BANNER

อาเซียนกับการจัดการปรอท (๒)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      29 Dec 2017

  


๔. อาเซียนกับมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท
                ๔.๑ อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ กับมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท
                ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เกิดอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (the Minamata Convention on Mercury, 2013) ขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดความหวังและความเชื่อมั่นว่าประชาคมโลกจะได้ร่วมมือกันแก้ไขและจัดการกับปัญหามลพิษปรอทในสิ่งแวดล้อม โดยอนุสัญญานี้กำหนดให้มีการควบคุม ลด และเลิกการใช้ การปลดปล่อยและการปล่อยสารปรอทสู่บรรยากาศ แหล่งน้ำ และดิน ให้เหลือปริมาณที่น้อยที่สุด จนไม่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด
               อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ เป็นผลของการบรรลุข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme Governing Council: UNEP GC) ที่มุ่งต่อการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อย (emissions) และการปล่อย (releases) สารปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำและดิน และมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อ “การลดความเสี่ยง” โดยการจัดการเพื่อควบคุม ลด และเลิกการใช้ปรอท การปล่อยและการปลดปล่อยสารปรอทจากแหล่งกำเนิด  กล่าวคือ แหล่งอุปทานปรอทและการค้า ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ใช้สารปรอท การทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านขนาดเล็ก ตลอดจนการกักเก็บและการจำกัดปรอทและของเสียปรอท และการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนปรอท โดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้ภาคีเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปรอทและกระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา
                นอกจากนี้ อนุสัญญามินามาตะฯ ยังมุ่งเน้นในการเสริมสร้างความตระหนักถึงการศึกษาวิจัย การติดตามตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เทคนิควิชาการ และเทคโนโลยีโดยประกอบด้วยข้อบทแห่งอนุสัญญาจำนวน ๓๕ ข้อ และ ๕ ภาคผนวก
               อนุสัญญามินามาตะฯ ได้รับการรับรอง (adopting) และเปิดให้มีการลงนาม (signature) ในการประชุมผู้มีอำนาจเต็มด้านอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Conferenceof Plenipotentiaries on the Minamata Convention on Mercury) ตั้งแต่วันที่ ๑๐ - ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ นครนิวยอร์ก โดยมีรัฐและองค์การเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional economic integration organizations) ร่วมลงนามอนุสัญญารวมทั้งสิ้น ๑๒๘ ประเทศ และปัจจุบันมีรัฐและองค์การเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามอนุสัญญานี้ (establishes its consent to be bound by a treaty) แล้วรวมทั้งสิ้น ๘๕ ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
                ทั้งนี้ ปัจจุบันอนุสัญญามินามาตะฯ มีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
อย่างไรก็ดี เนื่องจากอนุสัญญามินามาตะ ฯ ได้ยอมรับถึงกิจกรรมขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปรอทและบทบาทของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาบาเซลฯ และอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ด้วย และเมื่อศึกษาสาระสำคัญของความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศตามอนุสัญญาต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าพันธกรณีของอนุสัญญาต่าง ๆ ข้างต้น กับพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ มีความเชื่อมโยงหรือสอดคล้องกัน โดยมีรายละเอียดซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้
                ๔.๑.๑ อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ กับอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย ค.ศ. ๑๙๘๙
                       (๑) สาระสำคัญของอนุสัญญาบาเซลฯ ที่เกี่ยวกับการจัดการปรอท
                        อนุสัญญาบาเซลฯ มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากของเสียอันตราย ๓ ประการ คือ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนให้น้อยที่สุด เพื่อบำบัดและกำจัดของเสียอันตรายที่แหล่งกำเนิดให้ได้มากที่สุด และลดการก่อกำเนิดของเสียอันตรายทั้งในเชิงปริมาณและความเป็นอันตรายโดยการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลักการสำคัญของอนุสัญญาบาเซล ฯ ประกอบด้วย มาตรการด้านกฎหมายในการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสีย และเครื่องมือหรือกลไกการจัดการของเสียอันตรายให้อยู่ในระดับสากล โดยมีข้อบทรวม ๒๙ ข้อ กับ ๙ ภาคผนวก อนุสัญญาบาเซลฯ มุ่งเน้นต่อควบคุมการขนส่งเคลื่อนย้ายกากสารเคมีประเภทต่าง ๆ ซึ่งเดิมได้กำหนดบัญชีรายชื่อของเสียที่ควบคุมเพียง ๔๗ ชนิด แต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขและจัดกลุ่มใหม่เป็นรายการ เอ (List A) ซึ่งมี ๖๑ ชนิด ที่ถูกห้ามมิให้มีการขนส่งเคลื่อนย้ายจากประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Non OECD) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๘    (พ.ศ. ๒๕๔๑) เป็นต้นมา ส่วนบัญชีรายชื่อของเสียในรายการ บี (List B) ซึ่งเป็นของเสียไม่อันตรายนั้นได้รับการยกเว้นให้มีการเคลื่อนย้ายเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือใช้ใหม่ได้
                        นอกจากนี้ ของเสียที่ถูกควบคุมภายใต้อนุสัญญานี้ยังรวมถึงของเสียอื่นซึ่งมีลักษณะตามภาคผนวก ๓ และของเสียที่ภาคีสมาชิกกำหนดห้ามนำเข้ามาภายในประเทศของตน    เพิ่มจากที่กำหนดไว้เดิมก็ได้
โดยอนุสัญญาบาเซลฯ จะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกหรือนำเข้าของเสียอันตรายจากประเทศที่มิได้เป็นภาคี เว้นแต่จะทำความตกลงทวิภาคีและจะต้องให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการจัดการของเสียอันตรายที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
                         อนึ่ง อนุสัญญาบาเซลฯ มิได้เป็นเพียงมาตรการด้านกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือและกลไกที่ทำให้เกิดการพัฒนาการจัดการของเสียอันตรายของภาคีให้อยู่ในระดับสากลและควบคุมการค้ากากของเสียอันตรายให้เป็นระบบมากขึ้น ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากของเสียอันตรายด้วย
                   (๒) ความเชื่อมโยงกับอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓
                         ตามที่กล่าวมาแล้วว่าอนุสัญญามินามาตะฯ นั้น ยอมรับถึงกิจกรรมในการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปรอทและบทบาทของอนุสัญญาบาเซลฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญามินามาตะฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีรายชื่อของเสียที่ควบคุมซึ่งอนุสัญญาบาเซลฯ กำหนดไว้ในรายการเอ (List A) ทั้งหมด ๖๑ ชนิด ได้กำหนดให้ปรอท (Mercury) เป็นของเสียประเภทโลหะที่จะต้องถูกควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน และจะต้องพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด รวมทั้งการปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ โดยมุ่งเน้นการจำกัดการเกิดของเสียอันตรายและของเสียอื่นให้มากที่สุด การติดตามตรวจสอบผลกระทบของการจัดการของเสียอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาแนวทางหรือหลักปฏิบัติทางวิชาการที่เหมาะสม
                นอกจากนี้ อนุสัญญามินามาตะฯ ยังได้กำหนดให้บังคับใช้อนุสัญญานี้โดยคำนึงถึงคำนิยามและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามอนุสัญญาบาเซลฯ ที่สำคัญดังนี้
                ข้อ ๑๐ ของอนุสัญญามินามาตะฯ ว่าด้วยเรื่องการกักเก็บชั่วคราวของปรอทที่ไม่ใช่ของเสียปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally sound interim storage of mercury, other than waste mercury) กำหนดให้ที่ประชุมภาคีรับรองแนวทางการกักเก็บชั่วคราวของปรอทและสารประกอบปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงแนวทางที่เกี่ยวข้องใด ๆที่ได้รับการพัฒนาภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ และแนวทางที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ที่ประชุมภาคีอาจรับรองข้อกำหนดสำหรับกักเก็บชั่วคราวเป็นภาคผนวกเพิ่มเติมของอนุสัญญานี้ตามข้อ ๒๗ ของอนุสัญญาฯ
                ข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องของเสียปรอท (Mercury wastes) กำหนดให้นำคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาบาเซลฯ มาประยุกต์ใช้กับของเสีย (wastes) ภายใต้อนุสัญญามินามาตะฯ กับภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ โดยให้ภาคีที่ไม่ใช่ภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ ใช้คำนิยามเหล่านั้นเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับของเสียภายใต้อนุสัญญามินามาตะฯ ด้วย
                โดยวรรคสองของข้อ ๑๑ ได้กำหนดนิยามของ “ของเสียปรอท” ไว้ หมายถึง สารหรือวัตถุที่ประกอบด้วยปรอทหรือสารประกอบปรอท มีการเติมปรอทหรือสารประกอบปรอท หรือปนเปื้อนปรอทหรือสารประกอบปรอท ในปริมาณที่สูงกว่าระดับที่จะรับได้ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดโดยที่ประชุมภาคี ที่ถูกกำจัดหรือมีเจตนาที่จะกำจัด หรือต้องกำจัดโดยบทบัญญัติของกฎหมายแห่งชาติหรือโดยอนุสัญญามินามาตะฯ นี้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ในลักษณะที่สอดคล้องกัน และให้แต่ละภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้ของเสียปรอทได้รับการจัดการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงแนวทางที่พัฒนาภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ และสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ที่ประชุมภาคีได้รับรองไว้ในภาคผนวกตามข้อ ๒๗ และต้องไม่ถูกขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ เว้นแต่มีความมุ่งประสงค์ในการกำจัดอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับข้อนี้และอนุสัญญาบาเซลฯ สำหรับภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ ในกรณีที่อนุสัญญาบาเซลฯ ไม่สามารถนำมาใช้กับการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศได้ ภาคีต้องอนุญาตให้มีการขนส่งของเสียได้ เมื่อได้คำนึงถึงกฎ มาตรฐาน และแนวทางระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องแล้วเท่านั้น
                ทั้งนี้ ให้ที่ประชุมภาคีแสวงหาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาบาเซลฯ ในการทบทวน และปรับปรุงแนวทางให้ทันสมัยตามสมควรของแนวทางตามที่ระบุไว้ ในข้อ ๑๑ วรรคสาม (เอ) เป็นหลักเกี่ยวข้องสำคัญ
                ๔.๑.๒ อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ กับอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. ๑๙๙๘
                        (๑) สาระสำคัญของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ที่เกี่ยวกับการจัดการปรอท
                         อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ เป็นสนธิสัญญาเพื่อการควบคุมการนำเข้าและการส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดและสูตรผสมของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง โดยเปิดให้ลงนามครั้งแรกที่เมืองรอตเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา
                        โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (the Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้กำหนดรายชื่อสารเคมีที่ถูกควบคุมภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ที่เป็นสารเคมีต้องห้ามหรือสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ๔๓ ชนิด (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๔) ได้แก่ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticides) จำนวน ๒๘ ชนิด สูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticide formulations) ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงจำนวน ๔ ชนิด และสารเคมีอุตสาหกรรม (industrial chemicals) อีกจำนวน ๑๑ ชนิด
                         อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การส่งเสริมความร่วมมือและรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายบางชนิด เพื่อคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี และเพื่อส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการแจ้งหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของสารเคมีแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจของรัฐ ได้ทราบถึงการนำเข้าและส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดและสูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงและให้มีการกระจายข่าวการตัดสินใจนี้แก่ภาคีสมาชิก
                         (๒) ความเชื่อมโยงกับอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓
                         เนื่องจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticides) ทั้งหมด ๒๘ ชนิด ที่อยู่ภายใต้การควบคุมการนำเข้าและการส่งออกด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้า สำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ได้กำหนดให้สารประกอบปรอท (mercury compounds) รวมทั้งสารประกอบปรอทอนินทรีย์ (inorganic mercury compounds) สารประกอบอัลคิลของปรอท (alkyl mercury compounds) และสารประกอบอัลคิลอคซี่ อัลคิลและอริลของปรอท (alkyloxy alkyl and aryl mercury compounds) จัดอยู่ในสารเคมีลำดับที่ ๒๐ ที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ
                        นอกจากนี้ อนุสัญญามินามาตะฯ ยังได้กำหนดให้รัฐภาคีใช้บังคับอนุสัญญานี้ โดยคำนึงถึงกิจกรรมขององค์การอนามัยโลกในการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปรอทและบทบาทของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วย
                        ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นได้ว่า ทั้งอนุสัญญาบาเซลฯ และอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ต่างมีความเชื่อมโยงและกำหนดมาตรการที่สอดคล้องกับอนุสัญญามินามาตะฯ ในส่วน ที่เกี่ยวกับการจัดการปรอทและสารประกอบปรอทภายใต้มาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงหลักการและการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกัน และมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากปรอทและสารประกอบปรอทเช่นเดียวกัน
                         ๔.๒ บทบาทอาเซียนด้านการจัดการปรอท
                         ในประเด็นของสิ่งแวดล้อมนั้น อาเซียนได้มีการดำเนินมาตรการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการหรือกิจกรรมภายในประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศเองหรือจะเป็นมาตรการหรือกิจกรรมที่ปรากฏออกมาในลักษณะของความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง ๗ คณะก็ตาม มาตรการ และกิจกรรมเหล่านี้ต่างก็แสดงออกถึงการตระหนักถึงและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยและการปล่อยปรอทและสารประกอบปรอทสู่บรรยากาศ ดิน และน้ำ ตามอนุสัญญามินามาตะฯ ทั้งสิ้น โดยมีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้
                         ๔.๒.๑ การประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (ASEAN Working Group on Coastal and Marine Environment: AWGCME) ได้ให้การรับรองข้อเสนอระบบการขนส่งเคลื่อนย้ายและกำจัดของเสีย (Manifest System) เพื่อส่งเสริมกลไกอาเซียนในการเฝ้าระวังและติดตามการล้างและการจัดการของเสียที่ผิดกฎหมายของเรือบรรทุกสินค้าในทะเล
                         ๔.๒.๒ การประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๑๖ (AWGMEA-16) ระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ผลการประชุมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีนั้น ที่ประชุม AWGMEA ได้รับทราบความก้าวหน้าและพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีผลผูกพันตามกฎหมายของวิธีการด้านสารปรอทโลก สมัยที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ สาธารณรัฐเคนยา (Republic of Kenya) และสมัยที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ สาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย (Oriental Republic of Uruguay) โดยมีประเด็นสืบเนื่องสำหรับการเจรจาในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีผลผูกพันตามกฎหมายของวิธีการด้านสารปรอทโลก สมัยที่ ๕ (INC-5) กล่าวคือ
                         (๑) การนำอนุสัญญาไปปฏิบัติและกลไกการปฏิบัติตาม
                         (๒) ข้อบทที่เกี่ยวข้องกับแหล่งสนับสนุนทางการเงิน ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
                         (๓) มาตรการควบคุมต่าง ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์และกระบวนการแหล่งอุปทานและการค้า รวมทั้งการปลดปล่อยและการปล่อยสารปรอท และ
                         (๔) ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านในช่วงระหว่างการลงนามในอนุสัญญา ฯ และการมีผลบังคับใช้
                         ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑๖ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาการใช้ปรอทในกิจการเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก ซึ่งต้องการการสนับสนุนทางการเงิน การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการกำหนดมาตรการควบคุมและการจัดการกิจการดังกล่าวในภูมิภาค
                         ๔.๒.๓ ในช่วงพ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกจัดส่งความเห็นเกี่ยวกับร่างเอกสารการเจรจาสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีผลผูกพันตามกฎหมายของวิธีการด้านสารปรอทโลก สมัยที่ ๕ (INC-5) ให้สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
                         ๔.๒.๔ ที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑๗ (AWGMEA-17) ได้รับทราบรายงาน   ผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีผลผูกพันตามกฎหมายของวิธีการด้านสารปรอทโลก สมัยที่ ๕ (INC-5) ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จากผู้แทนไทยในประเด็นการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาเนื้อหาของร่างอนุสัญญามินามาตะฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยและการปล่อยสารปรอท โดยกำหนดให้มีการรับรอง (ร่าง) อนุสัญญามินามาตะฯ ดังกล่าวในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ ประเทศญี่ปุ่น
                         ๔.๒.๕ การประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑๗ ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าและพิจารณาประเด็นการดำเนินงานตามพันธกรณีข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชั้นบรรยากาศและการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย รวมทั้งเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีสาระสำคัญของผลการประชุมฯ ดังต่อไปนี้
                                   (๑) รายงานผลการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ดังนี้
                                     ก. The Eighth Session of the Open-Ended Working Group (OEWG-8) ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งที่ประชุม ได้หารือในหลายประเด็น อาทิเช่น การรับรองกรอบยุทธศาสตร์สำหรับ ค.ศ. ๒๐๑๒ – ๒๐๒๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๖๔) ข้อเสนอแนะสำหรับศูนย์อนุภูมิภาคของอนุสัญญาบาเซลฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาหลักเกณฑ์วิชาการในการจัดการของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางด้านเทคนิควิชาการสำหรับการเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) โดยเฉพาะการจำแนกวัสดุที่เป็นของเสียและที่ไม่ใช่ของเสีย และ
                                     ข. การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ ๑๑ ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในประเด็นการรับรอง อาทิ กรอบแผนงานสำหรับการจัดการของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คู่มือแนวทางการจัดการซากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กระบวนการในการประเมินการดำเนินงานของศูนย์ระดับภูมิภาค ขอบเขตการดำเนินงานของเครือข่ายสิ่งแวดล้อมเพื่อการผลักดัน   ให้เกิดประสิทธิผลตามมติคณะกรรมการอนุวัติการและการปฏิบัติตาม (Implementation and Compliance Committee) และการรับรองแผนงานของคณะทำงาน OEWG ในช่วงปี ค.ศ. ๒๐๑๔ – ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบว่า ศูนย์อนุภูมิภาคของอนุสัญญาบาเซล ฯ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับภูมิภาคด้านสารเคมีอันตรายและการจัดการขยะของประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วเสร็จ โดยประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ www.bcrc-sea.org
                                  (๒) ที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑๗ ได้รับทราบรายงานผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การบรรจุรายชื่อสารเคมี ๔ ชนิด เพิ่มเติมในภาคผนวก ๓ ของอนุสัญญา ฯ
                         อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า คณะทำงานอาเซียนด้านข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (AWGMEA) เป็นคณะทำงานอาเซียนที่ค่อนข้างมีบทบาทหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญามินามาตะฯ เนื่องจากเป็นคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการจัดการประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกในด้านต่าง ๆ อาทิ การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาวิจัย รวมทั้งการเสริมสร้างความรู้และความตระหนักแก่สาธารณชน โดยขอบเขตการดำเนินงานในปัจจุบันครอบคลุมข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมใน ๒ ประเด็นหลัก (ข้อมูล ณ พ.ศ. ๒๕๕๙) คือ
                             ก. ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชั้นบรรยากาศ อาทิ พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer) และ
                             ข. ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย อาทิ อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs) อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาบาเซลฯ และอนุสัญญามินามาตะฯ เป็นต้น
สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ลงนามอนุสัญญามินามาตะฯ นั้น มีทั้งหมด ๖ ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์
                         ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ให้สัตยาบัน (ratification) การยอมรับ  (acceptance) การให้ความเห็นชอบ (approval) หรือการภาคยานุวัติ (accession) อนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อให้อนุสัญญามีผลใช้บังคับแก่ประเทศตนแล้วจำนวน ๕ ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐) ประกอบไปด้วย ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
๕. บทสรุป
                         จากผลการศึกษาพบว่าภูมิภาคเอเชียมีส่วนในการปลดปล่อยและปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมอยู่เป็นปริมาณมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ และใน พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘ ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงมีการนำเข้าและการส่งออกปรอทอยู่ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ายังคงมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการปลดปล่อยและการปล่อยสารปรอทจากประเทศสมาชิกอาเซียนออกสู่สิ่งแวดล้อมได้
                         อย่างไรก็ดี การที่ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน ๕ ประเทศ ได้ให้ความยินยอมเข้าผูกพันตามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบาทของอาเซียนกับอนุสัญญามินามาตะฯ และท่าทีของอาเซียนที่มีต่ออนุสัญญาดังกล่าว แสดงให้เห็นได้ว่าอาเซียนได้ใส่ใจและตระหนักถึงปัญหามลพิษของสารปรอทที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมและการมีส่วนร่วมภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินมาตรการร่วมกันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สามารถดำเนินงานภายใต้พันธกรณีที่มีอยู่ได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็เป็นการผลักดัน ให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ได้เร่งเตรียมความพร้อมและดำเนินมาตรการภายในเพื่อการเข้าผูกพันตามอนุสัญญามินามาตะฯ ต่อไปในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้อาเซียนสามารถดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอาเซียนและสิ่งแวดล้อมอาเซียนจากผลกระทบที่อาจได้รับจากมลพิษสารปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบมาตรฐานเดียวกัน ด้วยมาตรฐานที่เป็นสากล มีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อ “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียน” และ “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประชาคมโลก” อย่างแท้จริง
 
 _________________________
รายการอ้างอิงโปรดดูจากไฟล์ PDF. ดาวน์โหลดบทความ PDF.

© 2016 Office of the Council of State.