม
           ในการนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนและองค์การสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนรอบด้านระหว่างอาเซียนและองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และที่ประชุมมีความยินดีที่จะยกระดับความร่วมมือที่สำคัญเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในห้าปีแรกตามแผนปฏิบัติการ (๒๐๑๖ – ๒๐๒๐) ซึ่งได้รับการรับรองตั้งแต่เดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐของอาเซียนและองค์การสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้อาเซียนและองค์การสหประชาชาติดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออำนวยให้การปฏิบัติการตามแผนงานเป็นไปอย่างสะดวก รวมถึงเห็นพ้องร่วมกันที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามกลไกของเลขาธิการอาเซียนและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
          
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในลักษณะข้ามภูมิภาคระหว่างอาเซียนและองค์การสหประชาชาติ และมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความร่วมมือที่เอื้อต่อการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนในปีค.ศ. ๒๐๒๕ และวาระการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. ๒๐๓๐  ทั้งนี้ ขอบเขตของความร่วมมือครอบคลุมไปถึงการลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน การบรรเทาปัญหาความยากจน การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลดช่องว่างของการพัฒนาและการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน การเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้หญิง การเชื่อมโยงด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคเพื่ออนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง การเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข อาหารและโภชนาการ การเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและส่งเสริมการทำงานให้กับประชาชน การสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและองค์การสหประชาชาติในด้านเทคนิคเพื่อกำหนดเขตพื้นที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น
          ที่ประชุมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะทางการทูตเชิงป้องกันและการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนสถาบันอาเซียนเพื่อสันติภาพและการเจรจา ในการนี้องค์การสหประชาชาติได้กล่าวแสดงความชื่นชมการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสันติภาพขององค์การสหประชาชาติและที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด โดยได้เน้นย้ำถึงการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียน โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Centre: ARMAC) ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและอวกาศของอาเซียน (ASEAN Research and Training Center for Space Technology and Applications: ARTSA) และหน่วยงานด้านเทคนิคขององค์การสหประชาชาติ  รวมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเห็นพ้องร่วมกันที่จะริเริ่มเครือข่ายเมืองอัจฉริยะของอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) และยืนยันที่จะดำเนินการตามแผนบูรณาการ
ความริเริ่มในการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI) และแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงอาเซียน ปี ค.ศ. ๒๐๒๕

          ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันที่จะประสานการทำงานระหว่างศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management: AHA Centre) กับองค์การสหประชาชาติเพื่อจัดการภัยพิบัติธรรมชาติและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
          ในประเด็นของการพัฒนาความร่วมมือ ที่ประชุมยังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือแบบพหุภาคีและความเป็นภูมิภาคนิยมในการจัดการปัญหา โดยองค์การสหประชาชาติให้การสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนและความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาค โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค รวมถึงการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย และการป้องกันลัทธินิยมความรุนแรง การพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดการภัยพิบัติ  ตลอดจนเน้นย้ำความสำคัญการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและการระงับข้อพิพาทอย่างสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. ๒๕๒๕ (UN Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) และในตอนท้ายของการประชุมได้กล่าวถึงการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย


แปลและเรียบเรียงจาก: https://asean.org/asean-un-move-forward-achieving-vision-2025-sdgs/

© 2017 Office of the Council of State.