ภาพจาก : http://asean.org
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea: ROK) ได้เน้นย้ำในการเข้าร่วม the 22
nd ASEAN-ROK Dialogue ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล ถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี และยืนยันที่จะต่อพันธสัญญาเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
ในการนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ได้อภิปรายกันในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวม และความห่วงกังวลในภูมิภาคและในระหว่างประเทศ และได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อจัดการปัญหาความท้าทายที่อุบัติขึ้นใหม่ รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคง นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมและยินดีในความก้าวหน้าของความร่วมมืออาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ในช่วงกว่า ๑ ปีที่ผ่านมา และผลลัพธ์ในเชิงบวกของการประชุมผู้นำในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อทำให้มั่นใจได้ถึงประสิทธิผลของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ค.ศ. ๒๐๑๖ - ๒๐๒๐ (Plan of Action 2016-2020) และประเทศสมาชิกอาเซียนได้ชื่นชมในนโยบาย New Southern Policy ที่ริเริ่มขึ้นโดยประธานาธิบดี Moon Jae-in เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งและมีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เน้นย้ำให้การครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ปีที่ ๓๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่จะถึงนี้ ช่วยเพิ่มแรงผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนนี้ได้พัฒนาต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีกิจกรรมเพื่อการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ในภายภาคหน้าด้วย
สำหรับข้อผูกพันทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลียังคงเติบโตขึ้น โดยเห็นได้จากการที่สาธารณรัฐเกาหลียังคงเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ของอาเซียนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ ๔ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะพยายามอย่างแข็งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าแบบสองทิศทาง โดยการพัฒนาการเปิดเสรีของผลิตภัณฑ์ภายใต้กรอบของการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี และผลักดันให้วิสาหกิจขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลางมีบทบาทมากยิ่งขึ้น (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) รวมทั้งดำเนินการผ่านแผนการที่หลากหลาย เช่น การดำเนินการผ่านทางสภาธุรกิจอาเซียน – เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Business Council) เป็นต้น
อนึ่ง ความก้าวหน้าที่สำคัญ ๆ นั้นเป็นผลมาจากความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน อาทิ เกษตรกรรม อาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน สุขภาพ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกันจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการก่อตั้งองค์กรความร่วมมือด้านป่าไม้แห่งเอเชีย (Asian Forest Cooperation Organisation) ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ และด้วยผลสำเร็จจากการเปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ปี ค.ศ. ๒๐๑๗ (ASEAN-ROK Cultural Exchange) จึงได้มีโครงการแลกเปลี่ยนประชาชน (People-to-people exchange) เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดทำการศูนย์อาเซียน–สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN–ROK Centre) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ยังได้นำไปสู่การเปิดตัวศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Culture House) ณ เมืองปูซาน ขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรรมอาเซียนในสาธารณรัฐเกาหลี และความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประชาชน
ในการนี้ อาเซียนชื่นชมและยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลียังคงให้การสนับสนุนความพยายามในการสร้างประชาคมของอาเซียน โดยเฉพาะในการปรับปรุงการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและการลดช่องว่างของการพัฒนา รวมทั้งการสนับสนุนในการเริ่มแผนการทำงานตามข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ระยะที่ ๓ (ASEAN Integration Work Plan III) และการพัฒนาอนุภูมิภาค อาทิ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี อีกทั้งยังได้ชื่นชมและยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนความสามารถและนวัตกรรมของอาเซียน รวมถึง การก่อตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ที่จะเกิดขึ้นปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ด้วย
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในขอบเขตที่กว้างขวางและมีความครอบคลุมในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งทั้งสองฝ่าย ชื่นชมและยินดีในการพัฒนาที่เกิดเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งในการประชุม two Inter-Korean Summits ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และการประชุม United States-Democratic People’s Republic of Korea Summit ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ สิงคโปร์ ซึ่งอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถดำเนินงานตามผลลัพธ์ของการประชุมเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อวางรากฐานการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างระบอบสันติภาพที่มั่นคง ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การลดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีได้อย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่งคง เสรีภาพ และความปลอดภัยของการเดินเรือในทะเลจีนใต้และการบินเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ รวมทั้งการสนับสนุนความพยายามอาเซียนในการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างเต็มที่ และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อจัดการปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย และอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นต้น
แปลและเรียบเรียงจาก : http://asean.org/asean-republic-korea-renew-commitment-strengthen-partnership/