BANNER

กฎหมายที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน CLMV : เวียดนาม


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      16 Nov 2017

  


บทนำ
ในภูมิภาคอาเซียน ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มย่อยแล้ว กลุ่มที่ไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษคือกลุ่มเพื่อนบ้านของไทย หรือ กลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยไทยมองว่าเป็นโอกาส
ของการทำธุรกิจและลงทุนในหลากหลายด้าน

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศ CLMV ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากเวียดนามมีตลาดหุ้นที่ก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มต้นเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (frontier market) ได้ไม่นานเช่นกัน จุดเด่นของเวียดนามคือประเทศมีประชากรอายุน้อยที่มีกำลังในการบริโภคในประเทศ และได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) จำนวนมาก โดยในปี ๒๕๕๙ เวียดนามรับเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น ๑๕,๐๐๐ ล้านเหรียญ จากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐ ฯ ที่ย้ายฐานการผลิตทั้งจากไทยและจีนมายังเวียดนาม นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้ออกกฎหมายกระตุ้นการลงทุนและดึงดูด การลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ และตลาดหุ้นเวียดนามก็พยายามปรับตัวเองจากการเป็นตลาดหุ้นชายขอบเป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ให้ตลาดหุ้นทันสมัย มีงบการเงินที่โปร่งใส และได้มาตรฐานโลกมากขึ้น
บทความนี้จะกล่าวถึงกฎหมายด้านการลงทุนของเวียดนาม เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้นอันเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในเวียดนาม และสามารถเปิดรับโอกาสและประโยชน์ภายใต้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

๑. กฎหมายและกฎระเบียบด้านการลงทุนในเวียดนาม
๑.๑ กฎหมายการลงทุน
กฎหมายการลงทุน ปี ๒๕๔๘ (2005 Investment Law) เป็นกฎหมายสำคัญที่กำหนดสิทธิประโยชน์ บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักลงทุนและรัฐบาลต่อการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเวียดนาม กำหนดเรื่องการลงทุนในประเทศเวียดนาม สิทธิและหน้าที่ของนักลงทุน สิทธิประโยชน์ในการลงทุน การบริหารจัดการของภาครัฐ การประกัน การไม่เวนคืนทรัพย์สินของนักลงทุนภายในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ เงื่อนไขการลงทุน ข้อห้ามและข้อจำกัดการลงทุน การลงทุนโดยตรงในเวียดนามของนักลงทุนต่างชาติตามกฎหมายฉบับนี้สามารถเข้ามาลงทุนได้ ๕ รูปแบบด้วยกัน คือ
(ก)    บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติหรือคนชาติทั้งหมดร้อยละ ๑๐๐
(ข)    บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับคนชาติ
(ค)    สัญญาทางธุรกิจ (Business Contracts) เช่น สัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ
(ง)     การช่วยเหลือทางเงินทุน (Capital Contribution) ในการบริหารจัดการบริษัท
(จ)    การควบรวมบริษัท (Merger and Acquisition: M & A)

กฎหมายเวียดนามอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนโดยวิธีควบรวมบริษัทสำหรับบางประเภทธุรกิจและภายใต้ข้อจำกัดบางประการเช่นกัน อาทิ นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาถือกรรมสิทธิของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่เกินร้อยละ ๔๙ สำหรับธุรกิจทั่วไปแต่ไม่เกินร้อยละ ๓๐ สำหรับธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติแต่ละราย (Individual Foreign Investor) ยังถูกจำกัดให้เข้ามาถือกรรมสิทธิได้ไม่เกินร้อยละ ๑๕ แต่อาจขอเพิ่มจนถึงร้อยละ ๒๐ ได้โดยต้องได้รับอนุมัติจากสำนักนายกรัฐมนตรี (Prime Minister’s Office) ขั้นตอนการลงทุนประกอบด้วย ๒ ขั้นตอนหลัก คือ การขึ้นทะเบียนธุรกิจและการประเมินการลงทุนเพื่อขอใบอนุญาตการลงทุน โดยกฎหมายเวียดนามได้กำหนดอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการประเมินการลงทุนตามประเภทของธุรกิจและมูลค่าเงินลงทุนหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบประเมินการลงทุน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม (Prime Minister of Government of Vietnam) กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment) และคณะกรรมการประชาชนประจำท้องถิ่น (Provincial People’s Committees)ด้านการคุ้มครองการลงทุน ธนาคารกลางเวียดนามไม่รับประกันการแลกเปลี่ยนเงินสกุลด่องไปเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศอื่น ๆ ด้านการเวนคืน และการชดเชย นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิ์ที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการเวนคืนอย่างเป็นธรรม
ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ปี ๒๕๔๘ (แก้ไข ปี ๒๕๕๒) ซึ่งครอบคลุมทั้งการออกแบบอุตสาหกรรม การออกแบบแผนภูมิวงจรรวม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และความลับทางการค้า
ด้านระบบภาษี โดยปกติเวียดนามเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ ๒๕ และจะปรับลดเหลือร้อยละ ๒๕ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ร้อยละ ๕-๓๕ และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๑๐ รวมทั้งมีการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไทยและเวียดนามได้ร่วมลงนามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรเกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากรายได้
สิทธิประโยชน์การลงทุนในเวียดนามแตกต่างกันไปตามเขตเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วย
๑.    Export Processing Zone เน้นการลงทุนด้านการผลิตเพื่อการส่งออก
๒.   Industrial Zone เป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ
๓.   High Tech Zone เป็นเขตเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
เพื่อการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง
สิทธิประโยชน์การลงทุนในเวียดนาม ประกอบด้วย การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เงื่อนไขผ่อนปรนการชำระค่าเช่าที่ดิน การให้เงินอุดหนุนอบรมแรงงาน
และการยกเว้นภาษีศุลกากร โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนแตกต่างกันตามพื้นที่การลงทุน ซึ่งประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง
สาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ การผลิตวัตถุดิบ การผลิตพลังงาน
การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตเครื่องจักรการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และกีฬา เป็นต้น

๑.๒ กฎหมายพาณิชย์ ปี ๒๕๔๘ (2005 Commercial Law)
พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ ๗๒ (Decree ๗๒) ได้จำแนกประเภทของการจัดตั้งธุรกิจ
โดยนักลงทุนต่างชาติในเวียดนามได้ ดังนี้
๑.   บริษัทจำกัด (Limited Liability Company) อาจจัดตั้งเป็นลักษณะผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือมากกว่าสองรายขึ้นไปก็ได้ แต่ไม่เกิน ๕๐ ราย
๒.      บริษัทร่วมทุน (Shareholding or Joint-stock Company) เป็นบริษัทที่ต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย ๓ ราย โดยไม่จำกัดจำนวนสูงสุด
๓.      ห้างหุ้นส่วนสามัญ (General Partnership) หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด(Limited Liability Partnership)
๔.      บรรษัทเอกชน (Private Enterprise) มีลักษณะคล้ายกับห้างที่มีผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียว
๕.      สาขา (Branch)
๖.      สำนักงานผู้แทน (Representative Office)

๑.๓ กฎหมายแรงงาน
กฎหมายกำหนดให้บริษัทสามารถจ้างชาวเวียดนามอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไปได้
โดยวิธีต่อไปนี้ ๑) จ้างโดยตรง ๒) มอบหมายให้บริษัทจัดหางานของรัฐเป็นผู้จัดหาในกรณีที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศหรือสำนักงานตัวแทน (Representative Office) ๓) ถ้าบุคคลที่หน่วยงานของรัฐจัดหาให้ไม่เป็นที่พอใจบริษัทสามารถจัดหาแรงงานได้เอง โดยบริษัทต้องวางแผนฝึกอบรมและเปิดหลักสูตรฝึกอบรมและสามารถส่งคนงานไปฝึกในศูนย์ฝึกอบรมต่างประเทศหรือในประเทศได้ เพื่อยกระดับความสามารถของคนงานทุกระดับในบริษัท
บริษัทอาจจ้างแรงงานอายุระหว่าง ๑๖-๑๘ ปีได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมและหากหลังจากสิ้นสุดเวลาฝึกอบรม คนงานเหล่านั้นยังอายุไม่ถึง ๑๘ ปี ก็สามารถขออนุญาตจากบิดามารดาของคนงานหรือผู้ให้การอุปถัมภ์ได้ในกรณีที่คนงานนั้นเป็นเด็กกำพร้า การว่าจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานจ้างงานท้องถิ่น บริษัทสามารถจ้างชาวต่างประเทศได้ สำหรับตำแหน่งที่ต้องการความชำนาญด้านเทคนิคหรือไม่สามารถหาชาวเวียดนามมาปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจในเวียดนามรวมถึงบริษัทต่างชาติ สำนักงานตัวแทนและสาขาของบริษัทต่างชาติที่ต้องการจ้างแรงงานต่างชาติต้องลงประกาศรับสมัครแรงงานในหนังสือพิมพ์ของเวียดนามอย่างน้อย ๑ ฉบับเป็นเวลา ๓ วัน

๑.๔ กฎหมายที่ดิน
รัฐบาลเวียดนามไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติซื้อขายที่ดินในเวียดนาม แต่ให้สิทธิในการเช่าที่ดิน (Land Use Right) ซึ่งมีระยาเวลาการเช่าขึ้นอยู่กับระยะเวลาของโครงการลงทุน
ตามที่ได้รับ Investment License เป็นหลัก โดยทั่วไปนักลงทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินประมาณ ๕๐ ปี แต่อาจขยายได้ถึง ๗๐ ปี หากเป็นโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษจาก The Standing Committee of the National Assembly ของเวียดนาม ยกเว้นโครงการลงทุนประเภท Build-Transfer-Operate Contract (BTO) ซึ่งการลงทุนที่เป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานราชการของเวียดนามกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อสร้างหรือดำเนินการในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น สะพาน ถนน สนามบิน ท่าเรือ ประปา และไฟฟ้า รัฐบาลเวียดนามจะทำสัญญากับผู้ลงทุนในลักษณะต่าง ๆ อาทิ BOT (Build-Operate-Transfer)
คือ โครงการลงทุนที่ผู้ลงทุนสร้างแล้วเสร็จ ผู้ลงทุนต้องโอนให้รัฐบาลเวียดนามก่อน จึงจะสามารถดำเนินการเพื่อหาผลประโยชน์ได้ในระยะเวลาที่ตกลงกันและ BT (Build-Transfer) คือ โครงการลงทุนที่เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้ลงทุนต้องโอนให้รัฐบาลเวียดนามทันที โดยรัฐบาลเวียดนาม
ได้สนับสนุนโครงการลงทุนต่างชาติในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว โดยการให้สิทธิพิเศษในการใช้ที่ดินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิพิเศษด้านภาษี เป็นต้น[๑]

๒. กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
ก.   กฎหมายล้มละลาย ปี ๒๕๔๗ (Bankruptcy Law of 2004) กำหนดหลักการ
ว่านอกเหนือจาก บรรดาเจ้าหนี้แล้ว คู่สัญญาต่าง ๆ ก็สามารถเข้าร่วมกระบวนการล้มละลายได้เช่นกัน และให้อำนาจทางกฎหมายแก่ศาลในการจัดการธุรกิจที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ข.   กฎหมายแข่งขันทางการค้า ปี ๒๕๔๗ (Law on Competition of 2004) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรมเท่าเทียม และไม่มีการแบ่งแยก
โดยให้ความสำคัญต่อสิทธิในการเข้าแข่งขันอย่างเสรี กำหนดเรื่องการทำความตกลงที่
ห้ามมิให้มีการแข่งขันทางการค้าและการผูกขาดจากภาครัฐ
ค.   กฎหมายธุรกิจประกันภัย (Law on Insurance Business, December 9, 2000)
ง.   กฎหมายองค์กรธุรกิจ (Law on Enterprises, December 25, 2001)
จ.   กฎหมายศุลกากร (Law on Customs, January 1, 2002)
ฉ.  กฤษฎีกาว่าด้วยการแปลงธุรกิจลงทุนของต่างชาติเป็นรูปแบบบริษัทที่มีการถือหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติ (Decree of the Government on the Conversion of a Number of Foreign Invested Enterprises into Shareholding Companies, April 15, 2003)
ช.    กฎหมายพาณิชย์ (Commercial Law, June 14, 2005)
ซ.   กฤษฎีกาที่ ๗๘ การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Decree No. 78/2006/ ND-CP
of August 6, 2006 providing for offshore direct investment)
ฌ.  กฤษฎีกาว่าด้วยการขึ้นทะเบียนธุรกิจ (Decree on Business Registration,
August 29, 2006)
ญ.   กฤษฎีกาที่ ๑๐๘ (Decree No. 108/2006/ND-CP of September 22, 2006)
ฎ.   กฎหมายภาษีเงินได้ขององค์กรธุรกิจ (Law on Enterprise Income Tax,
August 24, 2007)
ฏ.   กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตราของกฎหมายศุลกากร (Law on Amendment of and Addition to Number of Articles of the Law of Customs)[๒]

บทสรุป
การศึกษากฎและระเบียบการลงทุนและการประกอบธุรกิจในเวียดนามเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรศึกษาให้รอบคอบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเวียดนามมีกฎระเบียบที่บังคับภายในประเทศจำนวนมาก ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อยและส่วนใหญ่ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติ เช่น กฎหมายการจ้างงาน หรือนโยบายทางภาษี เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกฎหมายการลงทุนและจัดตั้งธุรกิจให้ถ่องแท้ ชัดเจนและต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎและระเบียบการลงทุน และการประกอบธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
 

[๑] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. "รอบรู้เรื่องการลงทุนในอาเซียน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม". ๒๕๕๗. 
[๒] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. "คู่มือการลงทุนอาเซียน ๑๐ ประเทศ". ๒๕๕๙.

© 2017 Office of the Council of State.