BANNER

อาเซียนเข้าบริหารจัดการสถาบันวิสาหกิจอีเอสเอ็มอี (ESMEs) ออนไลน์ (ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ)


 ข่าวต่างประเทศ      06 Apr 2018

  


                                                                                                                    
                                                                                                                                                                                                                  ภาพจาก  : http://asean.org


                              ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือยูเอสเอด (U.S. Agency for International Development: USAID) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดกลาง[1] (ASEAN Coordinating Committee on Micro, Small and Medium Enterprises: ACCMSME) บริหารจัดการสถาบันวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางแห่งอาเซียน (the ASEAN Small and Medium Enterprises Academy) ผ่านฟิลิปปินส์ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับอาเซียนต่อความพยายามในการส่งเสริมการผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรืออีเอสเอ็มอี (ESMEs) ในอาเซียน
                              อนึ่ง สถาบันวิสาหกิจฯ ได้รับการสนับสนุนโดยอาเซียนและโครงการความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ตลอดจน การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) ที่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ระหว่างองค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา - อาเซียน (US - ASEAN Business Council: USABC) ซึ่งสถาบันวิสาหกิจดังกล่าวนี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้วิสาหกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี (SMEs) แบบออนไลน์ ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบช่วยเหลือตนเองตามอัธยาศัย (self-help and self-paced) และปลอดค่าใช้จ่ายโดยมีการนำเสนอหลักสูตรและข้อมูลในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การเงิน การจัดการ การตลาด และเทคโนโลยีที่ช่วยให้อีเอสเอ็มอีมีความเจริญเติบโตยิ่งขึ้น
                              ในการนี้ นาย Lor Sathya ประธานคณะกรรมการประสานงานฯ ได้กล่าวไว้ทำนองว่า “สถาบันวิสาหกิจฯ แบบออนไลน์นี้ จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่ออีเอสเอ็มอีในอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนให้พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ  โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ และเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและพลวัติของวิสาหกิจขนาดเล็กในระดับภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนของฟิลิปปินส์ เราจะยังคงพัฒนาทรัพยากรที่สำคัญและจะใช้สถาบันวิสาหกิจฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
                              ด้านนาย Jerry T. Clavesillas ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกรมพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งฟิลิปปินส์ (Bureau of Small and Medium Enterprise Development, Department of Trade and Industry of the Philippines: DTI-BSMED) กล่าวในพิธีว่า “เมื่อพิจารณาถึงการเปิดตัวโครงการอาสาสมัครเพื่อผู้ประกอบการอาเซียน[2] (ASEAN Mentorship for Entrepreneurs Network: AMEN) ซึ่งริเริ่มนำร่องร่วมกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) แล้วเห็นว่า การมอบหมายการบริหารจัดการสถาบันวิสาหกิจนี้เกิดขึ้น   ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงควรใช้สถาบันวิสาหกิจแบบออนไลน์นี้อำนวยความสะดวกและปรับปรุงโครงการอาสาสมัครเพื่อผู้ประกอบการอาเซียนในฐานะที่เป็นโครงการให้คำปรึกษาในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของอีเอสเอ็มอีต่อไป”
                              ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาสองเดือน กรมพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งฟิลิปปินส์จะปฏิบัติการและบริหารจัดการสถาบันวิสาหกิจฯ ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในสังกัดสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน และจะเดินหน้ายกปรับปรุงและขยายขอบเขตของสถาบันวิสาหกิจฯ ให้กว้างขึ้นภายใต้การบริการจัดการแบบใหม่
                              ด้านเอกอัครราชทูต Michael W. Michalak กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่สถาบันวิสาหกิจนี้ได้กลายเป็นปัจจัยเชิงบวกและเป็นปัจจัยที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนาอีเอสเอ็มอีของอาเซียน และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการประสานงานฯ อย่างใกล้ชิด ในการส่งเสริมและการขยายขอบเขตของสถาบันวิสาหกิจฯ ยิ่งไปกว่านั้น วิสาหกิจชุมชนของชาวอเมริกายังตกลงที่จะส่งเสริมความเจริญเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของอีเอสเอ็มอีของอาเซียนด้วย”
                              อนึ่ง นอกเหนือจากการพัฒนาสถาบันวิสาหกิจฯ แล้ว โครงการเชื่อมโยงอาเซียนผ่านการค้าและการลงทุนขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา[3] (USAID’s ASEAN Connectivity through Trade and Investment Project: USAID ACTI) ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมเครือข่ายประชาชน  ทั้งจากกัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เป็นจำนวน ๑๙๑ ราย โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีที่เป็นที่ยอมรับ เช่น สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจและการค้า สถาบันการศึกษา และผู้ให้บริการด้านการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน  กำลังผสมผสานการใช้สถาบันวิสาหกิจฯ เข้ากับโครงการฝึกอบรมของตนเอง และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ในวงกว้างสำหรับเอสเอ็มอีระหว่างภูมิภาค
                              ด้านนาง Rebecca Acuña ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาประจำภูมิภาคเอเชีย (USAID Regional Development Mission for Asia: USAID/RDMA) กล่าวว่า “รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสถาบันวิสาหกิจฯ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี (US-ASEAN Business Alliance for Competitive SMEs) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาเซียนจะดำเนินสถาบันวิสาหกิจนี้และพัฒนาการลงทุนต่อไปในอนาคต”
                              ปัจจุบัน สถาบันวิสาหกิจฯ ได้นำเสนอหลักสูตรการเรียนรู้ผ่าน http://www.asean-sme-academy.org ทั้งหมด ๕๒ หลักสูตร และหน่วยระบบสื่อสารอีกจำนวน ๓๖๐ ลิงก์ เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านเอสเอ็มอี ซึ่งในขณะนี้ มีผู้เข้าชมจำนวนกว่า ๕๐,๐๐๐ ราย และเกือบ ๓,๐๐๐ ราย ของผู้เข้าชมจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์เพื่อเข้าถึงข้อมูลความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่บริษัทและผู้นำด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาแบ่งปันในรูปแบบของหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ในที่นี้รวมถึง บริษัทสมาชิกขององค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน อาทิ Baker & McKenzie, Facebook, Google, Mastercard, Microsoft, PayPal, HP Inc, Procter & Gamble และองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เป็นต้น
 
 
 
                              แปลและเรียบเรียงจาก: http://asean.org/asean-manages-online-academy-for-msmes-2/
 
[1] คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ
[2] คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ
[3] คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ

© 2017 Office of the Council of State.