หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
แนะนำอาเซียน
ข่าวต่างประเทศ
ความตกลง
APSC
AEC
ASCC
ASEAN PLUS
บทความ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน
บทความวิชาการ
งานวิจัย
กฎหมายน่ารู้
ติดต่อเรา
กฎหมายที่ควรรู้ก่อนการลงทุนใน CLMV : กัมพูชา
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
13 Nov 2017
บทนำ
โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่ต้องการในกลุ่มประเทศดังกล่าว ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม CLMV เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยต้องการแรงงานและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจาก CLMV ประกอบกับการที่ CLMV ทุกประเทศมีพรมแดนติดกับไทยจึงทำให้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากสนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือหาลู่ทางในการประกอบธุรกิจ
กัมพูชาเป็นหนึ่งประเทศในกลุ่ม CMLV ที่น่าสนใจในการที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุน เนื่องจากมีจุดแข็งจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อัตราค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ชาวกัมพูชาบางจังหวัดสามารถพูดภาษาไทยได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตและขยายตัวต่อเนื่องในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาจากแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคเศรษฐกิจต่างประเทศและภาครัฐ ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและภาคการส่งออกสินค้า รวมทั้งภาคบริการการท่องเที่ยว โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา คือ เสื้อผ้าและรองเท้า โดยปี ๒๕๕๙ เศรษฐกิจกัมพูชามีอัตราการขยายตัวร้อยละ ๗ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๘ และคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ ๗.๓ - ๗.๕ ช่วงปี ๒๕๕๗ - ๒๕๖๑
บทความนี้จะกล่าวถึงกฎหมายด้านการลงทุนของกัมพูชา โดยกล่าวเบื้องต้นถึงภาพรวมของอาเซียนและประชาคมอาเซียน และความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกิดความรู้ความเข้าใจมากในเรื่องการลงทุนในกัมพูชาและสามารถเปิดรับโอกาสและประโยชน์ภายใต้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
อาเซียนและประชาคมอาเซียน
อาเซียนก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ปัจจุบัน
มีประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ ๖๐๘ ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกัน ๒.๓ พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปี ๒๕๕๕) และเป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๕
เป็นต้นมาอาเซียนกำลังเตรียมการเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างเต็มรูปแบบในปี ๒๕๕๘ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยและสมาชิกอื่น ๆ มีโอกาสแสวงหาประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการบางประเภทกิจการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าและการลงทุน ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อตกลงและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะความตกลงเต็มรูปแบบว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment agreement - ACIA) กฎหมายและระเบียบการค้าการลงทุนของสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง
ความตกลงเต็มรูปแบบว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (
ACIA)
ความตกลงเต็มรูปแบบว่าด้วยการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA เป็นความตกลงที่ผนวกเนื้อหาความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (the Framework agreement on ASEAN Investment Area: AIA) ซึ่งมีหลักการว่าด้วยการเปิดเสรีการลงทุนในอาเซียนและใช้บังคับมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Guarantee Agreement: ASEAN IGA) ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เพื่อให้เป็นความตกลงเต็มรูปแบบฉบับเดียวที่ว่าด้วยการลงทุนของอาเซียน โดยรัฐมนตรีทั้ง ๑๐ ประเทศ
ได้ร่วมกันลงนามความตกลงดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แต่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้
เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้สัตยาบันครบทั้ง ๑๐ ประเทศแล้วซึ่ง ณ ปัจจุบันความตกลง ACIA
มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕
[๑]
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีกฎระเบียบด้านการลงทุน(Investment Regime) ในลักษณะที่เปิดกว้างและเสรี (Open & Free) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการ (Integration) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน สาระสำคัญของความตกลง ACIA มีขอบเขตครอบคลุมมิติการลงทุน ๔ ด้าน ได้แก่
๑. การเปิดเสรี (Liberalization)
๒.การคุ้มครอง (Protection)
๓. การส่งเสริม (Promotion)
๔.การอำนวยความสะดวก (Facilitation)
ความตกลงดังกล่าวครอบคลุมทั้งการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment : FDI) และ
การลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) เพื่อรองรับการขยายตัวของกระแสการลงทุนในหลักทรัพย์ ความตกลง ACIA ครอบคลุมการลงทุนในธุรกิจ ๕ สาขา ได้แก่ เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ การผลิตรวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่อง และการลงทุนในธุรกิจบริการภายใต้กรอบความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services :AFAS) เช่นกัน ความตกลง ACIA เป็นข้อตกลงที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนในอาเซียนได้โดยปราศจากอุปสรรคและข้อกีดกันทางการลงทุน
กฎหมายและกฎระเบียบด้านการลงทุนในกัมพูชา
รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลการลงทุนที่ค่อนข้างครบถ้วน กฎระเบียบหลักที่นักลงทุนไทยควรศึกษาทำความเข้าใจลำดับแรก คือ กฎหมายการลงทุนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๖ เนื้อหากฎหมายครอบคลุมบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการลงทุนของกัมพูชา การจัดตั้งและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ การให้สัมปทานที่ดิน การเวนคืนที่ดิน กฎหมายที่มีความสำคัญลำดับรองลงมาที่นักลงทุนไทยควรศึกษาทำความเข้าใจ ได้แก่
(๑) กฎหมายบริษัท ซึ่งได้กำหนดให้การประกอบกิจการในกัมพูชาสามารถดำเนินการในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ และบริษัทจำกัด ทั้งนี้ กฎหมายกัมพูชาไม่มีข้อจำกัดในการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ กฎหมายดังกล่าวนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการจัดตั้งสาขาและการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนของบริษัทต่างชาติเช่นกัน
(๒) กฎหมายธุรกิจและอุตสาหกรรม เนื้อหาครอบคลุมแนวทาง การร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน การกำหนดมาตรฐานสินค้าข้อกำหนดเกี่ยวกับด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
(๓) กฎหมายเกี่ยวกับภาษีและการบัญชี ประกอบด้วยคำสั่งรัฐมนตรีและกฎหมายย่อยรวม ๒๔ ฉบับ เนื้อหาครอบคลุมบทบัญญัติเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี การตรวจบัญชี การจัดการเกี่ยวกับภาษีและกำไร
(๔) กฎหมายการธนาคารและการเงิน ประกอบด้วยกฎหมายย่อยคำสั่งรัฐมนตรี กฤษฎีกาย่อย จำนวนรวม ๑๖ ฉบับ ขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมสาระสำคัญเกี่ยวกับการเช่าซื้อ การดำเนินงานของสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์
(๕) กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการค้า ประกอบด้วยคำสั่งรัฐมนตรีกฤษฎีกาย่อยจำนวนรวม ๑๒ ฉบับ ขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมสาระสำคัญเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิด ระเบียบภาษีศุลกากรสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ศุลกากรคลังสินค้ามาตรการที่จำเป็นต่อการจัดการส่งออกภายใต้ระบบการค้าภายใต้สิทธิพิเศษ
(๖) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ประกอบด้วยกฎหมายย่อยคำสั่งรัฐมนตรี กฤษฎีกาย่อย จำนวนรวม ๑๐ ฉบับ ขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมสาระเกี่ยวกับการจ้างงาน ค่าตอบแทนความเสี่ยงของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ค่าแรงและการทำงานล่วงเวลา
(๗) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบด้วยกฎหมายย่อย คำสั่งรัฐมนตรี กฤษฎีกาย่อย จำนวนรวม ๗ ฉบับ ขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมสาระสำคัญเกี่ยวกับ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้าการคุ้มครองข้อมูลที่ไม่เปิดเผย การคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิ์ข้างเคียง
นอกจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้ง ๗ กลุ่มข้างต้นแล้ว กัมพูชายังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น กฎหมายการธนาคาร กฎหมายเกี่ยวกับสาธารณูปโภค คมนาคมและที่ดิน กฎหมายเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว กฎหมายเกี่ยวกับภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การลงทุนในกัมพูชาจึงควรศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและรอบคอบ
ด้านการขอรับการอำนวยความสะดวกการลงทุนและการอนุมัติโครงการลงทุน รัฐบาลกัมพูชาได้จัดตั้งสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชามีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงด้านการส่งเสริมการลงทุน และได้มีการจัดตั้งการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop-Service) สำหรับการลงทุนในกัมพูชา โดยได้กำหนดกระบวนการและเงื่อนไขการให้บริการที่ชัดเจน ทั้งนี้ นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกัมพูชาควรศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดและสัดส่วนของการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ภายใต้เงื่อนไขการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วที่ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร(Generalized System of Preferences : GSP) แก่สินค้าจากกัมพูชาเพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง
กฎระเบียบของกัมพูชา ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบการยกเว้นภาษีเงินได้ที่เก็บจากกำไรโดยมีช่วงเริ่มต้นไม่เกิน ๓ ปี และมีช่วงเวลาพิเศษไม่เกิน ๙ ปี มาตรการยกเว้นภาษีหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้ง มีการกำหนดมาตรการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัตถุดิบสินค้านำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดสาขาการลงทุนที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายการลงทุนเช่นกัน ได้แก่ กิจกรรมทางการค้าทุกประเภท บริการคมนาคมทุกรูปแบบ ร้านอาหาร คาราโอเกะ บาร์ โรงนวด ศูนย์ออกกำลังกาย ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการผลิตและแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้ บริการวิชาชีพ คาสิโนและธุรกิจการพนัน ธุรกิจโรงแรม ที่มีมาตรฐานต่ำกว่า ๓ ดาว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และคลังสินค้า ธุรกิจเกี่ยวกับข่าวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ (วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์)
ตามนโยบายของกัมพูชายังได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญในการขอรับการส่งเสริมการลงทุน คือ วงเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละกิจการที่แตกต่างกันไป ตามของประเภทกิจการ ด้านระบบการเก็บภาษี กัมพูชาจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ ๒๐ และจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราร้อยละ ๐-๒๐ ในอัตราก้าวหน้า จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ ๑๐
ด้านการจ้างงานของแรงงานต่างชาติ กฎหมายกัมพูชากำหนดให้จ้างแรงงานต่างชาติได้ในระดับ ผู้จัดการ หัวหน้า และแรงงานฝีมือ โดยไม่จำกัดจำนวนลูกจ้างชาวต่างชาติ แต่กำหนดเพดานการจ้างแรงงานต่างชาติไว้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
ด้านการถือครองที่ดิน กฎหมายกัมพูชาห้ามชาวต่างชาติถือครองที่ดิน แต่อนุญาตให้บุคคลต่างชาติและนิติบุคคลต่างชาติเช่าที่ดินได้นาน ๙๙ ปี และ อนุญาตให้เป็นเจ้าของอาคารที่อยู่บนที่ดินได้นาน ๗๐ ปี ทั้งนี้ การเช่าที่ดิน นักลงทุนควรตรวจสอบว่าเจ้าของที่ดินมีเอกสารความเป็นเจ้าของที่ดินถูกต้อง หรือไม่ กัมพูชายังให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยได้กำหนดมาตรการลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจ และให้ความสำคัญกับ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม การปรับปรุงประสิทธิภาพ การให้บริการด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพแรงงาน ภายในประเทศ
[๒]
บทสรุป
จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่ารัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศอย่างมาก จึงมีนโยบายให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมาตลอด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกและการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมและการอนุญาตให้นักลงทุนโอนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชากำลังดำเนินการปรุบปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการค้าของประเทศ นักลงทุนจึงควรศึกษาและตรวจสอบกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ
และความคืบหน้าของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ของกัมพูชาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อความราบรื่นในการประกอบธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชา
[๑]
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. "รายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการศึกษาพันธกรณีตามความตกลงในกรอบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อเตรียมความพร้อมในการอนุวัติการ". ๒๗-๒๙ กันยายน ๒๕๕๕
[๒]
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. "รอบรู้เรื่องการลงทุนในอาเซียน". http://www.thaifta.com/ThaiFTA/Portals /0/investment_kh2557.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐)
© 2017 Office of the Council of State.