BANNER

อาเซียนผลักดันเรื่องเพศ (Gender) ในยุทธศาสตร์การจัดการภัยพิบัติ


 ข่าวต่างประเทศ      06 Jul 2018

  


ภาพจาก asean.org

               ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management: ACDM) ครั้งที่ ๓๒ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำจากองค์กรการจัดการภัยพิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN National Disaster Management Organizations) ได้มีการประชุมหารือในประเด็นเรื่องสตรีกับการจัดการภัยพิบัติ
                โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมร่วมกันกับการประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ ๘ (Governing Board Meeting of the ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management: AHA Centre) การประชุมคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ครั้งที่ ๙ (9th Joint Task Force Meeting to Promote Synergy with Other Relevant ASEAN Bodies on Humanitarian Assistance and Disaster Relief: JTF on HADR) และการประชุมหุ้นส่วนความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ ๕ (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response : AADMER)
              ในการนี้ Dato’ Seri Dr Wan Azizah binti Wan Ismail รองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียกล่าวเน้นย้ำให้อาเซียนผลักดันความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติทั้งในเชิงปฏิบัติและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน  นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสตรีกับการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงรับรองความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของสตรีในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในระหว่างที่เกิดภัยพิบัติและหลังจากการเกิดภัยพิบัติ
                นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ยอมรับความสำคัญของบทบาทสตรีที่มีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดการตอบโต้ต่อภัยพิบัติ และที่ประชุมตกลงที่จะดำเนินการตามความริเริ่มเกี่ยวกับสตรี สันติภาพ และความมั่นคง รวมถึงสร้างความพยายามในการส่งเสริมเรื่องเพศสภาวะ (Gender) เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งความริเริ่มเหล่านี้จะช่วยยกระดับให้สตรีมีบทบาทหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
              ในการประชุมคณะทำงานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ครั้งที่ ๙ (JTF on HADR) ตัวแทนจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสุขภาพ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาและตัวแทนจากการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิธีการเกี่ยวกับการส่งเสริมการทำงานร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียน โดยที่ประชุมเห็นว่าการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียนจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการตอบโต้ต่อภัยพิบัติที่เกิดขี้น  นอกจากนี้ คณะทำงานร่วมฯ ยืนยันถึงภารกิจของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยเห็นว่าควรบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการจัดการกับภัยพิบัติและการตอบโต้ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้ให้ข้อแนะนำให้มีการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติกับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาด้านสุขภาพเพื่อร่วมกันศึกษาการจัดการกับโรคระบาดในอาเซียนและเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือในการจัดการกับภัยพิบัติและเป็นการตระหนักถึงการบรรเทาภัยพิบัติอย่างยั่นยืนในประชาคมอาเซียน การประชุมหุ้นส่วนความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ ๕  จึงเป็นการประชุมที่รวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders)และหุ้นส่วนของอาเซียนจากหลายภาคส่วน รวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา จีน นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (the International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) องค์กรการกุศล (MapAction) องค์กร Mercy Malaysia หน่วยงานด้านการพัฒนาและความร่วมมือของสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Agency for Development Cooperation) สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs) และศูนย์สาธารณะภัยแปซิฟิค (Pacific Disaster Centre) โดยองค์กรดังกล่าวยืนยันถึงการมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามโครงการของหุ้นส่วนความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อมุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์การตอบโต้ต่อภัยพิบัติของอาเซียนอย่างเป็นหนึ่งเดียว (One ASEAN One Response)


แปลและเรียบเรียงจาก: http://asean.org/asean-mainstream-gender-perspective-disaster-management-strategies/


 

© 2016 Office of the Council of State.