BANNER

ประเทศไทยกับแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      08 Nov 2017

  




ภาพจาก http://www.aseanthai.net

๑. บทนำ
 
               การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนที่มีมานานกว่าสี่ทศวรรษ ในลักษณะที่ครอบคลุมและเป็นนามธรรม ตลอดระยะเวลา ๗ ปี ตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๐๙-๒๐๑๕ (The ASEAN Political – Security Community : APSC (๒๐๐๙-๒๐๑๕)) อันมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนและประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถอยู่ร่วมกันในภูมิภาคและในโลกได้อย่างสันติ ภายใต้ความยุติธรรม เป็นประชาธิปไตย และมีความปรองดองกัน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยยึดหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติและคำนึงถึงการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีนอกภูมิภาคด้วยนั้น ได้ส่งผลให้ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนมีความลึกซึ้งและครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในการตอบสนองความท้าทายทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รากฐานของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนภายในช่วง ค.ศ.๒๐๑๖ – ๒๐๒๕
 
๒. แผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕
 
               ปัจจุบันแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในช่วง ค.ศ.๒๐๑๖ – ๒๐๒๕ ยังคงยึดตามแนวทางของกฎบัตรอาเซียน ตลอดทั้งตราสารและเอกสารอื่น ๆ ที่สำคัญของอาเซียนซึ่งกำหนดหลักการและกรอบสำหรับความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง และการดำเนินงานตามแผนงาน ฯ โดยเป็นแผนงานที่จะต่อยอดความสำเร็จที่ได้รับจากแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๐๙ - ๒๐๑๕ เพื่อยกระดับความร่วมมืออาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคงให้สูงขึ้น อันจะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ยึดมั่นในกติกา โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ให้ประชาชนมีสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความยุติธรรมในสังคม อีกทั้งได้อาศัยอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1]
               แผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕ นี้ มีคุณลักษณะสำคัญที่จะเชื่อมโยงและสนับสนุนกัน มีการดำเนินการตามรูปแบบวิธีการที่สมดุลและมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งอาจสรุปแนวทางออกได้ดังนี้
                       ๒.๑ มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับประชาชน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนตระหนักถึงการอยู่ร่วมกัน อัตลักษณ์ และจุดมุ่งหมายปลายทางเดียวกัน เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ยึดมั่นในกฎกติกา เช่น การยึดมั่นและส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพการปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ของอาเซียนที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันแล้ว การยึดมั่นในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งกำกับดูแลการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอย่างสันติ การเคารพในหลักการความเป็นเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซง และอัตลักษณ์ประจำชาติ และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความยุติธรรมทางสังคม เป็นต้น
                       ๒.๒ ยึดถือแนวทางตามหลักการของความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อการเป็นประชาคมที่แข็งแกร่งในภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ มีความพร้อมต่อการรับมือกับความท้าทายที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เช่น เสริมสร้างให้มีกลไกที่เข้มแข็ง เสริมสร้างความเข้มแข็งต่อการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ในการหารือเพื่อการมีส่วนร่วม     เชิงยุทธศาสตร์ในประเด็นด้านการทหารและความมั่นคงอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการภายใต้กรอบการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF), กรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน (the East Asia Summit : EAS), กรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม (the ASEAN Plus Three : APT) เพื่อสนับสนุนประชาคมอาเซียน และเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เป็นต้น
                       ๒.๓ การมีบทบาทที่สร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบในเวทีโลก มีความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับภาคีนอกภูมิภาค บนพื้นฐานของการมีจุดยืนร่วมกันของอาเซียนในประเด็นต่าง ๆ ระหว่างประเทศ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มองออกไปสู่นอกภูมิภาค เช่น การเสริมสร้างความเป็นเอกภาพ ความแน่นแฟ้น และความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยตั้งอยู่บนกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ เสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกต่าง ๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานของกลไกดังกล่าว ส่งเสริมความร่วมมือกับคู่เจรจาให้ลึกซึ้งมากขึ้น การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับภาคีนอกภูมิภาค และการเปิดรับพันธมิตร   ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งตอบสนองต่อพัฒนาการโลกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น
                       ๒.๔ การมีกระบวนการทำงานและการประสานงานขององค์กรต่าง ๆ ของอาเซียนที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีสถาบันที่เข้มแข็งและมีตัวตนเชิงสถาบันมากยิ่งขึ้นทั้งในระดับประเทศ ระกับภูมิภาค และในระหว่างประเทศ เช่น การปฏิบัติตามรายงานและข้อเสนอแนะของคณะทำงานระดับสูง (HLTF) ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนและการทบทวนองค์กรต่าง ๆ ของอาเซียนที่ผู้นำรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๒๕ ณ กรุงเนปิดอว์ เป็นต้น
                      อนึ่ง กลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕ ดังกล่าวข้างต้นนี้ ต้องส่งเสริมการประสานงานในประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่างสาขาในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และในระหว่างสามเสาหลักของการเป็นอาเซียนควบคู่กันไปด้วย[2]
 
๓. บทบาทสำคัญทางการเมืองและความมั่นคงอาเซียนของประเทศไทย
          สรุปบทบาททางการเมืองและความมั่นคงอาเซียนของประเทศไทยที่สำคัญ ได้ดังต่อไปนี้
          ๓.๑ ได้มีการเร่งดำเนินการให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน
          ๓.๒ ได้มีการจัดตั้งและผลักดันการดำเนินการของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights : AICHR)
          ๓.๓ รับรองและผลักดันการปฏิบัติตามแผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
          ๓.๔ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการรักษาสันติภาพในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
          ๓.๕ ยกระดับบทบาทของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนในด้านการจัดการภัยพิบัติ และความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security Threats)
          ๓.๖ การผลักดันให้ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC)
          ๓.๗ การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นเขตปลอดอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง
          ๓.๘ การผลักดันให้การเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone : SEANWFZ) มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพในอาเซียน
          ๓.๙ ส่งเสริมให้มีความโปร่งใสด้านนโยบายและข้อมูลทางการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          ๓.๑๐ ส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures : CBMs) และการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟก (ASEAN Regional Forum : ARF)
          ๓.๑๑ ส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการอาเซียน[3] มากยิ่งขึ้น
๓.๑๒ ไทยสามารถจำกัดขอบเขตและระดับความรุนแรงของปัญหาความขัดแย้งทางดินแดนและการใช้กำลังทางการทหาร แม้เรื่องดังกล่าวยังคงมีปัญหาความไม่เข้าใจและความหวาดระแวงที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ให้อยู่ในเฉพาะพื้นที่ โดยเป็นผลจากการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดกัน และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงป้องกัน รวมถึงทิศทางความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคที่มุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
 
๔. ผลกระทบต่อการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕ ของประเทศไทย และแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหา
 
               ๔.๑ ผลกระทบ
                    ๔.๑.๑ ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับภูมิภาค
                     ก. การขยายตัวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค
                     พัฒนาการของกลุ่มประเทศอาเซียนที่กำหนดการจัดตั้ง “ประชาคมอาเซียน” ใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้อาเซียนมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเพิ่มโอกาสการติดต่อเชื่อมโยงผ่านเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การเป็นประชาคมนับเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการที่ประเทศสมาชิกยังมีลักษณะการปกครองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การสร้างความเป็นประชาคมและการเปิดกว้างของการติดต่อระหว่างกันอย่างเสรีนั้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการย้ายถิ่นฐานของประชากรในภูมิภาค รวมทั้งการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติและเศรษฐกิจนอกระบบ
                      ข. ความขัดแย้งทางดินแดนและการใช้กำลังทางการทหาร
                      แม้ว่าปัญหาความไม่เข้าใจและความหวาดระแวงที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะสามารถจำกัดขอบเขตและระดับความรุนแรงให้อยู่ในเฉพาะพื้นที่ได้ โดยการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดกัน และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงป้องกัน รวมถึงทิศทางความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคที่มุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ข้อพิพาทในภูมิภาค สถานการณ์ภายในของประเทศเพื่อนบ้าน และบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค และการที่ประเทศไทยมีชายแดนทั้งทางบกและทางทะเลติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ โดยยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดนและอาณาเขตทางทะเลระหว่างกัน รวมถึงมีสิ่งบ่งชี้ถึงการเพิ่มงบประมาณทางทหารของประเทศในภูมิภาค จึงยังคงมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังทหารต่อกันหากเกิดความขัดแย้งรุนแรงและไม่มีการบริหารจัดการปัญหาร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ
                      ๔.๑.๒ ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงข้ามพรมแดน
                      ปัจจุบันภัยคุกคามข้ามชาติได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามสภาวะโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความมั่นคงของชาติโดยรวม ซึ่งสำหรับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อันประกอบด้วย การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ การฟอกเงิน การกระทำอันเป็นโจรสลัด อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวและควบคุมได้ยาก โดยมีการพัฒนารูปแบบและวิธีการที่ซับซ้อนจากการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รวมถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้การก่ออาชญากรรมข้ามชาติทำได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น มีการพัฒนาเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังพบว่าความเชื่อมโยงระหว่าง การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นและมีขีดความสามารถสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าภัยคุกคามดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากได้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ใน พ.ศ.๒๕๕๘ เนื่องจากการเปิดเสรีด้านการเดินทาง การขยายตัวของการท่องเที่ยว การแพร่ขยายแนวความคิดหัวรุนแรงและการรวมกลุ่มบุคคลที่มีความคิดดังกล่าว ในขณะที่ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกยังมีความแตกต่างกัน และการบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงก็ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า
               ๔.๒ แนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหา
               เพื่อส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่สร้างสรรค์และสันติในการอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มประเทศอาเซียน ประชาคมโลก บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ และการดำรงเกียรติภูมิของชาติ
               สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหน่วยงานภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ร่วมกันวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในบริบทต่าง ๆ อีกทั้งความต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ ที่นำไปสู่การจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ในห้วงเวลา    ที่ผ่านมา นำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงและเสนอเป็นนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๔ เพื่อเป็นกรอบด้านความมั่นคงในระยะ ๗ ปี เชื่อมโยงและต่อเนื่องกับทิศทางด้านการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔) ก่อให้เกิดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๔ ขึ้น ประกอบด้วย ๑๖ ประเด็นนโยบาย ซึ่งได้ลำดับความสำคัญเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นสองส่วน โดยมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในทุกระดับ ให้พร้อมเผชิญปัญหาและภัยคุกคามต่าง ๆ รวมถึงการลดความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยคุกคามดังกล่าว ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความมั่นคงอย่างรอบด้าน มีความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ  และการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติ
               นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ฯ มีจุดหมายสำคัญคือ การมีเสถียรภาพความเป็นปึกแผ่น ปลอดภัยจากภัยคุกคาม และก่อเกิดความเชื่อใจในอาเซียนและประชาคมโลก เมื่อได้คำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕ จึงสรุปแนวทางหลัก ในการแก้ไขและป้องกันปัญหา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ฯ ที่เกี่ยวข้องได้ดังต่อไปนี้                 
               ๔.๒.๑ ต้องมีกลไกและโครงสร้างการบริหารจัดการของภาครัฐที่มีเอกภาพ ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเตรียมพร้อมพื้นที่สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
               ๔.๒.๒ เสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ รวมทั้งกับองค์กรระหว่างประเทศ และภายใต้กรอบอาเซียน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ บนพื้นฐานของการกำหนดท่าทีและจุดยืนที่เหมาะสมของไทยในประเด็นการก่อการร้าย
               ๔.๒.๓ ปกป้องความมั่นคงของชาติจากภัยยาเสพติด โดยให้ความสำคัญกับการลดอุปสงค์หรือความต้องการใช้ยาเสพติด และการลดปริมาณยาเสพติด การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนและชุมชน การเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้น และปราบปรามการค้ายาเสพติดจากต่างประเทศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน และสหประชาชาติ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
               ๔.๒.๔ ส่งเสริมการรวมตัวในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นภาคีด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน
               ๔.๒.๕ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และความร่วมมือในทุกระดับกับกองทัพประเทศ เพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนและมิตรประเทศ บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน
               ๔.๒.๖ ส่งเสริมให้อาเซียนมีเอกภาพในการดำเนินความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและเป็นเครื่องมือสร้างดุลยภาพทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจ
               ๔.๒.๗ สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเชื่อมโยงกันมากขึ้นในประชาคมอาเซียน
               ๔.๒.๘ ดำเนินการอย่างสมดุลในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการที่อาเซียนเป็นองค์กรที่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดมากขึ้น แต่สามารถรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญไว้ได้ และ
               ๔.๒.๙ สร้างความพร้อมของประเทศในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภาครัฐ พัฒนากฎ ระเบียบ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน ให้ไทยมีความพร้อมในการจัดการผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการอำนวยความสะดวก ให้มีการติดต่อเชื่อมโยงกันมากขึ้นในอาเซียน พร้อมทั้งเสริมสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ดีต่อการเป็นประชาคมอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างความคุ้นเคย ความเข้าใจและความรู้สึกเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน[4]



ดาวน์โหลดบทความ PDF.
[1] กระทรวงการต่างประเทศ, อาเซียน 2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกัน , แปลโดย กรมอาเซียน, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท อีเพจเมคเกอร์ จำกัด, ๒๕๕๙).
[2] Association of Southeast Asian Nations (ASEAN). “KUALA LUMPUR DECLARATION ON ASEAN 2025: FORGING AHEAD TOGETHER . ” ๒๕๕๘. http://www.asean.org/storage/2015/12/ASEAN-2025-Forging-Ahead-Together-final.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐)
[3] กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. “ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน .” ๒๕๕๕. http://www.mfa.go.th/asean/th. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐)
[4] สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. “นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๔ .”  http://www.nsc.go.th/Download1/policy58.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐)
 

© 2017 Office of the Council of State.