BANNER

ความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้แผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ.๒๕๕๙ - ๒๕๖๘


 บทความ      10 Nov 2017

  





ภาพจาก    https://environment.asean.org
 

๑. บทนำ 
                                        จากวัตถุประสงค์เริ่มแรกในการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) เพื่อส่งเสริมและร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ องค์ความรู้ สังคมและวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันนั้น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก แต่การจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นประชาคมอาเซียนที่มั่นคงยั่งยืนในทุกด้านได้นั้น จำต้องอาศัยปัจจัยนานัปการเป็นตัวขับเคลื่อน และการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ มั่นคง และมีความปลอดภัย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนอาเซียน
                                        โดยที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมโยงถึงกันทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ  
                                        ดังนั้นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง ย่อมส่งผลไปยังอีกประเทศหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดได้

๒. ความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม
                                        อาเซียนได้ให้ความสำคัญต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว โดยไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น หากแต่ยังมีความพยายามขยายขอบเขตความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมออกไปยังประเทศต่าง ๆ นอกอาเซียนและนอกภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ (๑๐ ปี หลังการก่อตั้งอาเซียน) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Environment Programme: UNEP) ในการจัดทำโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม ๑ (the ASEAN Sub-Regional Environment Programme: ASEP I) พร้อมกับจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Experts Group on the Environment: AEGE) ภายใต้คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (the ASEAN Committee on Science and Technology: COST) เป็นผู้ดำเนินโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม ๑ มีระยะเวลา ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) หลังจากนั้นก็มีโครงการต่อเนื่องอีก ๒ โครงการ คือ โครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม ๒ (the ASEAN Sub-Regional Environment Programme II: ASEP II) (พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๓๐) และโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม ๓ (the ASEAN Sub-Regional Environment Programme III: ASEP III) (พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๕) ตามลำดับ
                                        ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการปรับรูปแบบคณะผู้เชี่ยวชาญอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกฐานะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแยกออกจากคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) มีหน้าที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเสนอแนะนโยบายและประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกันในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งระหว่างอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนฯ จะรายงานการดำเนินงานและเสนอกิจกรรมและโครงการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีทุกปี
                                        การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: AMME) เป็นการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดนโยบาย และทบทวนข้อตัดสินใจต่าง ๆ รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อแผนงานและโครงการต่าง ๆ โดยจะแบ่งการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมออกเป็น ๒ รูปแบบ กล่าวคือ การประชุมฯ อย่างเป็นทางการซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๆ ๓ ปี และการประชุมฯ อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมมีโอกาสพบปะหารือกัน ตลอดทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปีที่ไม่มีการประชุมอย่างเป็นทางการ
                                        ทั้งนี้ ในระดับปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมตามนโยบาย แผนงาน และแนวทางต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี โดยมีคณะทำงานทั้งหมด ๗ คณะ ได้แก่
                                        (๑) คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (AWGNCB)
                                        (๒) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (AWGCME)
                                        (๓) คณะทำงานอาเซียนด้านข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (AWGMEA)
                                        (๔) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC)
                                        (๕) คณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (AWGWRM)
                                        (๖) คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWGCC) และ
                                        (๗) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา (AWGEE)[1]
                                        อาเซียนยังมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกรอบเวทีหารือประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการที่คาบเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                                        ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการอาเซียนด้านต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นได้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีการดำเนินงานที่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกับความตกลงระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาค และหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควัน อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมอาเซียนต่อการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท เป็นต้น และยังมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อ “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียน” ตามแผนงานประชาคมอาเซียนหรือแผนพิมพ์เขียว (the Blueprint) ของทั้งสามประชาคมอาเซียน ในช่วงเวลาที่กำหนดตามแผนแต่ละฉบับมาอย่างต่อเนื่องจนถึงฉบับปัจจุบัน คือ แผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘)

๓. แผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับสิ่งแวดล้อม
                                        เพื่อต่อยอดความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนตามแผนงานประชาคมอาเซียน ในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา อาเซียนจึงได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสาระสำคัญของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (ASEAN Community Vision 2025) ซึ่งปรารถนาให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีสันติภาพ ความมั่นคงและความแข็งแกร่ง มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประชาคมที่มองออกไปนอกภูมิภาคในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนไว้ ตลอดทั้งให้อาเซียนมีความยั่งยืนและมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขั้นสูง มีความเชื่อมโยงที่มากขึ้น รวมทั้งมีความพยายามที่แข็งขันขึ้นในการลดช่องว่างด้านการพัฒนา และเป็นประชาคมที่มีขีดความสามารถในการไขว่คว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาถึงในทศวรรษหน้า[2] ได้ โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้สะท้อนออกมาด้วยแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (ช่วง พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘)[3] ซึ่งแผนงานดังกล่าวได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
                                        ๓.๑ การเมืองและความมั่นคงอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ กับสิ่งแวดล้อม
                                               การดำเนินการเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนในประชาคมอาเซียนได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง ด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นสำคัญ ซึ่งมีมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                                               ๓.๑.๑ การแสวงหาและดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
                                               ๓.๑.๒ ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืนและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ใกล้ชิดมากขึ้น
                                               ๓.๑.๓ เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนในการสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ในสภาพการณ์ทางทะเล และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นต่อความมั่นคง ความปลอดภัย เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค
                                        ๓.๒ เศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ กับสิ่งแวดล้อม
                                               ความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการพัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมทั้งความร่วมมือด้านนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และเพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกในการจัดการและรับมือกับประเด็นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  
แผนงานประชาคมอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘) ได้ให้ความสำคัญ  ต่อการลดการกีดกันทางการค้าและลดต้นทุนอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ในส่วนที่มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง โดยสามารถสรุปมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้ ดังต่อไปนี้
                                               ๓.๒.๑ การสนับสนุนทางเศรษฐกิจจะต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะการปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อันเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภูมิภาค โดยอาเซียนจะส่งเสริมการพัฒนาในรูปแบบรักษ์โลกหรือการพัฒนาสีเขียว (green development) อย่างจริงจัง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานและเทคโนโลยีสะอาด รวมทั้งพลังงานทดแทน ด้วยเทคโนโลยีแบบรักษ์โลกหรือเทคโนโลยีสีเขียว (green technology) ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน และให้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาระดับชาติ (national development plans) ของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
                                               ๓.๒.๒ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเหมาะสม แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) และระบบการจัดการที่ทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหาร และรองรับประเด็นสุขภาพ โรคภัยและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสาขาย่อยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อันได้แก่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ และพืชสวน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตรเพื่อลดผลกระทบในเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน ป่าไม้ และน้ำ รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
                                               ๓.๒.๓ พัฒนาให้อาเซียนมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น
                                               ๓.๒.๔ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ (the ASEAN Minerals Cooperation Action Plan: AMCAP - III) ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๓ และระยะที่สอง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๘ โดยจะพัฒนาความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียนให้เข้มแข็งและแข่งขันได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือและศักยภาพเพื่อการพัฒนาด้านแร่ธาตุอย่างยั่งยืนในภูมิภาค รวมถึงมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแร่ธาตุที่ยั่งยืน ด้วย
                                                         ทั้งนี้ ในแง่ของความร่วมมือในสาขาแร่ธาตุของอาเซียนนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจะยังคงเป็นพันธมิตรกันในเรื่องของการพัฒนาด้านนโยบายและในการดำเนินมาตรการสำคัญ เช่น ส่งเสริมการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
                                               ๓.๒.๕ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public - Private Partnership : PPP) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งขึ้น โดยการอาศัยประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของภาคเอกชน การกระจายความเสี่ยง และการจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนให้กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียน (Encourage the ASEAN Infrastructure Fund: AIF) ศึกษาแนวทางในการทำหน้าที่หน่วยงานสนับสนุน เพื่อช่วยดึงดูดการให้เงินทุนจากภาคเอกชน ในการสนับโครงการระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความยากจน การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และการรวมกลุ่มของภูมิภาค    
                                        ๓.๓ สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ กับสิ่งแวดล้อม
                                               เนื่องด้วยหัวใจสำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คือ ความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) จึงได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน พ.ศ. ๒๕๖๘ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะเป็นประชาคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน และประชาชนได้รับผลประโยชน์ รวมทั้งทุกคนมีส่วนร่วมมีความยั่งยืน แข็งแกร่ง และมีพลวัต ทุกฝ่ายจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาคมที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและปกป้องสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตของประชาชนตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๖๘ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ (the United Nations: UN) ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้ง ๑๙๓ ประเทศ ได้แสดงความมุ่งมั่นร่วมกัน โดยผ่านสหประชาชาติในการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ครอบคลุมมีผลกว้างไกลเป็นสากล และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกห้าสิบปีข้างหน้า นั่นคือ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (the 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งจะสานต่อและขยายผลความก้าวหน้า จากเป้าหมายการพัฒนา โดยอาเซียนมีมาตรการยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้
                                               ๓.๓.๑ มีการตั้งเป้าหมายว่าจะบรรลุประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย โดยการเป็นประชาคมที่ยั่งยืน ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป
                                               ๓.๓.๒ ในแง่ของการ “มีความยั่งยืน” เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดของประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๖๘ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะบรรลุถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ท่ามกลางบริบท ของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมและประกันว่าจะมีการพัฒนาสังคมที่สมดุลและมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกรุ่นทุกสมัยได้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อย่างเท่าเทียมกัน
                                               ๓.๓.๓ การอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งมีมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                                                        (ก) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อปกป้อง ฟื้นฟู รวมทั้ง การใช้สิ่งแวดล้อมทางทะเล และชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตอบสนองและจัดการกับความเสี่ยงจากมลพิษและภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ
                                                        (ข) รับเอาแนวทางปฏิบัติที่ดีมาใช้และพัฒนานโยบายในการจัดการผลกระทบของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มีต่อน่านน้ำชายฝั่งและน่านน้ำสากล รวมทั้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อาทิ มลภาวะ การเคลื่อนย้ายและการกำจัดสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงและกลไกทั้งในระดับภูมิภาคและในระหว่างประเทศ
                                                        (ค) ส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อไปสู่การใช้ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านวิธีการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา การมีส่วนร่วมของชุมชน และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม
                                               ๓.๓.๔ มีการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่ในเมือง ชานเมือง และชนบท ซึ่งมีมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                                                         (ก) เสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างพันธมิตรภาครัฐกับภาคเอกชนด้านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีความคุ้มค่า
                                                         (ข) ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษา ความตระหนักรู้ ขีดความสามารถในการบริโภคอย่างยั่งยืน และการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ
                                                         (ค) การทำงานแบบบูรณาการ ครอบคลุม และมีส่วนร่วม เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างชุมชนที่มีภูมคุ้มกันในอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นแก่นสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องสร้างขึ้นจากการบูรณการนโยบาย การเพิ่มพูนขีดความสามารถและการเสริมสร้างองค์กร ตลอดจนเป็นพันธมิตรกับผู้มีส่วนได้เสียกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นหลัก โดยปราศจากการเลือกประติบัติ และจะเชื่อมโยงกับวงการวิทยาศาสตร์และภาควิชาการ
                                               ทั้งนี้ ตามปฏิญญาว่าด้วยประชาคมอาเซียนและประชาชนอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง รู้รับปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ ที่ได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๖ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘[4] มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างอนาคตที่มีภูมิคุ้มกัน มากขึ้นโดยการลดภัยพิบัติ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ การป้องกันการเกิดขึ้นของความเสี่ยงใหม่ ๆ และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มาตรการทางกายภาพและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดการกับการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่าง ๆ และจะทำให้เกิดการยกระดับภูมิคุ้มกันขึ้น
                                                        (ง) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การคุ้มครองสังคมสำหรับสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนชายขอบ (marginalised groups) ตลอดจน ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งรวมถึงผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติการณ์และภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดให้มีเวทีความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีภูมิคุ้มกัน โดยลดการเผชิญหน้าและลดความเปราะบางต่อสภาพอากาศและต่อผลกระทบอื่น ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต่อภัยพิบัติ
                                               ๓.๓.๕ การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบการเงิน อาหาร น้ำ และพลังงาน ที่มีใช้อย่างเพียงพอ รวมทั้งโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมอื่น ๆ ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ด้วย โดยมีมาตรการสำคัญ คือ
                                                         (ก) การทำให้แหล่งทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างเพียงพอ เข้าถึงได้มากขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จัดหามาได้มากขึ้น และมีความยั่งยืนมากขึ้น
                                                         (ข) ยกระดับการประสานงานข้ามสาขา เพื่อรับประกันความเพียงพอและการเข้าถึงบริการด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสมต่อระดับครัวเรือน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
                                        อนึ่ง ในเรื่องของการมีพลวัต (dynamic) นั้น อาเซียนมีมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การเสริมสร้างความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และการเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีบทบาทเชิงรุก มุ่งเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยด้ายนโยบาย และสถาบันต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้มนุษย์และองค์กรมีทัศนคติที่เปิดกว้าง รู้จักปรับตัวมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และมีทักษะในการประกอบการ เกิดเป็นวัฒนธรรมการประกอบการในอาเซียน ด้วยการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนการประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดให้มีผู้ดูแล การให้เงินลงทุนตั้งต้น การระดมทุนสาธารณะ และการสนับสนุนทางการตลาด

๔. การทบทวนและการประเมินผลการดำเนินงาน
                                        การทบทวนและการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ จะใช้ระบบการติดตามและประเมินผลที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งต่อยอดจากดัชนีชี้วัดที่ใช้วัดความก้าวหน้าของการดำเนินงานของแผนงานฯ ใน พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๘ โดยองค์กรเฉพาะสาขาต่าง ๆ จะพิจารณาตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสาขาของตน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานและดัชนี ชี้วัดที่สานต่อดัชนีชี้วัดที่มีอยู่ เพื่อรับประกันว่ามิติอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในแผนงานนี้ จะได้รับการเพิ่มเติมเข้าไปในดัชนีและตัวชี้วัดปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานการบริหารจัดการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในระดับภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับ
                                        นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาบทเรียนที่ได้รับและข้อเสนอแนะจากผลการประเมิน โดยมีการระบุกรอบผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะได้รับตามแผนงานฯ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการติดตามประเมินผล ทั้งเป็นข้อสนเทศเพื่อวัตถุประสงค์ในการระดมทรัพยากร และจำแนกรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ หรือปัจจัยที่ต้องพิจารณาอื่น ๆ โดยจะมีการทบทวนและการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ในระหว่างช่วงระยะเวลาการประเมินผลครึ่งแผน (A Mid-Term Evaluation) ครอบคลุมระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๓ และการประเมินเมื่อสิ้นสุดแผน (an End-of-Term Evaluation) ครอบคลุมระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๖๘
ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการที่เหมาะสมอื่น ๆ เพื่อวัดผลกระทบของนโยบาย แผนงานหรือโครงการที่เกิดขึ้นจากแผนงานฉบับนี้ด้วยก็ได้

๕. บทสรุป
                                        ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเป็นประชาคมที่มีสันติภาพ มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง มีศักยภาพ มีความยั่งยืน และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยของอาเซียน ซึ่งแผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘ ทั้งสามด้าน ได้กำหนดมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนต่อไป โดยกำหนดระบบการติดตามประเมินผล และนำเอาบทเรียนที่ได้รับตลอดจนข้อเสนอแนะจากผลการประเมินมาพัฒนาต่อยอดความสำเร็จจากแผนงานฯ ฉบับก่อน และในห้วงเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมืออาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อมค่อย ๆ พัฒนาและขยายขอบเขตจากความร่วมมือในระดับภูมิภาค ออกไปสู่นอกภูมิภาคและในระดับโลก ปรากฏเป็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาและขยายขอบเขตความร่วมมือนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิด “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง และไม่เพียงแต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประชาคมโลกด้วย




ดาวน์โหลดบทความ PDF.

 
นางสาวอรพรรณ แซ่เอี้ยว
นักวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลกฎหมาย 
ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 

[1] กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ โครงสร้างและกลไกการบริหารอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม.” ๒๕๕๘. http://mnre.stage.symetr.com/th/asean-environmental-management/asean-2/ (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐)

[2] กระทรวงการต่างประเทศ, อาเซียน ๒๐๒๕ : มุ่งหน้าไปด้วยกัน , แปลโดยกรมอาเซียน, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท อีเพจเมคเกอร์ จำกัด, ๒๕๕๙).

[3] Association of Southeast Asian Nations (ASEAN). “KUALA LUMPUR DECLARATION ON ASEAN 2025: FORGING AHEAD TOGETHER. ” ๒๕๕๘. http://www.asean.org/storage/2015/12/ASEAN-2025-Forging-Ahead-Together-final.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐)
[4] the Declaration on Institutionalising the Resilience of ASEAN and its Communities and Peoples to Disasters and Climate Change adopted during the 26th ASEAN Summit in Kuala Lumpur, Malaysia on 27 April 2015.

 

© 2017 Office of the Council of State.