BANNER

กฎหมายที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน CLMV : สปป. ลาว


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      26 Dec 2017

  


บทนำ
กลุ่มประเทศ CLMV ติดอันดับอยู่ในกลุ่ม ๑๕ ประเทศที่จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลกในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า และยังมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP สูงเนื่องจากเป็นตลาดเกิดใหม่ ประเทศในกลุ่มนี้ที่นำเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดคือเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว

โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงกฎหมายที่ควรรู้ก่อนการลงทุนใน สปป.ลาว เนื่องจาก สปป.ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับไทยมีอาณาเขตติดต่อกันครอบคลุม ๑๑ จังหวัด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว มีอัตราเฉลี่ย ๖.๕-๗.๕ ต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าไทยที่มีศักยภาพที่จะขยายตลาดเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง และกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยรัฐบาลของ สปป.ลาว ได้ลดขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจ ๑๑ แห่ง เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปัจจุบัน มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเขตดังกล่าวแล้วกว่า ๒๑๓ บริษัท มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ การศึกษากฎหมายด้านการลงทุนของลาวจะทำให้ผู้ที่สนใจเกิดความรู้ความเข้าใจอันเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนใน สปป.ลาว และสามารถเปิดรับโอกาสและประโยชน์ภายใต้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
กฎหมายการลงทุน สปป. ลาว
การลงทุนใน สปป.ลาว ของนักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินการได้ใน ๓ ลักษณะคือ ธุรกิจทั่วไป (General Business) สัมปทาน (Concession) และการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ(Development of Special Economic Zones and Specific Economic Zones)

กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (Law on Promotion of Foreign Investment Law on Promotion of Foreign Investment No.11/NA of 22 October 2004) เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักการ กฎเกณฑ์ และมาตรการที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การคุ้มครอง และการจัดการการลงทุนจากต่างชาติใน สปป.ลาว และกำหนดกิจกรรมที่จะได้รับการส่งเสริมออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ เป็นกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมระดับสูงสุด ระดับที่ ๒ เป็นกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมระดับปานกลาง ระดับที่ ๓ เป็นกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมระดับต่ำโดยรัฐบาลจะพิจารณาจากผลดีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้น ๆ ในการช่วยลดปัญหาความยากจนของประชากรภายในประเทศ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการจ้างแรงงาน
 
ระยะเวลาของการลงทุน
ระยะเวลาของการลงทุนจากต่างชาติตามมาตรา ๑๑ ของ Foreign Investment Law No.11/NA ขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของบริษัทหรือโครงการ โดยจะลงทุนได้ไม่เกิน ๕๐ ปี และอาจจะขยายเพิ่มอีก ๒๕ ปี หากได้รับความยินยอมจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการลงทุนของบริษัทต่างชาติจะต้องไม่เกิน ๗๕ ปี[๑]

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกิจการ (Enterprise Law)
นักลงทุนต่างชาติจะสามารถลงทุนและดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Management Cabinet : FIMC) และจดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าซึ่งตามกฎหมาย Enterprise Law ที่มีผลใช้บังคับในปี ๒๕๕๐ สปป.ลาว ได้จัดตั้งหน่วยบริการแบบครบวงจรเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop-Service) โดยไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระดับการลงทุนขั้นต่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติให้สามารถยื่นขอใบอนุญาตลงทุนประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว และจดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าไปพร้อมกัน ณ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า โดยโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลการพิจารณาภายใน ๓ สัปดาห์ โครงการที่มีมูลค่า ๑ – ๕ ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลการพิจารณาภายใน ๔ สัปดาห์ และโครงการที่มีมูลค่า ๕ – ๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลการพิจารณาภายใน ๑๒ สัปดาห์

การออกกฎหมายการลงทุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สปป.ลาว มีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Law) เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิที่เกี่ยวข้อง เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การออกแบบทางอุตสาหกรรมสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร การออกแบบแผนผังวงจรรวม การคุ้มครองความหลากหลายทางพันธุ์พืชมาตรา ๑๒ แห่ง Foreign Investment Promotion Law No.11/NA ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้จดทะเบียนผ่านหน่วยงาน Science and Technology Authority (STA) Customs and the Economic Police ใน สปป.ลาว แล้ว[๒]

การระงับข้อพิพาทของบริษัทภายในประเทศ
วิธีอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีระงับข้อพิพาทวิธีหนึ่งที่ สปป.ลาว นำมาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เนื่องจาก สปป.ลาว เป็นภาคีสมาชิกของ 1958 New York Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Award การระงับข้อพิพาทภายในประเทศจะกระทำได้ ดังต่อไปนี้คู่พิพาทต้องระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ยก่อน ถ้าภายใน ๓๐ วันทำการไม่สามารถตกลงกันได้ ให้คู่พิพาทยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่อนุมัติธุรกิจที่ต้องมีสัมปทานเท่านั้น (Committee for Promotion and Management of Investment - CPMI) ที่ออกใบอนุญาตลงทุนให้ ถ้าคู่พิพาทไม่พอใจในการตัดสินของ CPMI ให้ยื่นคำร้องต่อองค์กรอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาททางเศรษฐกิจ (State Arbitration Agency for Economic Dispute) หรือกระบวนการยุติธรรมตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกัน ในกรณีที่บริษัททำสัญญากับรัฐบาล การระงับข้อพิพาทต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในสัญญา

การระงับข้อพิพาทของบริษัทต่างชาติ
ในกรณีที่ข้อพิพาทเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจภายใต้สัญญาใด ๆ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น ในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาในกิจการร่วมทุนหรือบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นทั้งหมด ให้คู่พิพาทระงับข้อพิพาทตามลำดับ ดังต่อไปนี้ คู่พิพาทต้องระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ยก่อน ถ้าภายใน ๓๐ วันทำการไม่สามารถตกลงกันได้ ให้คู่พิพาทยื่นคำร้องต่อ CPMI ที่ออกใบอนุญาตลงทุนให้ ถ้าคู่พิพาทไม่พอใจในการตัดสินของ CPMI ให้ยื่นคำร้องต่อองค์กรอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาททางเศรษฐกิจ หรือ กระบวนการยุติธรรมตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกัน

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
สปป.ลาว มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศค่อนข้างเคร่งครัด และจำกัดรายการธุรกรรมที่ใช้เงินตราต่างประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ Presidential Decree regarding Management of Foreign Exchange and Precious Metals No.01/P 17 March 2008 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใดชำระหรือรับชำระราคาสินค้าและบริการด้วยเงินตราต่างประเทศภายใน สปป.ลาว เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of Lao PDR)

นโยบายการถือหุ้นของต่างชาติ
สปป.ลาว มีการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไม่เกินร้อยละ ๔๙ ในธุรกิจสถานีโทรทัศน์และวิทยุ การคมนาคมขนส่ง ส่วนธุรกิจประกันภัยต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ ๕๑ นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังได้มีการสงวนอาชีพบางประเภทไว้สำหรับคนลาวเท่านั้นที่ห้ามมิให้มีการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจให้ผู้ลงทุนต่างชาติ หรือบริษัทต่างชาติเพื่อดำเนินธุรกิจที่เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนลาวโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถแยกเป็นประเภทธุรกิจได้ ๖ ประเภท ได้แก่ ๑. พลังงานและบ่อแร่ ๒. อุตสาหกรรมและการค้า ๓. โยธาธิการและการขนส่ง ๔. ข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ๕. ธนาคารแห่ง สปป. ลาว และ ๖. สาธารณสุข ทั้งนี้  กฎหมายแห่ง สปป.ลาว มิได้ห้ามต่างชาติเป็นกรรมการผู้จัดการที่มีอำนาจผูกพันบริษัท

สาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
กฎหมายส่งเสริมการลงทุนต่างชาติของ สปป. ลาว ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติใน ๗ กิจการ ดังต่อไปนี้
๑.      กิจการการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
๒.      กิจการกสิกรรม-ป่าไม้
๓.      กิจการอุตสาหกรรมแปรรูป
๔.      กิจการเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านทรัพยากรมนุษย์
๕.      กิจการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
๖.      กิจการผลิตวัตถุดิบ
๗.      กิจการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ

ระบบจัดเก็บภาษี
สปป.ลาว จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทต่างชาติและบริษัทท้องถิ่นในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ ๒๔ ของกำไรสุทธิก่อนหักภาษี โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ทั้งนี้  ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายยาสูบต้องเสียภาษีกำไรในอัตราร้อยละ ๒๖ ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว (Lao Securities Exchange : LSX) เสียภาษีกำไรลดลงร้อยละ ๕ จากอัตราปกติเป็นระยะเวลา ๔ ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียนใน LSX สปป.ลาว และหลังจากนั้นจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ ๓ – ๗ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและมีรายได้ต่ำกว่า ๑๒ ล้านกีบ นอกจากนี้  การจ่ายเงินปันผลมีภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ ๑๐ ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ (Royalty) จ่ายให้แก่นิติบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานนอก สปป.ลาว ต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๕ และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่ายให้แก่นิติบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานนอก สปป.ลาว ต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๑๐ และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) ในอัตราเดียวที่ร้อยละ ๑๐ ในสินค้าทุกประเภท สำหรับกิจการที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า ๔๐๐ ล้านกีบ นอกจากนี้ รัฐบาลสปป.ลาวกับรัฐบาลไทยได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ สปป.ลาว เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน

กฎระเบียบการกู้ยืมเงิน
ระบบสถาบันทางการเงินของ สปป.ลาว มีการให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบให้กับนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การให้บริการทางการเงิน และการประกันภัย เป็นต้น สปป.ลาว มีธนาคารให้บริการแก่นักลงทุน ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ใน สปป.ลาว มีทั้งหมด ๒๙ แห่ง แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ๔ แห่ง ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนกับเอกชน ๒ แห่ง ธนาคารเอกชน ๘ แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ ๑๐ แห่งสำนักงานตัวแทน ๑ แห่ง บริษัทเช่าซื้อ ๓ แห่ง และตลาดหลักทรัพย์ ๑ แห่ง ทั้งนี้   นักลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศจะสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลาย โดยไม่มีข้อจำกัด สำหรับการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินของ สปป.ลาว จะอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่ง สปป.ลาว (The Bank of Lao PDR : BOL) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ มีความรับผิดชอบด้านนโยบายการเงิน เช่น ดำเนินงานด้านอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายควบคุมเงินทุน ควบคุมและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
สปป.ลาว มีกฎหมายที่เข้มงวดในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเงินกู้จากต่างประเทศ  การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย การประกันภัยสินค้าที่มาจากต่างประเทศ จะอยู่ภายใต้กฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และกิจกรรมเหล่านี้ต้องได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว (The Bank of Lao PDR : BOL)

การทำงานของแรงงานต่างชาติ
กฎหมายแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการใช้แรงงาน เวลาทำงาน อัตราค่าจ้าง และการประกันสังคม ระเบียบการควบคุมและการใช้แรงงานไม่จำกัดสิทธิในการรับคนงาน แต่บังคับให้ทำสัญญาจ้างแรงงานต้องกำหนดระเบียบภายใต้การควบคุมของรัฐกำหนดให้ตั้งกรรมบาล หรือ องค์กรแรงงานที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มแรงงาน รัฐบาลกลางกำหนดให้นักลงทุนต่างประเทศจะต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำสำหรับการทำงานในอัตรา ๒๔,๐๗๖ กีบต่อคนต่อวัน (ประมาณ ๙๓.๗๕ บาท) หรือเดือนละประมาณ ๖๒๖,๐๐๐ กีบ (ประมาณ ๒,๔๓๗.๖๐ บาท) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕

การเป็นเจ้าของที่ดินและอาคาร
สำหรับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งสปป.ลาวกำหนดว่า ที่ดินทั้งหมดเป็นของ สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ฉบับเลขที่ ๐๒/สพช. ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าหรือขอสัมปทานที่ดินในสปป.ลาวได้เป็นระยะเวลา ๓๐-๕๐-๘๐ ปี แต่สูงสุดไม่ให้เกิน ๙๙ ปี แต่ขึ้นอยู่กับประเภทของการลงทุน และการเจรจากับผู้มีอำนาจของแขวงต่าง ๆ โดยรัฐบัญญัติของประธานประเทศ สปป.ลาว ว่าด้วยอัตราค่าเช่าและค่าสัมปทานที่ดินของรัฐ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ได้กำหนดค่าเช่าและค่าสัมปทานที่ดินของ สปป.ลาว โดยจะขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพเศรษฐกิจ สังคมของแต่ละเขต และขึ้นอยู่กับนโยบายส่งเสริมของรัฐตามโครงสร้างเศรษฐกิจ[๓]

บทสรุป
แม้ว่า สปป.ลาว จะมีความใกล้ชิดกับไทยในหลายด้าน แต่กฎหมายของ สปป.ลาว ยังมีความแตกต่างจากกฎหมายไทย โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนซึ่ง สปป.ลาว มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการลงทุนบ่อยครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก นักลงทุนจึงควรศึกษากฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน รวมทั้งกฎหมายของท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดตามที่กฎหมายของ สปป.ลาว กำหนด
 

[๑] Article 11: The investment term of a foreign investment enterprise depends on the nature, size and conditions of the business activities or project but shall not exceed fifty years and may be extended with the approval of the government. However, the investment term of a foreign investment enterprise shall be for a maximum of seventy-five years.
[๒] Article 12: Rights and Benefits of Foreign Investors 7. To receive protection of their intellectual property which has been registered with the relevant authorities in the Lao People’s Democratic Republic
[๓] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ . "รอบรู้เรื่องการลงทุนในอาเซียน : สปป. ลาว" ๒๕๕๗.

© 2017 Office of the Council of State.