BANNER

กฎหมายที่ควรรู้ก่อนการลงทุนใน CLMV : เมียนมา


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      25 Dec 2017

  


บทนำ
กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษคือกลุ่มเพื่อนบ้านของไทย หรือ กลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังมีช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจและการลงทุนได้ในหลายสาขา 

โดยในบทความนี้จะเริ่มต้นกล่าวถึงกฎหมายที่ควรรู้ก่อนการลงทุนในเมียนมาเป็นประเทศแรก เนื่องจากเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศ CLMV ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย และเป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรขนาด ๕๘ ล้านคน อีกทั้งเป็นประเทศที่มีสังคม วัฒนธรรม และศาสนา คล้ายคลึงกับไทย รวมทั้งทางเมียนมานิยมบริโภคสินค้าไทย ทำให้ไทยสามารถใช้เมียนมาเป็นประตูระบายสินค้าของไทยสู่ประเทศที่ ๓ รวมทั้งใช้เมียนมาเป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคต เมียนมามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๙ อยู่ที่ระดับร้อยละ ๘.๕ หลังจากที่เมียนมามีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้  กฎหมายการลงทุนของเมียนมาอนุญาตให้นักลงทุนชาวต่างชาติสามารถจัดตั้งบริษัทที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของร้อยละ ๑๐๐ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ดังนั้น เมียนมาจึงเริ่มดำเนินการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศและบริษัทข้ามชาติทำให้บริษัทต่างชาติให้ความสนใจในการลงทุนในเมียนมามากยิ่งขึ้น[๑]

บทความนี้จะกล่าวถึงกฎหมายด้านการลงทุนของเมียนมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกิดความรู้ความเข้าใจอันเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในเมียนมา และสามารถเปิดรับโอกาสและประโยชน์ภายใต้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

กฎหมายการลงทุนแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
เมียนมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยได้ตรากฎหมายการลงทุนต่างชาติขึ้นในปี ๒๕๕๕ (Foreign Investment Law 2012) สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่การกำหนดรูปแบบการลงทุน สาขากิจการที่รัฐบาลส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน สาขาที่จำกัดการลงทุน เงื่อนไขการเช่าที่ดิน การยกเว้นภาษี ข้อกำหนดการจ้างงาน รวมทั้งได้กำหนดบทลงโทษกรณีที่นักลงทุนกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายฉบับนี้ โดยต้องพิจารณาใช้ร่วมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ ๓ ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยบริษัทของเมียนมา พ.ศ. ๒๔๔๖ (The Myanmar Companies Act 1914) พระราชบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนของเมียนมา พ.ศ. ๒๔๗๕ (The Partnership Act 1932) และพระราชบัญญัติว่าด้วยบริษัทพิเศษ (The Special Company Act 1950)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาได้ปรับปรุงกฎหมายขึ้นใหม่ชื่อว่ากฎหมายการลงทุนแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Investment Law of the Republic of the Union of Myanmar) โดยเป็นการรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจำนวน ๒ ฉบับเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ กฎหมายการลงทุนของพลเมืองเมียนมา (Myanmar Citizens Investment Law) ที่มีผลใช้บังคับในปี ๒๕๕๖ และกฎหมายการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ (The Foreign Investment Law 2012) ที่มีผลใช้บังคับในปี ๒๕๕๕ โดยกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่จะมีผลใช้บังคับแทนกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงร่วมกันว่าด้วยการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Common Agreement on Investment) และสอดรับกับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งยังได้มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานการลงทุนของอาเซียน โดยกฎหมายใหม่นี้มีความชัดเจนว่าจะไม่แบ่งแยกระหว่างนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ และเปิดโอกาสด้านการลงทุนให้อย่างเท่าเทียมกัน[๒]

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหลักด้านการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือ คณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Commission: MIC) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินโครงการลงทุนออกข้อกำหนดและเงื่อนไขเกี่ยวกับใบอนุญาตลงทุนและประเมินสถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ กฎหมายการลงทุน ปี ๒๕๕๕ ได้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการลงทุนใหม่ ให้เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล จากเดิมที่เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งกรรมการแต่ละคนมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี แต่สามารถได้รับเลือกให้กลับเข้ามาเป็นกรรมการได้อีกหนึ่งวาระ ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนกรรมการและแนวทางการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการไว้ ซึ่งคณะกรรมการลงทุนชุดปัจจุบันมีกรรมการ จำนวน ๑๓ คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อู วิน เซ้ง เป็นประธาน

กระบวนการยื่นขอลงทุน
ขั้นตอนการยื่นขอลงทุนประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน คือ การยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนจากคณะกรรมการการลงทุน การยื่นขอใบอนุญาตเพื่อทำการค้าจากสำนักผู้อำนวยการการจัดการบริษัทและการลงทุน และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อสำนักจดทะเบียนบริษัทด้านการคุ้มครองการลงทุน

การกำหนดเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ
กฎหมายการลงทุนต่างชาติ ปี ๒๕๕๙ ได้กำหนดให้ธุรกิจ ๔ ประเภทเป็นธุรกิจที่ต้องห้ามหรือต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ได้แก่ ๑. ธุรกิจที่ทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติห้ามลงทุนเลย ได้แก่กิจการของรัฐ ๒. ธุรกิจที่ห้ามเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ๓. ธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ แต่ต้องดำเนินกิจการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น หรือบุคคลธรรมดาในประเทศ และ๔. ธุรกิจที่ทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะลดข้อจำกัดและยกเลิกข้อห้ามการลงทุนในธุรกิจ ๔ ประเภทในระยะต่อไป เพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นในอนาคต

นโยบายการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ
กฎหมายการลงทุนใหม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละร้อยและกรณีที่เป็นการลงทุนในกิจการร่วมค้า นักลงทุนต่างชาติต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๕ ของการลงทุนทั้งหมด นักลงทุนทุกรายมีสิทธิที่จะเช่าที่ดิน ไม่ว่าที่ดินเอกชนหรือที่ดินของรัฐ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ ทั้งการลงทุนในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ปศุสัตว์ หรือการลงทุนในรูปแบบอื่น ซึ่งระยะเวลาการเช่าที่ดินขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันของนักลงทุนและเจ้าของที่ดินผู้ให้เช่า โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้นานถึง ๕๐ ปี และได้สิทธิขยายระยะเวลาการเช่าออกไปอีก ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑๐ ปี นักลงทุนสามารถใช้สิทธิในที่ดินมาขอสินเชื่อได้ อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ จะไม่ได้รับโดยอัตโนมัติทุกกรณี แต่จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานรัฐ โดยคณะกรรมการการลงทุนจะเป็นผู้กำหนดขั้นตอนและกระบวนการยื่นขอสิทธิประโยชน์

เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ตามประกาศกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษปี ๒๕๕๔ ได้กำหนดมาตรการยกเว้นและลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ทั้งนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาที่ได้กำหนดพื้นที่ไว้ ประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะรัมรีหรือจ๊อกผิว และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่สามารถเช่าได้ระยะเวลา ๓๐ ปี

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
นักลงทุนต่างชาติสามารถโอนเงินตราต่างประเทศได้ภายใต้การตรวจสอบกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่ที่อนุญาตให้สามารถโอนเงินตราต่างประเทศผ่านธนาคารที่ได้รับอนุญาตตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้นอกจากนี้    ยังมีกฎหมายบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Management Law) ที่กำหนดแนวทางการทำธุรกรรมไว้ โดยบริษัทของนักลงทุนต่างชาติมีสิทธิถือเงินตราต่างประเทศและมีบัญชีธนาคารเงินตราต่างประเทศได้ ไม่มีข้อจำกัดในการโอนเงินเข้า – ออกจากบัญชีกระแสรายวัน เงินตราต่างประเทศอาจถูกโอนกลับไปยังต่างประเทศได้ภายหลังจากการตรวจสอบและอนุมัติของคณะกรรมการการลงทุน สำหรับบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้กับคณะกรรมการการลงทุน หรือจากธนาคารกลาง (Central Bank) ในกรณีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับคณะกรรมการการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติบริษัทของนักลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องเปิดบัญชีในเมียนมาสำหรับการโอนเงินทุนเข้ามาและเงินกู้ ส่วนการโอนเงินกลับไปนอกประเทศ บริษัทจะต้องเปิดบัญชีสำหรับเงินสกุลต่างประเทศและเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับธนาคารเมียนมาที่มีใบอนุญาตเฉพาะการจ่ายเงินปันผล ดอกเบี้ย และส่งคืนเงินทุนที่เป็นเงินกู้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุนก่อนที่ธนาคารจะส่งเงินออกนอกประเทศ

การเวนคืน การชดเชย และการรับประกันการลงทุน
รัฐบาลเมียนมารับประกันการไม่เวนคืนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนตลอดระยะเวลาอายุสัญญาการลงทุน รวมทั้งรับประกันที่จะไม่ระงับธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตลงทุนก่อนสิ้นอายุสัญญาการลงทุน ทั้งนี้ เมียนมาได้เข้าทำความตกลงทวิภาคีในการคุ้มครองการลงทุนไว้กับประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน สปป.ลาว ไทย อินเดีย และคูเวต

ระบบการเก็บภาษี
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนประการหนึ่ง โดยกฎหมายกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีศุลกากรเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบ รวมทั้งได้กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการส่งออกเป็นการเฉพาะเช่นกัน เมียนมาจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศอัตราร้อยละ ๓๐ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราร้อยละ ๑๐ ของเงินได้สำหรับบุคคลที่ทำงานกับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ เมียนมาไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จัดเก็บภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๕-๑๐ และไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต รวมทั้งยังมีการจัดเก็บภาษีศุลกากรและภาษีส่งออกในบางรายการสินค้า สำหรับการให้บริการของสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลเมียนมาได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปภาคการเงินโดยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนและเปิดให้บริการอย่างเสรีมากขึ้นด้านการจ้างงาน

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สหภาพเมียนมาอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองอยู่ สิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ (The Copyright Act of 1911) และกฎหมายคอมมอนลอว์เรื่องลวงขายซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายของสหราชอาณาจักรอันเห็นได้ชัดว่ายังไม่มีการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าอย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเครื่องหมายการค้าบังคับใช้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายการค้าอาจได้รับความคุ้มครองในขอบเขตที่จำกัดตามพระราชบัญญัติการจดทะเบียน (Registration Act) ที่จะก่อให้เกิดหลักฐานทางเอกสารในเบื้องต้นซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของในเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ในฐานะที่เมียนมาเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว

ด้านแรงงาน
นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิที่จะจ้างบุคคลากรต่างชาติเข้ามาทำงานได้ ในตำแหน่งหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงผู้ชำนาญด้านเทคนิค ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้าน และในกฎหมายลงทุนใหม่ฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่าต้องจ้างแรงงานท้องถิ่นที่มีทักษะในสัดส่วนขั้นต่ำไว้ ต่างจากกฎหมายลงทุนในปี ๒๐๑๒ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลดีต่อนักลงทุนต่างชาติ เพราะแรงงานที่มีทักษะในเมียนมามีน้อย การที่จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะให้ได้ถึงร้อยละ ๗๕ หลังจากลงทุนไปครบ ๕ ปี ทำได้ยาก ทั้งนี้บริษัทที่ประสงค์จะจ้างผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคจากต่างประเทศต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา และการจ้างแรงงานในเมียนมาต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจ้างงาน พ.ศ. ๒๕๐๒ และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๔๙๗

การระงับข้อพิพาท
สหภาพเมียนมาได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกของ New York Convention on the Recognition of Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958 ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการอนุวัติการใช้บังคับโดยรัฐสภาของเมียนมา เช่นนี้หากมีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการเกิดขึ้นในช่วงก่อนการบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้ จึงยังคงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๔๘๗ ไปพลางก่อน[๓]
 
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การศึกษากฎและระเบียบการลงทุนและการประกอบธุรกิจในเมียนมาเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรศึกษาให้รอบคอบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปัจจุบันเมียนมากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนต่าง ๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบค่อนข้างบ่อย กฎระเบียบบางประการของรัฐบาลยังขาดความชัดเจนและมีปัญหาในทางปฏิบัติทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและคอยติดตามความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายการลงทุนต่างชาติรวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะยังมีช่องทางการลงทุนในเมียนมาอยู่มาก เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในเมียนมาได้รับประโยชน์สูงสุดตามที่กฎหมายของเมียนมากำหนด
 

[๑] ธนาคารกรุงเทพ. เมียนมา โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่ต้อง รีบคว้า.” กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙. http://www.bangkokbank.com/BangkokBankThai/InternationalNetwork/InternationalBanking/AECconnect/BusinessOpportunity/Pages/MyanmarApplyNow.aspx (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๒] วารสารการเงินธนาคาร . "The Investment Law of 2015." พฤษภาคม ๒๕๕๘.
[๓] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ . "รอบรู้เรื่องการลงทุนในอาเซียน : สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา." ๒๕๕๗.

© 2017 Office of the Council of State.