BANNER

อาเซียนกับการจัดการปรอท (๑)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      29 Dec 2017

  


 

                                                                                                                 
                                      ภาพจาก http://www.siamchemi.com


 
 ๑. บทนำ 
                เมื่อสารปรอทถูกปล่อยออกมาอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ และแพร่กระจายออกสู่บรรยากาศ ทำให้สารปรอทหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศและสะสมระดับความเข้มข้นของพิษปรอทสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อสารปรอทถูกสะสมในธรรมชาติอยู่ตลอดเวลาแล้วจึงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและยากแก่การแก้ไขฟื้นฟูให้กลับมาดีดังเดิมได้
                การเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่สามารถจำกัดขอบเขตของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทางอากาศ ทางน้ำและทางดิน ให้อยู่ภายในขอบเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ รวมทั้งแต่ละประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้โดยลำพัง
                ดังนั้น การร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษสารปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของประชาคมโลก จึงถือเป็นเครื่องมือที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการปัญหามลพิษสารปรอทโลก
                บทความนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพิจารณาถึงความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (ASEAN Community Vision, 2025) อันสะท้อนออกมาโดยแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๘) (Blueprint, 2025) ด้วยเล็งเห็นว่า “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียน” นั้น จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนตามแผนงานฯ ทั้งสามด้าน ให้เกิดประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนได้

๒. ความจำเป็นเร่งด่วนและความสำคัญของการจัดการปรอทในอาเซียน 
                 เนื่องจากปรอท (Mercury) ซึ่งเป็นธาตุลำดับที่ ๘๐ ในตารางธาตุ และมีสัญลักษณ์ธาตุ คือ “Hg” เป็นโลหะหนัก (heavy metal) ชนิดหนึ่ง เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) มีอัตราการสลายตัวค่อนข้างช้า ทำให้สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานและมีความเป็นมลพิษในระบบสิ่งแวดล้อมทางน้ำ
                 ปรอทเป็นธาตุทางเคมี (chemical element) ที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ และมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งสามารถจำแนกออกได้ ดังนี้
                 ๑. ปรอทธาตุหรือปรอทโลหะ (elemental/metallic mercury) เป็นปรอทที่อยู่ในรูปของโลหะ (metallic form) ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นปรอทบริสุทธิ์ ไม่ผสมกับสารเคมีอื่น ๆ บางครั้งจึงถูกเรียกว่า “ธาตุปรอท” หรือ “ปรอทบริสุทธิ์” (ซึ่งต่อไปในบทความนี้จะเรียกปรอทธาตุหรือปรอทโลหะว่า “ธาตุปรอท”)
ธาตุปรอทจะดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับปรอทอนินทรีย์    และปรอทอินทรีย์ โดยอันตรายที่เกิดจากปรอทชนิดนี้มักเกิดจากการได้รับเข้าไปผ่านเส้นเลือดและไอปรอทจากการหายใจ ซึ่งทำให้เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังสามารถผ่านตัวกั้นกลางระหว่างเลือดและสมอง (blood brain barrier) ได้ดี จึงทำให้เป็นพิษต่อระบบประสาทด้วย โดยมักจะพบปรอทชนิดนี้ได้ในเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้และเครื่องวัดความดันโลหิตเป็นต้น
               อย่างไรก็ดี ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ธาตุปรอทจะถูกแบคทีเรียที่อยู่ในทางเดินอาหาร (gut flora bacteria) เปลี่ยนเป็นเกลือของเมอร์คิวริค (mercuric: Hg2+) และเมอร์คิวรัส (mercurous: Hg+) ซึ่งดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี และจะทำให้เกิดพิษขึ้นได้เช่นกัน
                  ๒. ปรอทอนินทรีย์ (inorganic mercury) เป็นปรอทที่อยู่ในรูปของสารประกอบอนินทรีย์ (inorganic mercury compounds) ปรอทอนินทรีย์จะดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดีและมีฤทธิ์กัดกร่อน นอกจากนี้ ปรอทอนินทรีย์ยังสะสมในท่อหน่วยไตส่วนต้น (proximal convoluted tubule) ทำให้มีภาวะปัสสาวะเป็นโลหิต (hematuria) ภาวะปัสสาวะมีโปรตีน (proteinuria) และเกิดอาการไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) ได้ ตัวอย่างของปรอทชนิดนี้ ได้แก่ เมอร์คิวรัส คลอไรด์ (mercurous chloride) เมอร์คิวริค คลอไรด์ (mercuric chloride) เมอร์คิวริค ออกไซด์ (mercuric oxide) ซึ่งพบในโรงงานผลิตแบตเตอรี่และผลิตสารกำจัดเชื้อราและโรคพืชทางการเกษตรเป็นต้น
               ทั้งนี้ เมื่อปรอทอนินทรีย์ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จะถูกเปลี่ยนรูปเป็นปรอทอินทรีย์ (biomethylated) ชื่อว่า เมทิลเมอร์คิวรี่ (Methylmercury) ซึ่งมีความเป็นพิษสูงขึ้นโดยผ่านกระบวนการปฏิกิริยาทางธรรมชาติในระบบสิ่งแวดล้อมทางน้ำ
                   ๓. ปรอทอินทรีย์ (organic mercury) เป็นปรอทที่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ (organic mercury compounds) เช่น สารประกอบอัลคิลของปรอท (alkyl mercurial) และสารประกอบเอริลของปรอท (aryl mercurial) หรือสารประกอบอะโรมาติกของปรอท เป็นต้น
                ปรอทอินทรีย์นั้น ดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี แต่ปัญหาสารพิษที่เกิดจากปรอทชนิดนี้ เกิดจากการที่มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) ที่ยาวนานมาก ซึ่งมีผลให้เกิดพิษต่อร่างกายแบบเรื้อรัง
ปรอทที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถพบได้ในทุกส่วนของโลก ซึ่งปรอทนั้นมีอยู่ใน  แร่ธาตุหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินแร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) ซึ่งเป็นแร่ที่ถูกขุดมาเพื่อผลิตหรือทำให้เกิดเป็นปรอท นอกจากนี้ ปรอทยังปนเปื้อนอยู่ในสินแร่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะสินแร่ในกลุ่มโลหะที่ไม่ใช่ธาตุเหล็กหรือโลหะนอกกลุ่มธาตุเหล็ก (the non-ferrous metals) เชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuels) และถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งปรอทที่มีอยู่บนเปลือกโลก (the earth’s crust) สามารถแพร่กระจายหรือถูกระบายออกมาสู่อากาศ น้ำ และดินได้เอง โดยผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ อาทิเช่น
                       (๑) การผุกร่อนและพังทลายลงตามธรรมชาติของหินที่มีปรอท (natural weathering of mercury-containing rocks) และถูกชะล้างลงสู่มหาสมุทรและแม่น้ำลำคลองต่อไป
                       (๒) การระเบิดหรือการปะทุของภูเขาไฟ (volcanoes eruption) ที่เขม่าควัน  และลาวาของภูเขาไฟซึ่งกระจายออกไป จะระบายปรอทที่มีอยู่ตามธรรมชาติออกมาสู่อากาศและถูกชะล้างในบรรยากาศโดยน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำ และระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม
                       (๓) กระบวนการระบายกลับหรือการปลดปล่อยกลับ และการเคลื่อนที่กลับของปรอท (re-emission and remobilization of mercury)
                       (๔) การไหลบ่าของน้ำหน้าดินต่อวัตถุที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบ ทำให้ปรอทที่สะสมหรือปนเปื้อนอยู่ในวัตถุนั้น ๆ สามารถแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ต่อไป
                      (๕) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก (global climate change) มีผลกระทบต่อการเคลื่อนที่และการเคลื่อนย้ายทางเคมีของปรอทในสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเพิ่มระดับของการเพิ่มผลผลิตอินทรีย์ (organic productivity) ปรอทในระบบนิเวศทางน้ำจืดและทางทะเล  (freshwater and marine ecosystems) และอัตราของกิจกรรมทางแบคทีเรีย (bacterial activity) ตลอดทั้งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของปรอทอนินทรีย์ให้กลายเป็นเมทิลเมอร์คิวรี่
                สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้เกิดการละลาย (thawing) ของพื้นที่ป่าพรุที่ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งขนาดมหึมาทางตอนเหนือของโลก อาจปล่อยปรอทและอินทรียวัตถุที่ถูกเก็บไว้เป็นเวลานาน (long-stored mercury and organic matter) ลงสู่ทะเลสาบ แม่น้ำ และมหาสมุทรในอาร์คติค (Arctic lakes, rivers and ocean) ในปริมาณที่มีนัยสำคัญทั่วโลกได้
                อย่างไรก็ดี แม้ปรอทเกิดขึ้นได้เองและพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ แต่ปริมาณของปรอทที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณปรอทที่แพร่กระจายและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์
                ข้อมูลจากรายงานการประเมินสถานการณ์ปรอทโลก พ.ศ. ๒๕๕๖ ว่าด้วยเรื่องแหล่งที่มา การปลดปล่อย การปล่อย และการเคลื่อนย้ายในสิ่งแวดล้อม (the Global Mercury Assessment 2013 : Sources, Emissions, Releases and Environmental Transport) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (the United Nation Environment Programme: UNEP) ระบุถึงสถานการณ์ปรอทโลกใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ว่าแหล่งที่มาของสารปรอทที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมีอัตราการปลดปล่อยสารปรอทสู่บรรยากาศประมาณร้อยละ ๓๐ ของสารปรอทต่อปี อีกร้อยละ ๑๐ ของสารปรอทในแต่ละปี มาจากแหล่งที่มาทางธรณีวิทยาตามธรรมชาติ (natural geological sources) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๖๐ ของสารปรอทต่อปีนั้น มาจากการระบายกลับหรือการปลดปล่อยกลับ (re-emissions) ของสารปรอทที่ถูกสร้างขึ้นและปล่อยออกมาในอดีตจากหลายทศวรรษสู่สิ่งแวดล้อม โดยสารปรอทที่ถูกปลดปล่อยกลับสู่สิ่งแวดล้อมนี้ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากสารปรอทที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่สะสมในสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย
               นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า ปริมาณการปล่อยและการปลดปล่อยสารปรอทที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ มีอัตราสูงกว่าปริมาณของสารปรอทที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นับตั้งแต่เริ่มยุคอุตสาหกรรม (industrial age) กว่าราว ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา
               ปรอทที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์หรือปรอทที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น สามารถแยกอธิบายจากการนำปรอทไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
               ก. ด้านอุตสาหกรรม
                  (a) การนำสารปรอทไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม อันมีส่วนในการก่อให้เกิดการปล่อยและการปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer: VCM) การผลิตโซเดียม โพแทสเซียม เมทิลเลต หรือเอทิลเลต (Sodium or Potassium Methylate or Ethylate) การผลิตโพลียูรีเทน โดยใช้สารปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (production of polyurethane using mercury containing catalysts) โรงไฟฟ้าถ่านหิน (coal-fi red power plants) หม้อน้ำอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน (coal-fired industrial boilers) การผลิตปูนซีเมนต์ (cement production) กระบวนการผลิตอะซีตัลดีไฮด์ (acetaldehyde) ซึ่งใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา การผลิตคลออัลคาไลน์ (chlor-alkali production) การใช้กระบวนการถลุงแร่และการอบแร่ในกระบวนการผลิตโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (Smelting and roasting processes used in the production of non-ferrous metals) การทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านขนาดเล็ก (Artisanal and  small – scale gold mining: ASGM) การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ (pulp and paper production) อุตสาหกรรมเตาเผาขยะ (waste incineration facilities) และการเผาของเสียและของเสียอันตราย (Waste and hazardous waste Incineration) เป็นต้น
                   (b) การนำสารปรอทไปใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อันมีส่วนในการก่อให้เกิดการปล่อยและการปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง (linear fluorescent lamps: LFLs) สำหรับการใช้งานทั่วไป หลอดไอปรอทความดันสูง (high pressure mercury vapour lamps: HPMV) สำหรับการส่องสว่างทั่วไป หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ (compact fluorescent lamps: CFLs) สำหรับการใช้งานทั่วไป หลอดฟลูออเรส-เซนต์แบบแคโทดเย็น และหลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบอิเล็กโทรดภายนอก (EEFL) ในจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง รวมทั้งสบู่และครีมผิวขาว (skin lightening cosmetics) แบตเตอรี่ (batteries) สวิตซ์ไฟฟ้ารีเลย์ (electrical and electronic switches and relays) และสีทาบ้าน (paints) เป็นต้น
                ข. ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
                มีการนำสารปรอทไปใช้ทั้งในทางเภสัชกรรมเพื่อเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคบางชนิด เภสัชภัณฑ์ และทันตกรรม รวมทั้งทางสัตวแพทย์ด้วย อาทิ การใช้สารปรอทในห้องปฏิบัติการทางเคมี ซึ่งหมายความรวมถึง ผลิตภัณฑ์สำหรับวิจัยและเครื่องมือวัด เช่น บาโรมิเตอร์ (barometers) ไฮโกรมิเตอร์ (hygrometers) มาโนมิเตอร์ (manometers) เทอร์โมมิเตอร์ (thermometers) และเครื่องวัดความดันโลหิต (sphygmomanometers) เป็นต้น
                นอกจากนี้ ยังสามารถพบสารปรอทได้ในอะมัลกัมที่ใช้ในทางทันตกรรม (dental amalgam) วัคซีนที่มีสารไทโอเมอร์ซอลเป็นสารกันบูด (vaccines containing thiomersal as preservatives) ยาหยอดตา (eye drops) ยาสมุนไพรรักษาโรค (herbal medicines) รวมทั้งยาพื้นบ้าน (folk medicines) บางชนิด ยาฆ่าเชื้อ (disinfectants) และยาต้านพิษหรือยาที่ใช้บรรเทาอาการอักเสบ (counter irritant) ที่มีเมอร์คิวริคคลอไรด์ (mercuric chloride) เพื่อใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บและสภาวะเจ็บกระดูกและกล้ามเนื้อในสัตว์ เช่น ม้า เป็นต้น
                ค. ด้านเกษตรกรรม
                การนำสารปรอทไปใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมอันมีส่วนต่อการปล่อยและการปลดปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดและเป็นที่รู้กันทั่วไปนั้น คือ การนำไปใช้ในสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สารชีวฆาต และยาฆ่าเชื้อ (pesticides, biocides and topical antiseptics)
                ง. ด้านอื่น ๆ
                นอกเหนือจากการนำสารปรอทไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ตลอดทั้งด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอีกหลายกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการนำสารปรอท   ไปใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดการปล่อยและการปลดปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมได้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งมักถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับความสนใจมากนักว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้อาจมีส่วนร่วมในการปล่อยและปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ คือการนำโลหะผสมปรอทไปใช้ในแนวปฏิบัติทางประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดทั้งการรักษาแบบพื้นบ้าน (mercury metal use in religious, cultural rituals and folklore medicine) เป็นต้น
                 อนึ่ง เนื่องจากสารปรอทเป็นสารที่สามารถระเหยเป็นไอได้ง่าย แขวนลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศและสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ (long-range atmospheric transport) อีกทั้งสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน โดยผ่านกระบวนการทางธรรมชาติซึ่งทำให้ระดับความเข้มข้นของพิษปรอทในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นการบริโภคในห่วงโซ่อาหาร (food chain) จากการสะสมของพิษปรอทในเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กสุด เช่น ในเซลล์ของแบคทีเรียและในสายใยอาหารทะเล ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่หรือสัตว์นักล่า (marine predators) เช่น ปลาวาฬ แมวน้ำ และมนุษย์ เป็นต้น และเมื่อมันถูกปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศ มันจะถูกชะล้างด้วยน้ำฝน แล้วระบายหรือปลดปล่อยสารปรอทจากบรรยากาศลงสู่แหล่งดินและแพร่จะจายออกสู่แหล่งน้ำ และถูกสะสมอยู่ในดินตะกอนหรือโคลน ตลอดจนสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในระบบสิ่งแวดล้อมทางน้ำ (aquatic environment) เมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์น้ำหรือพืชพรรณที่ปนเปื้อนสารปรอทเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายถึงชีวิตได้ และยิ่งไปกว่านั้นสารปรอทที่ถูกสะสมอยู่ในต้นไม้หรือพืชพรรณต่าง ๆ และในผิวหน้าดิน เมื่อเกิดน้ำป่าหรือการกัดเซาะผิวดินจะทำให้เกิดการแพร่กระจายสารปรอทออกไปสู่สิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งเมื่อเกิดไฟป่า สารปรอทที่ถูกสะสมอยู่ในเปลือกไม้และพืชพรรณต่าง ๆ จะถูกระบายหรือปลดปล่อยกลับสู่บรรยากาศ และสุดท้ายก็ถูกปล่อยกลับลงมาสู่แหล่งน้ำและดิน ผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation Reaction) และกระบวนการเมทิลเลชั่น (Methylation process) เป็นวัฏจักรต่อไป
                 สารปรอทในสิ่งแวดล้อมสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ทุกช่องทาทั้งทางปาก ทางผิวหนัง และการหายใจ ซึ่งเมื่อสารปรอทเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ก็จะผ่านเข้าไปในกระแสเลือดและกระจายไปตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอวัยวะที่มีการสะสมปรอทมากที่สุด คือ ไต รองลงมา ได้แก่ ตับ ผนังลำไส้เล็ก สมอง ม้าม หัวใจ และปอด ตามลำดับ และไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่จำพวกสัตว์นักล่าก็ตาม เมื่อได้รับสารปรอทก็จะเกิดอาการของพิษปรอทไม่แตกต่างไปจากมนุษย์ เช่นที่ได้เคยมีรายงานไว้ในเรื่องเกี่ยวโรคมินามาตะ (Minamata disease) โดยแมวและสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ที่กินปลาและสัตว์ทะเลจากอ่าวมินามาตะเป็นอาหารก็จะเกิดอาการของโรคพิษปรอทในลักษณะเดียวกับอาการของมนุษย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
                  เห็นได้ว่าทั้งผลกระทบของสารปรอทต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบของสารปรอทต่อสุขภาพของมนุษย์นั้น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นแก่ประเทศใดหรือภูมิภาคใด ต่างก็เป็นเรื่องยากที่จะจำกัดขอบเขตของผลกระทบดังกล่าวไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และยากที่จะแก้ไขหรือจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้โดยลำพัง      
                  ดังนั้น หากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเล็งเห็นถึงความร้ายแรงและความเป็นอันตรายของมลพิษสารปรอทที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมแล้ว การควบคุม ลด และเลิกการปลดปล่อยและการปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันจัดการ

๓. สถานการณ์ปรอทในอาเซียน
               จากรายงานการประเมินสถานการณ์ปรอทโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ว่าด้วยเรื่องแหล่งที่มา การปลดปล่อย การปล่อย และการเคลื่อนย้ายในสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมมือกับโครงการการประเมินและการเฝ้าสังเกตการณ์แห่งขั้วโลกเหนือ (Arctic Monitoring and Assessment Programme: AMAP) รวมทั้งใช้ข้อมูลในระดับชาติและข้อมูลที่ถูกเสนอโดยรัฐต่าง ๆ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากการเข้าร่วมของพันธมิตรด้านสารปรอทของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติทั่วโลก (UNEP Global Mercury Partnership) ด้วย
รายงานการประเมินสถานการณ์ปรอทใน พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ ถือได้ว่าเป็นความพยายามแรกเพื่อประเมินการปล่อยสารปรอทสู่แหล่งน้ำ โดยพิจารณาจากแหล่งที่มา ๓ ประเภท ได้แก่
               (๑) แหล่งที่มีจุดกำเนิดแน่นอน (point sources) ที่เป็นแหล่งที่มาสำคัญ คือ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมหรือโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณการปล่อยสารปรอทสู่แหล่งน้ำประมาณ ๑๘๕ ตันต่อปี
               (๒) พื้นที่ปนเปื้อน (contaminated sites) ซึ่งหมายความรวมถึง เหมืองแร่เก่าแก่ พื้นที่ฝังกลบ (landfills) และพื้นที่กำจัดของเสีย มีปริมาณการปล่อยสารปรอทสู่แหล่งน้ำประมาณ ๘ – ๓๓ ตันต่อปี อีกทั้งยังแยกประเมินเฉพาะการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก (ASGM) มีปริมาณการปล่อยสารปรอทสู่แหล่งน้ำและดินโดยรวมมากกว่า ๘๐๐ ตันต่อปี และ
               อย่างไรก็ดี ปริมาณการปล่อยสารปรอทสู่แหล่งน้ำเหล่านี้เป็นจำนวนที่ประมาณการไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าการปล่อยสารปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์จะมีปริมาณอย่างน้อย ๑,๐๐๐ ตันต่อปี
การเผาไหม้ถ่านหินที่มีอยู่จำนวนมากทั่วโลกใน พ.ศ. ๒๕๕๓ มีปริมาณการปลดปล่อยสารปรอทประมาณ ๔๗๕ ตัน โดยแหล่งที่มาสำคัญมาจากการใช้สารปรอทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และในการผลิตพลังงาน และยังพบว่าการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและในอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย (Asia)
               อนึ่ง รายงานการประเมินสถานการณ์ปรอทโลก พ.ศ. ๒๕๕๖ ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียมีส่วนในการปลดปล่อยสารปรอทเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการปลดปล่อยสารปรอททั่วโลกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมในภูมิภาคทำให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นแหล่งที่มาสำคัญของการปลดปล่อยสารปรอทสู่บรรยากาศ โดยปริมาณที่วัดได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (East and Southeast Asia) มีปริมาณประมาณร้อยละ ๔๐ ของการปลดปล่อยสู่บรรยากาศที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยสารปรอทจำนวนร้อยละ ๗๕ ของปรอทที่ถูกปลดปล่อยจากภูมิภาคนี้มาจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นปริมาณ ๑ ใน ๓ ของผลรวมทั่วโลก ตามด้วยเอเชียใต้ (South Asia) ที่มีปริมาณการปลดปล่อยปรอทออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกร้อยละ ๘ ของจำนวนรวมทั้งหมดทั่วโลก จึงสรุปได้ว่า เอเชียตะวันออก (East Asia) คือ ภูมิภาคที่เป็นแหล่งที่มาสำคัญของการแพร่กระจายของสารปรอทในอากาศทั่วโลก
               เมื่อพิจารณาถึงความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการลดการกีดกันทางการค้าและลดต้นทุนอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ในส่วนที่มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ประกอบกับภาพรวมของความตกลงระหว่างประเทศทั้งความตกลงทวิภาคีและพหุภาคีด้านการค้าการลงทุน กับทั้งในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และระหว่างอาเซียนกับประเทศต่าง ๆ นอกอาเซียน ที่มีขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนตามแผนงานประขาคมอาเซียนดังกล่าว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือและศักยภาพเพื่อการพัฒนาด้านแร่ธาตุอย่างยั่งยืนในภูมิภาค รวมถึงมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแร่ธาตุที่ยั่งยืนด้วยนั้น           
  ข้อมูลจากการศึกษาในระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการของเสียของสารปรอทในประเทศสมาชิกอาเซียน (the Regional Study on Mercury Waste Management in the ASEAN Countries, 2017) ได้รายงานสถานการณ์และภาพรวมการนำเข้าและส่งออกสารปรอทในภูมิภาคอาเซียนระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๘ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
               ๑. ปริมาณการนำเข้าสารปรอทโดยกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 
                   (๑) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประมาณ ๗๐๗.๕๓๓ ตัน
                   (๒) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประมาณ ๕๒๙.๖๖ ตัน
                   (๓) ประเทศมาเลเซีย ประมาณ ๑๙๒.๑๔๑ ตัน
                   (๔) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประมาณ ๘๒.๕๘ ตัน
                   (๕) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประมาณ ๑๓.๖๑๗ ตัน
                   (๖) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประมาณ ๑๓.๑๑ ตัน
                   (๗) ราชอาณาจักรไทย ประมาณ ๒.๓๔๖ ตัน
                   (๘) ราชอาณาจักรกัมพูชา ประมาณ ๐.๒๒ ตัน
                   (๙) บรูไนดารุสซาลาม ประมาณ ๐.๐๐๑ ตัน
               ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น ไม่พบข้อมูลการนำเข้าสารปรอทแต่อย่างใด
               ๒. ปริมาณการส่งออกสารปรอทในกลุ่มสมาชิกอาเซียน
                   (๑) ประเทศมาเลเซีย ประมาณ ๑๗๘.๔๙๑ ตัน
                   (๒) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประมาณ ๑๕๒.๙๙ ตัน
                   (๓) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประมาณ ๑๑๒.๗๑ ตัน
                   (๔) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประมาณ ๓๘.๘๘ ตัน
                   (๕) ราชอาณาจักรไทย ประมาณ ๗.๘๓๗ ตัน
                   (๖) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประมาณ ๐.๐๐๑ ตัน
                   ส่วนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา บรูไนดารุสซาลามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น ไม่พบข้อมูลการส่งออกปรอทแต่อย่างใด
               ๓. ประเทศต้นทางของการนำเข้าสารปรอทเข้ามาในอาเซียน 
                   ผลการสำรวจพบว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ฯ เป็นประเทศต้นทางของการนำเข้าสารปรอทในอาเซียน ประมาณร้อยละ ๑๗ ของการนำเข้าสารปรอทในอาเซียน
                  ตามมาด้วยสาธารณรัฐอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐเม็กซิโก ประมาณร้อยละ ๗ ร้อยละ ๕ และร้อยละ ๔ ของการนำเข้าสารปรอทในอาเซียน ตามลำดับ
               ๔. ประเทศปลายทางของการส่งออกสารปรอทจากอาเซียน ผลการสำรวจพบว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ฯ เป็นประเทศปลายทางของการส่งออกสารปรอท ประมาณร้อยละ ๓๒ ของการส่งออกปรอทจากอาเซียน
                   ตามมาด้วยแคนาดา เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐอินเดียกับแอฟริกาใต้ ประมาณร้อยละ ๒๙ ร้อยละ ๙ และร้อยละ ๕ (ต่อแต่ละประเทศ) ของการส่งออกสารปรอทจากอาเซียนตามลำดับ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าในช่วงระยะเวลานับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีการนำเข้าและการส่งออกปรอททั้งในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคอาเซียน จึงถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการปลดปล่อยและการปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ เกิดเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันอาเซียนได้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากมลพิษสารปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมแล้วหรือไม่ ระดับใด และอาศัยกฎเกณฑ์หรือมาตรการใดในการจัดการปัญหาดังกล่าว                                         
                                                                 
อ่านต่อ https://lawforasean.com/blog/2017/12/asean-and-mercury-manage-ment-2
______________________
รายการอ้างอิงโปรดดูจากไฟล์ PDF. ดาวน์โหลดบทความ PDF.

© 2017 Office of the Council of State.