BANNER

การจัดการสารปรอทในประเทศสมาชิกอาเซียน: สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      26 Jan 2018

  


๑. บทนำ
               บทความนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีศึกษาอาเซียนกับการจัดการปรอท ประกอบกับภาพรวมในการปลดปล่อยสารปรอทของภูมิภาคเอเชียออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสถานการณ์การนำเข้าและการส่งออกปรอทในอาเซียนซึ่งบ่งชี้แนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการปลดปล่อย (emissions) และการปล่อย (releases) สารปรอทจากประเทศสมาชิกอาเซียนออกสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องการจัดการสารปรอทในประเทศสมาชิกอาเซียน กรณีศึกษาของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ แล้วนั้น
               ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจึงมุ่งทำการศึกษาถึงระบบการจัดการปรอทภายในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ทั้งที่เป็นกรอบระเบียบและข้อบังคับภายใน กรอบการบริหารของภาครัฐ และการดำเนินการในทางปฏิบัติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งยังไม่เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ 
๒. การจัดการสารปรอทภายในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม
               แม้ว่าประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม จะยังไม่ได้แสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญามินามาตะฯ แต่ทั้งสามประเทศได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (the Basel Convention on the Control of Transboundary Movement of Hazardous Waste and their Disposal) ซึ่งเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญามินามาตะฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบัญชีรายชื่อของเสียที่ถูกควบคุมซึ่งกำหนดไว้ในรายการเอ (List A) ของอนุสัญญาบาเซลฯ ได้กำหนดให้ปรอท (mercury) เป็นของเสียประเภทโลหะ อันเป็นของเสียอันตรายที่จะต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน และจะต้องพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด
               ดังนั้น ทั้งสามประเทศจึงจำต้องมีระบบการจัดการสารปรอทในฐานะที่เป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลฯ ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่าประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม มีระบบการจัดการสารปรอทภายในประเทศ โดยได้มีการตราเป็นกฎหมาย ตลอดจนกำหนดกฎระเบียบ และข้อบังคับ รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
               ๒.๑ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
                     ฟิลิปปินส์ลงนามในอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่ยังไม่ได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์มีระบบการจัดการสารปรอทภายในประเทศ ดังนี้
                     ๒.๑.๑ กรอบระเบียบข้อบังคับ (Regulatory framework)
                     ฟิลิปปินส์จัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอทภายในประเทศ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่สำคัญ คือ
                          (๑) รัฐบัญญัติ ฉบับที่ ๖๙๖๙ (RA 6969) หรือพระราชบัญญัติการควบคุมสสารของเสียอันตรายและของเสียนิวเคลียร์ พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักด้านการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฟิลิปปินส์
                          (๒) คำสั่งทางปกครองของแผนกสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ฉบับที่ ๙๒ – ๒๙ (DAO 92-29) เรื่อง กฎเกณฑ์ด้านการดำเนินการและข้อบังคับแห่งรัฐบัญญัติ ฉบับที่ ๖๙๖๙
                          (๓) คำสั่งทางปกครองของแผนกสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ฉบับที่ ๐๔ – ๓๖ (DAO 04-36) เรื่อง คู่มือสำหรับขั้นตอนในการจัดการของเสียอันตราย
                          (๔) คำสั่งทางปกครองของแผนกสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ฉบับที่ ๒๐๑๓ - ๒๒ (DAO 2013-22) เรื่อง กระบวนการและมาตรฐานสำหรับการจัดการของเสียอันตราย (ฉบับปรับปรุง)ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะสำหรับการจัดการของเสียอันตรายที่ครอบคลุมไปถึงของเสียปรอทในฟิลิปปินส์
                          (๕) คำสั่งทางปกครองฯ ฉบับที่ ๑๙๙๗ - ๓๘ ว่าด้วยเรื่องการควบคุมสารเคมี สำหรับปรอทและสารประกอบปรอท โดยมาตรา ๗ เป็นข้อบังคับที่มีขึ้นเพื่อลดการใช้สารปรอท
                          (๖) คำสั่งของฝ่ายบริหาร ฉบับที่ ๗๙ พ.ศ. ๒๕๕๕ ว่าด้วยเรื่องมาตรการในการปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมการทำเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็ก โดยมาตรา ๑๑ ได้กำหนดถึงพื้นฐานการกำจัดปรอทออกจากกิจกรรมเหมืองแร่และในกระบวนการผลิตแร่
                     โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับแยกความแตกต่างระหว่างปรอทที่เป็นบริภัณฑ์กับปรอทที่เป็นของเสีย ตลอดจนกำหนดให้ปรอทและสารประกอบปรอท รวมทั้งของเสียทั้งหมดจากการวิเคราะห์สารสกัดที่มีความเข้มข้นของปรอทสูงกว่า ๐.๑ มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งระบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกับระบบการจำแนกประเภทของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลฯ ที่ฟิลิปปินส์เป็นภาคี  
                     นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียอันตรายในประเทศฟิลิปปินส์จะต้องขึ้นทะเบียน และกำหนดให้เครื่องมือที่มีไว้สำหรับจัดการของเสียอันตรายนั้นต้องได้รับการอนุญาตและผ่านการตรวจสอบ
                     ในกรณีของการนำเข้าและการส่งออกของเสียอันตรายนั้น ได้มีการบัญญัติข้อกำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาบาเซลฯ ที่ห้ามมิให้ภาคีนำเข้าของเสียอันตรายเพื่อกำจัดในขั้นตอนสุดท้าย ห้ามหรือไม่ให้อนุญาตให้มีการส่องออกของเสียอันตรายไปยังภาคีที่มีการห้ามนำเข้าของเสียอันตรายนั้น และห้ามหรือไม่ให้มีการอนุญาตให้ส่งออกของเสียอันตรายที่ไม่ได้มีการห้ามเป็นการเฉพาะโดยประเทศ ผู้นำเข้า หากการนำเข้านั้นไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน  ดังนั้น ฟิลิปปินส์จึงได้กำหนดเงื่อนไขกระบวนการของการนำเข้าและส่งออกวัตถุที่มีวัตถุหรือสารซึ่งมีความเป็นอันตรายเป็นองค์ประกอบที่สามารถนำมาแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้
                     นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้กำหนดกรอบระยะเวลาสำหรับการขจัดปรอทหรือเลิก  การใช้ปรอทในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เทอร์มอมิเตอร์ (ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒) และเครื่องวัดความดันโลหิต (ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองฯ ฉบับที่ ๒๐๐๘ - ๐๐๒๑ ซึ่งได้นำมาสู่การพัฒนาแนวทางการกำหนดสถานที่กักเก็บปรอทในอุณภูมิที่เหมาะสม ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานและการกักเก็บจำเฉพาะ (Specific storage)
                     สำหรับเครื่องมือในการจัดการของเสียอันตรายในประเทศฟิลิปปินส์นั้น กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตจำเพาะ โดยขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของเครื่องมือและปริมาณขยะ
                     ทั้งนี้ ยังไม่พบข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจัดการพื้นปนเปื้อนสารปรอทในฟิลิปปินส์
                     ๒.๑.๒ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework)
                     กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (the Department of Environment and Natural Resources: DENR) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และโครงการสำหรับการควบคุมสารเคมีและของเสียอันตรายในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์จะประสบความสำเร็จด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
                     สำนักงานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (The Environmental Management Bureau: EMB) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายของกรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยเล็งเห็นว่าการจัดการของเสียอันตรายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการด้านการวางแผนอุตสาหกรรม จึงต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคุ้มครองระบบนิเวศ ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ของสำนักงานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเดินหน้าเพื่อจัดให้มี   ข้อมูลฐาน (baseline information) ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานด้านการจัดการของเสียอันตราย การเฝ้าสังเกตุการณ์หรือติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อม และการกำหนดกฎเกณฑ์ของการกำจัดของเสียอันตรายได้ในที่สุด อีกทั้ง ยังมีหน้าที่ในการคุ้มครอง การฟื้นฟู และการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน บูรณภาพทางสิ่งแวดล้อม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอีกด้วย
                     ๒.๑.๓ กระบวนการจัดการของเสียปรอท
                     ฟิลิปปินส์มีกระบวนการจัดการของเสียปรอท ดังนี้
                          (๑) ของเสียปรอทจะถูกพิจารณาว่าเป็นของเสียอันตรายหมายเลข D407 หรือ M506 หรือ M507
                          (๒) ผู้ผลิตหรือผู้ขนส่ง รวมทั้งเครื่องมือในการบำบัด การกักเก็บ และการกำจัดของเสียปรอทนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนผ่าน www.philhazwastetracksys.com ก่อน  จึงจะสามารถดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้
                          (๓) การขนย้ายของเสียปรอทจากโรงงานหรือจากเครื่องมือของผู้ผลิตไปยังเครื่องมือในการบำบัด การกักเก็บ และการกำจัด ต้องมีใบอนุญาตขนส่งและถูกกำกับโดยบัญชีขนส่ง
                          (๔) การส่งออกของเสียปรอทต้องเป็นไปตามพิธีการขาออก (export clearance) และปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งเตือนภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ
                     ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หลักการของการจัดการของเสียอันตรายของฟิลิปปินส์ เป็นการกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียเป็นผู้รับผิดชอบในการกักเก็บ การบำบัด จนกระทั่งขยะของเสียเหล่านั้นถูกกำจัดไปด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกำหนดให้รับผิดชอบในกรณีเกิดการรั่วไหลหรือมีการกำจัดของเสียนั้นอย่างผิดกฎหมาย
                     ทั้งนี้ สำหรับขยะของเสียบางชนิดที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ด้วยเครื่องมือในการบำบัด การกักเก็บ และการกำจัดภายในท้องถิ่นนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้สามารถเลือกวิธีการส่งออกไปเพื่อจัดการยังประเทศอื่นได้  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐบัญญัติและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาบาเซลฯ
               ๒.๒ สหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia)
                     มาเลเซียลงนามในอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญามินามาตะฯ  อย่างไรก็ดี มาเลเซียมีระบบการจัดการสารปรอทภายในประเทศ ดังนี้
                     ๒.๒.๑ กรอบระเบียบข้อบังคับ (Regulatory framework)
                     มาเลเซียจัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอทภายในประเทศ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่สำคัญ คือ
                          (๑) พระราชบัญญัติคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๑๗ (the Environmental Quality Act 1974: EQA) เป็นบทบัญญัติพื้นฐานในการกำหนดระดับมลพิษซึ่งเป็นที่ยอมรับได้
                          (๒) ข้อบังคับว่าด้วยคุณภาพสิ่งแวดล้อม เรื่อง บัญชีรายชื่อของเสีย พ.ศ. ๒๕๔๘ (the Environment Quality (Scheduled Waste) Regulations of 2005)
                          (๓) ประกาศกรมสิ่งแวดล้อม (Department of Environment: DOE) พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่าด้วยเรื่อง การนำเข้า การส่งออก และการครอบครองของเสียอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) เข้ามาในประเทศ
                          (๔) คำสั่งกรมศุลกากร เรื่อง ข้อห้ามสำหรับการส่งออก พ.ศ. ๒๕๕๑ (Customs (Prohibition of Export) Order, 2008) และคำสั่งกรมศุลกากร เรื่อง ข้อห้ามสำหรับการนำเข้า พ.ศ. ๒๕๕๑ (Customs (Prohibition of Import) Order, 2008) ซึ่งบังคับใช้โดยกรมศุลกากร โดยอาศัยร่วมมือกับกรมสิ่งแวดล้อม เพื่อห้ามการนำเข้าและการส่งออกของเสียอันตราย รวมทั้งของเสียปรอท 
                     ทั้งนี้ กฎหมาย และกฎระเบียบของมาเลเซีย ได้กำหนดราชชื่อของเสีย ซึ่งรวมถึงปรอทไว้ โดยห้ามผู้ที่ครอบครองของเสียตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวนั้น วาง สะสม หรือทิ้งของเสีย หรืออนุญาตให้มีการวาง สะสม หรือทิ้งของเสียประเภทใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อของเสียที่กำหนดลงในดินหรือแหล่งน้ำภายในประเทศมาเลเซีย  อีกทั้ง จะต้องกำจัดของเสียดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
                          ก. การควบคุมการก่อให้เกิดขยะของเสียโดยใช้ระบบการแจ้งเตือน
                          ข. ระบบการออกใบอนุญาตสำหรับเครื่องมือในจัดการของเสียอันตราย
                          ค. การบำบัดและการกำจัดของเสียอันตรายในบริเวณสถานที่กำหนด และ
                          ง. การดำเนินการของระบบการติดตามและการควบคุมการเคลื่อนที่ของขยะของเสีย
                     นอกจากนี้ มาเลเซียยังการควบคุมการนำเข้า การส่งออก และการส่งผ่านขยะของเสียไว้เป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะนำเข้าและส่งออกของเสียอันตราย รวมทั้งของเสียปรอทจะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากกรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานระดับชาติและผู้มีอำนาจตามกฎหมายของมาเลเซียในการดำเนินงานตามอนุสัญญาบาเซลฯ ก่อนที่จะดำเนินการนำเข้าหรือส่งออกของเสียนั้น
                     สำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทนั้น มีการกำหนดแนวทางการควบคุมและการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนทางบกใน ๓ ระดับ กล่าวคือ
                          ระดับที่ ๑ คือ ระดับการคัดกรองพื้นที่ที่ถูกเสนอให้เป็นพื้นที่ปนเปื้อนของมาเลเซีย
                          ระดับที่ ๒ คือ การประเมินและการรายงานพื้นที่ปนเปื้อน
                          ระดับที่ ๓ คือ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน 
                     แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ระบุแจ้งชัดว่าพื้นที่ใดบ้างที่เป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารประกอบของสารปรอทในมาเลเซีย
                     ๒.๒.๒ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework)
                     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจในการออกระเบียบเพื่อกำหนดสภาพที่เป็นที่ยอมรับได้สำหรับการปล่อย การระบาย หรือการสะสมของสาร สารมลพิษ และของเสียซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่หรือในสภาพทางสิ่งแวดล้อมใด และอาจกำหนดห้ามหรือจำกัดการปล่อย การระบาย หรือการสะสมสารซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หรือสภาพทางสิ่งแวดเช่นว่านั้นก็ได้
                     กรมสิ่งแวดล้อม (DOE) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (the Ministry of Science, Technology and Environment: MOSTE) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับของเสียอันตราย เพื่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสหภาพ (federal level) และยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่ร่วมดำเนินการเพื่อการจัดการของเสียอันตรายด้วย อาทิ กระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น (The Ministry of Housing and Local Government: MHLG) ที่รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะ ซึ่งรวมถึงของเสียอันตรายในระดับท้องถิ่น  ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านนโยบาย กลไก และแผนงานด้านการจัดการขยะ จึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสวัสดิภาพชุมชนเมือง การเคหะ และการปกครองส่วนท้องถิ่น (the Ministry of Urban Well Being, Housing & Local Government) ซึ่งมีส่วนร่วมโดยทางอ้อมในการบริหารจัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอท ด้วยการรวบรวมและบำบัดขยะมูลฝอยในประเทศในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นต้น
                     ๒.๒.๓ กระบวนการจัดการของเสียปรอท
                     มาเลเซียมีกระบวนการในการจัดการของเสียปรอทดังนี้ ผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียอันตรายจะต้องแจ้งให้กรมสิ่งแวดล้อมทราบถึงชนิด และปริมาณของของเสียอันตรายที่เกิดขึ้น  อีกทั้ง ยังมีหน้าที่ในการลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด โดยขยะของเสียจะต้องถูกเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม มีการติดฉลากอย่างถูกต้องเหมาะสม และกักเก็บขยะของเสียนั้นไว้ในพื้นที่หรือสถานที่กำหนด  ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาจต้องฟื้นฟูสภาพและบำบัดขยะของเสียในสถานที่ของตนอีกด้วย
                     ในกรณีที่ผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียอันตรายไม่สามารถฟื้นฟูสภาพหรือบำบัดขยะของเสียของตนได้ อาจส่งหรือเคลื่อนย้ายขยะของเสียนั้นผ่านผู้ขนส่งที่ได้รับอนุญาตจากกรมสิ่งแวดล้อม (ใบอนุญาตจะระบุถึงประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับชนิดของขยะของเสีย) เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพหรือจัดการด้วยเครื่องมือในการบำบัด การกักเก็บ และการจำกัด (TSD) ที่ได้รับอนุญาต
                     นอกจากนี้ ผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียอันตรายจะต้องตรวจสอบและทำให้มั่นใจได้ว่าขยะของเสียที่ถูกเคลื่อนย้ายไปนั้น ได้ไปถึงปลายทางที่ได้รับอนุญาตและถูกเก็บไว้จนกระทั่งวันที่ขยะของเสียนั้น ถูกบำบัดและถูกกำจัดออกไป
                     อนึ่ง มาเลเซีย ได้ระบุขั้นตอนสำหรับการจัดการของเสียปรอทของตนเองไว้ ดังนี้
                          (๑) การแปรสภาพนำกลับมาใช้ใหม่
                          (๒) แผนการรับคืน
                          (๓) การฟื้นฟูสภาพ
                          (๔) การสกัด
                          (๕) กระบวนการปรับเสถียรและการทำให้แข็งตัว  (S/S)
                     ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มาเลเซียได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการด้านสารปรอทแห่งชาติ (a National Steering Commitee on Mercury) เพื่อจัดการปรอทโดยเฉพาะ
                     ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แจ้งชัดเกี่ยวกับการเลิกการใช้สารปรอทในประเทศมาเลเซีย แต่มีรายงานเบื้องต้นว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้หยุดการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีปรอทมาใช้ในโรงพยาบาลรัฐและในเครื่องมือแพทย์ โดยโรงพยาบาลทั้งที่เป็นของเอกชนและของรัฐบาล รวมไปถึงสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยได้ให้ความร่วมมือ ถือเป็นการริเริ่มดำเนินการที่แสดงเจตนารมณ์ที่ดีและเป็นบทบาทที่สอดคล้องกับการลงนามอนุสัญญามินามาตะฯ ของมาเลเซีย
                     ในเรื่องของเครื่องมือในการจัดสารปรอทในมาเลเซียนั้น พบว่ามีเครื่องมือในการฟื้นฟูสภาพอยู่จำนวนอย่างน้อย ๓๓๓ เครื่อง เครื่องมือในการบำบัดจำนวน ๔๓ เครื่อง และเครื่องมือสำหรับเผาไหม้จำนวน ๓๙ เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ฝังกลับที่ปลอดภัยอีกจำนวน ๖ แห่งด้วยกัน 
               ๒.๓ บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam) 
                     บรูไนไม่ได้ลงนามในอนุสัญญามินามาตะฯ และยังไม่ได้ยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว จึงยังไม่ได้มีการกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการสารปรอท เป็นการเฉพาะ  อย่างไรก็ตาม บรูไนได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ จึงทำให้มีการกำหนดระบบการจัดการของเสียอันตราย ซึ่งอาจนำมาใช้ในการจัดการสารปรอทได้  ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญของการจัดการของเสียอันตรายของบรูไนได้ ดังนี้
                     ๒.๓.๑ กรอบระเบียบข้อบังคับ (Regulatory framework)
                     ประเทศบรูไนยังไม่มีกฎหมายสำหรับการจัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอทเป็นการเฉพาะ มีก็แต่เพียงแนวปฏิบัติที่อาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการสารปรอทภายในประเทศได้ เช่น แนวทางสำหรับการควบคุมมลพิษว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม (the Pollution Control Guidelines on Industrial Development) และร่างคำสั่งทางสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยการจัดการของเสียอันตรายในเบื้องต้นให้อยู่ภายใต้พื้นฐานแห่งพระราชบัญญัติสารพิษ (the Poison Act Regulation)
                     ปัจจุบัน บรูไนไม่ได้กำหนดคำจำกัดความและระบบการจำแนกประเภทของเสียปรอทไว้ แต่ได้ยอมรับเอาหลักเกณฑ์ในการกำหนดลักษณะเฉพาะและการจำแนกประเภทของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงของเสียปรอทตามที่ระบุไว้ในภาคผนวก ๑ และภาคผนวก ๘ ของอนุสัญญาบาเซลฯ มาใช้ในฐานะภาคีอนุสัญญาดังกล่าว
                     นอกจากนี้ บรูไนยังไม่มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตหรือแหล่งกำเนิดของเสียอันตราย และยังไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบภายในประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการนำเครื่องมือ ในการฟื้นฟูสภาพ การบำบัด และการกำจัดของเสียอันตรายและของเสียปรอทมาใช้ภายในประเทศแต่อย่างใด
                     อย่างไรก็ดี ของเสียอันตรายส่วนมากจะถูกส่งออกไปโดยผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียอันตรายนั้น เพื่อทำการฟื้นฟู บำบัด หรือกำจัด อันเป็นเรื่องของการเคลื่อนย้ายข้ามแดนซึ่งของเสียอันตราย จึงอยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งว่าด้วยเรื่องของเสียอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อง การควบคุมการนำเข้า การส่งออก และการส่งผ่าน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีที่มีอยู่ตามอนุสัญญาบาเซลฯ
                     อนึ่ง กฎหมายของประเทศบรูไนไม่ได้บังคับให้เลิกการผลิตปรอท การทำเหมืองแร่ปรอท และการใช้ปรอทในผลิตภัณฑ์และกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ภายในประเทศ และยังไม่มีกฎหมายหลักที่ใช้ในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทในบรูไนที่แจ้งชัดอีกด้วย
                     ๒.๓.๒ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework)
                     กรมสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะ และการสันทนาการ (the Department of Environment, Parks and Recreation) ภายใต้กระทรวงการพัฒนา (the Ministry of Development)  เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานระดับชาติและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินงานตามอนุสัญญาบาเซลฯ
                     นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตราย โดยทำงานร่วมกับกรมพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Department) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการในส่วนของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ และยังทำงานร่วมกับกรมศุลกากร กระทรวงสาธารณะสุข และกระทรวงศึกษาธิการ อีกด้วย
                     ๒.๓.๓ กระบวนการจัดการของเสียปรอท
                     ภาพรวมของกระบวนการจัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอทในบรูไนที่สำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ก่อให้เกิดของเสียอันตรายอันเป็นแหล่งกำเนิดของเสียอันตราย รวมถึงของเสียปรอทนั้นต้องทำการบำบัดและกำจัดของเสียอันตรายของตนด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามอนุสัญญาบาเซลฯ โดยอาจประสานความร่วมมือหรือติดต่อผู้ให้บริการด้านการจัดการของเสียที่ได้รับอนุญาต เพื่อทำการบำบัดและกำจัดของเสียอันตรายนั้นแทน และให้บันทึกข้อมูลการกักเก็บ ตลอดจน การกำจัดของเสียอันตรายอย่างถูกต้องเหมาะสมไว้ด้วย เช่น กรณีของแหล่งกำเนิดของเสียอุตสาหกรรมในบรูไนที่ส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไปแล้วของเสียที่เกิดขึ้นนี้จะถูกบำบัดโดยโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ๆ เอง  อย่างไรก็ดี ยังมีของเสียเคมีบางชนิดที่อาจต้องส่งออกไปกำจัดในประเทศอื่น ที่ได้รับการอนุญาตตามขั้นตอนที่สอดคล้องกับอนุสัญญาบาเซลฯ 
                     บรูไนยังไม่มีเครื่องมือในการจัดการสารปรอท และยังขาดแคลนบุคลากร กำลังคน ตลอดจนแรงงานที่มีทักษะหรือความชำนาญที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการกำจัดของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๕๕ นั้นอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาศูนย์บำบัดและกำจัดของเสียอันตรายของบรูไน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรให้สสารที่เป็นพิษถูกขจัดหรือกำจัดออกไปจากบรูไน และจะทำอย่างไรจึงจะสามารถควบคุมการนำเข้าสสารที่เป็นพิษจากต่างประเทศมายังบรูไนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. บทสรุป
               จากการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ และระบบการจัดการสารปรอทในกรณีตัวอย่างของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ทั้งสามประเทศ เห็นได้ว่าทั้งสามประเทศมีบทบาทด้านการจัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอทที่แตกต่างกัน โดยประเทศฟิลิปปินส์และประเทศมาเลเซียซึ่งได้ลงนามในอนุสัญญามินามาตะฯ แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นประเทศที่แม้จะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แต่ค่อนข้างมีความพร้อมด้านกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการสารปรอทและของเสียที่มีปรอทภายในประเทศที่อาจเพียงพอต่อการรองรับพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ได้บางส่วนอยู่แล้ว และในอนาคตหากทั้งสองประเทศนี้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาก็สามารถดำเนินการทางบริหารเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ ได้ ส่วนบรูไนดารุสซาลามนั้น ไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบหรือข้อบังคับใด ๆ สำหรับการจัดการสารปรอทและของเสียที่มีปรอทเป็นการเฉพาะ มีก็แต่เพียงแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการของเสียอันตรายอยู่เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้ระบุถึงการจัดการของสารปรอทไว้เฉพาะเจาะจงเช่นกัน จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บรูไนดารุสซาลามเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ได้ลงนามอนุสัญญามินามาตะฯ ภายในกำหนดระยะเวลาและยังไม่ได้ภาคยานุวัติอนุสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด
               อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศต่างเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ  ซึ่งกำหนดให้ของเสียที่มีปรอทเป็นหนึ่งในของเสียอันตรายที่ถูกควบคุมและจัดการด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกประเทศต่างมีกรอบระเบียบข้อบังคับเรื่องการจัดการของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลฯ เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการจัดการของเสียอันตรายและของเสียปรอท  ดังนั้น แม้ยังมีประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ก็สามารถนำหลักการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ไปปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ในเบื้องต้น โดยอาศัยความร่วมมืออาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ ทั้งสามด้านได้
               อนึ่ง ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ แล้วควรร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในอาเซียนที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ได้เตรียมความพร้อมและเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวครบทุกประเทศในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีระบบการจัดการสารปรอทที่เฉพาะเจาะจง มีความเข้มแข็ง และเป็นมาตรฐานเดียวกัน อันจะทำให้ประชาชนชาวอาเซียนได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ตลอดจนส่งผลดีต่อประชาคมโลกและสิ่งแวดล้อมโลกด้วย
 
 

***ข้อมูลต่าง ๆ มีแหล่งที่มาสำหรับใช้ในการอ้างอิง โปรดดูรายการอ้างอิงจากไฟล์ PDF.                      

© 2016 Office of the Council of State.