BANNER

กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศสิงคโปร์


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      23 Oct 2017

  


บทนำ
ระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่ดีที่สุดของโลก จากการเปรียบเทียบคะแนนในโครงการเพื่อการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งได้จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นอันดับที่ ๑ ของ PISA ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน จากกว่า ๗๐ ประเทศทั่วโลก[๑] และเนื่องจากสิงคโปร์เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ระบบการศึกษาของสิงคโปร์จึงมีความคล้ายคลึงกับระบบการศึกษาของอังกฤษ กล่าวคือ ใช้หลักสูตร GCSE และ A level[๒] ของอังกฤษระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้น มีที่มาสำคัญจากนโยบายของรัฐบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีนักเรียนจำนวนมากที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน รัฐบาลจึงดำเนินโครงการนโยบายการศึกษาระยะสิบปี (Ten Years Programme for Education Policy) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ถึง พ.ศ.๒๕๐๓ เพื่อให้เกิดระบบการศึกษาที่เตรียมความพร้อมของประชาชนสำหรับการปกครองตนเองภายหลังได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ

ในเวลาต่อมา เมื่อสิงคโปร์เริ่มมีการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายทางการศึกษาที่เน้น “การศึกษาเพื่อความอยู่รอด” (survival-drain education) เพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และลดอัตราการว่างงานภายในประเทศ มีการจัดตั้งสถาบันอาชีวะ และโครงการ Gifted Education Programme   นอกจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจแล้ว การศึกษายังช่วยในเรื่องการรวมชาติ โดยเริ่มจากนโยบายการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้ใช้นโยบายการเรียนสองภาษาในโรงเรียน ที่ถูกนำมาใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน เพื่อใช้เป็นภาษากลางระหว่างประชากรต่างเชื้อชาติ

บทความนี้นำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาของสิงคโปร์ ประกอบด้วยกฎหมายสำคัญ ๓ ฉบับ ได้แก่ Compulsory Education Act (Chapter 51)   Education Act (Chapter 87) และ Private Education Act (Chapter 247A) โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๖ หัวข้อ ได้แก่ ภาพรวมของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ตามนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ การศึกษาภาคบังคับ การขึ้นทะเบียนโรงเรียน การขึ้นทะเบียนสถานศึกษาเอกชน การขึ้นทะเบียนผู้บริหารโรงเรียนและครู และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ภาพรวมของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ตามนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญของสิงคโปร์ที่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับความเท่าเทียมมาตรา ๑๖ แห่งรัฐธรรมนูญสิงคโปร์กำหนดเรื่องการให้ความเคารพในการศึกษาโดยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อประชากรของสิงคโปร์ (citizen of Singapore) ในสถานศึกษาของรัฐบนพื้นฐานของศาสนา ชาติพันธุ์ การสืบเชื้อสาย หรือสถานที่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกระบวนการรับนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หรือการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการศึกษาของนักเรียนในสถานศึกษาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของรัฐหรือไม่ และไม่ว่าจะอยู่ในประเทศสิงคโปร์ หรือนอกประเทศสิงคโปร์ก็ตาม นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กลุ่มศาสนาทุกกลุ่มมีสิทธิที่จะก่อตั้งสถาบันเพื่อการศึกษาของเด็กและออกคำสั่งภายใต้ศาสนาตน และบุคคลจะต้องไม่ถูกบังคับให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาของตนอีกด้วย[๓]

หากพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญได้ถูกตราขึ้นให้สอดคล้องกับลักษณะของประชากรในประเทศ ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติและศาสนา โดยศาสนาที่ประชาชนนับถือนั้นมีทั้ง พุทธ ขงจื๊อ เต๋า คริสต์ อิสลาม และฮินดู รัฐธรรมนูญจึงไม่กำหนดให้มีศาสนาประจำชาติ และยังเน้นให้สถาบันการศึกษาเคารพและไม่เลือกปฏิบัติต่อนักเรียนอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ในการนี้ รัฐบาลยังได้ให้การอุดหนุนด้านการศึกษาจนเสมือนกับว่าโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนของรัฐบาล ส่วนสถานศึกษาของเอกชนในสิงคโปร์จะมีเฉพาะในระดับอนุบาลและโรงเรียนนานาชาติเท่านั้น

การศึกษาภาคบังคับ
ประเทศสิงคโปร์ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการศึกษาภาคบังคับไว้ใน Compulsory Education Act โดยกำหนดไว้ว่า เด็กที่จะต้องเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับนั้น คือ (ก) เด็กที่เกิดหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ (ข) เป็นพลเมืองสิงคโปร์ และ (ค) มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์[๔] สำหรับการศึกษาภาคบังคับนั้นมีระยะเวลา ๑๐ ปี โดยเริ่มตั้งแต่เด็กอายุ ๖ ปี ซึ่งจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐ(national primary school)[๕] อนึ่ง  ผู้ปกครองที่ไม่ประสงค์จะส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐ จะต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมศึกษาธิการถึงเหตุผลที่ไม่ส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว

การศึกษาภาคบังคับในสิงคโปร์เมื่อเทียบกับการศึกษาของไทย คือ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๑ ถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๔ หรือปีที่ ๕ ขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่นักเรียนเลือก โดยการศึกษาในระดับประถมศึกษาของสิงคโปร์แบ่งเป็น ๒ ช่วง ได้แก่ ช่วงประถมตอนต้นและประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเรียกว่า Foundation Stage โดยนักเรียนจะเรียน ๓ วิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาที่พูดมาแต่กำเนิด และคณิตศาสตร์   นอกจากนั้น จะมีวิชาดนตรี ศิลปหัตถกรรม หน้าที่พลเมือง สุขศึกษา สังคมศึกษา และพลศึกษา และช่วงประถมปลาย คือ ประถมศึกษาปีที่ ๕ ถึงปีที่ ๖ ซึ่งเรียกว่า Orientation Stage ในช่วงนี้ นักเรียนจะถูกแยกเรียนตามกลุ่มทางภาษาโดยขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษาของแต่ละคน เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว นักเรียนต้องผ่านการสอบที่เรียกว่า Primary School Leaving Examination (PSLE) เพื่อที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา จึงถือได้ว่าผลการสอบ PSLE นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเลือกศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาของนักเรียน

การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในสิงคโปร์มี ๓ หลักสูตรให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสามารถและความสนใจ คือ แบบเร่งรัด (Express) ซึ่งเป็นหลักสูตร ๔ ปี ส่วนแบบธรรมดาสายวิชาการ (Normal-Technical) เป็นหลักสูตร ๕ ปี เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว นักเรียนจะต้องทำการสอบเพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตร จากนั้นผู้ที่สนใจเรียนสายวิชาชีพเทคนิค หรืออาชีวศึกษา ก็สามารถแยกไปเรียนตามสถาบันต่าง ๆ ได้ส่วนผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จะต้องเข้าศึกษาต่อใน Junior College อีก ๒ ปี เมื่อจบแล้วจะต้องสอบ GCE "A" Level เพื่อนำผลคะแนนไปใช้ตัดสินการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่ไม่ส่งเด็กเข้ารับการศึกษาภาคบังคับจะมีความผิดตาม Compulsory Education Act เว้นแต่จะได้รับการยกเว้น หรือแสดงเหตุผลให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเหตุใดจึงไม่ส่งเด็กเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐ ซึ่งบทลงโทษของผู้กระทำความผิดภายใต้มาตรา ๓ (๒) คือ โทษไม่เกิน ๕,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือจำคุกไม่เกิน ๑๒ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ[๖]  ซึ่งบทลงโทษที่รุนแรงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังต่อการศึกษาของประเทศสิงคโปร์

          การขึ้นทะเบียนโรงเรียน
          ประเทศสิงคโปร์มีความเข้มงวดในการจัดตั้งโรงเรียน จึงได้ออกกฎหมาย Education Act (Chapter 87) ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ คือ กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนโรงเรียนในสิงคโปร์ การนำเสนอในหัวข้อนี้แบ่งออกเป็น ๓ หัวข้อย่อย ได้แก่ คำนิยามตามกฎหมาย เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนในโรงเรียน และการอุทธรณ์

          ก) คำนิยามตามกฎหมาย
Education Act (Chapter 87) ระบุนิยามว่า "โรงเรียน" หมายถึง องค์กร หรือสถานที่ที่มีการให้การศึกษาแก่คนตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นเรียนเดียวหรือหลายชั้นเรียน[๗]   นอกจากนี้ ยังจำกัดการใช้คำศัพท์คำว่า "โรงเรียน" "มหาวิทยาลัย" "วิทยาลัย" และ "สถาบันการศึกษา" หรือคำศัพท์ใด ๆ ที่กำหนดโดยรัฐมนตรีและประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา ไม่ว่าจะในภาษาใดก็ตาม หรือคำศัพท์ใดที่บ่งชี้ว่าบุคคล หรือองค์กรให้การศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีศึกษาธิการ (Director-General of Education) ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือจำคุกไม่เกิน ๑๒ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ[๘]

ในกรณีที่เป็นการขึ้นทะเบียนโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนรัฐบาล ผู้ที่ต้องการจะเป็นผู้บริหารโรงเรียนจะต้องยื่นเรื่องต่ออธิบดี โดยอธิบดีฯ มีอำนาจที่จะขึ้นทะเบียนโรงเรียนนั้น ๆ แต่หากปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียนโรงเรียนใด จะต้องให้เหตุผลกำกับทุกครั้ง

          ข) เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนโรงเรียน
          โรงเรียนที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ จะต้องไม่เข้าข่ายโรงเรียนที่มีลักษณะ ดังนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ที่มีสถานศึกษาเพียงพออยู่แล้ว
(๒) สถานที่จะก่อตั้งโรงเรียนถูกจัดเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงภัยหรือไม่มั่นคงหรือมีความเป็นไปได้ที่โครงสร้างของอาคารจะไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นโรงเรียน
(๓) สถานที่จะก่อตั้งโรงเรียนมีมาตรการป้องกันอัคคีภัยไม่เพียงพอ
(๔) สถานที่จะก่อตั้งโรงเรียนนั้นไม่ถูกสุขอนามัยหรือไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลของสุขภาพในการใช้สถานที่เป็นโรงเรียน
(๕) สถานที่พักผ่อนนอกอาคารสำหรับนักเรียนนั้นมีไม่พอ
(๖) โรงเรียนที่ขอจดทะเบียนนั้นไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนดภายใต้รัฐบัญญัตินี้
(๗) ค่าเล่าเรียนที่นำเสนอสูงเกินไป เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียนและมาตรฐานการศึกษาที่จะให้แก่นักเรียน
(๘) คุณสมบัติและประสบการณ์ของครูที่จะสอนไม่เพียงพอ
(๙) ค่าตอบแทนของครูที่นำเสนอนั้นไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
(๑๐) มีแผนที่จะรองรับนักเรียนจำนวนมากกว่า ๑,๒๐๐ คน ในหนึ่งวิชา
(๑๑) คณะกรรมการโรงเรียนอาจไม่สามารถบริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๑๒) ผู้บริหารโรงเรียนมีความไม่เหมาะสมที่จะบริหาร
(๑๓) โรงเรียนที่ขอขึ้นทะเบียนเคยถูกปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียน หรือเคยถูกถอดใบอนุญาต ภายใต้กฎหมาย Education Act หรือกฎหมายก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนโรงเรียน
(๑๔) มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของสิงคโปร์ หรือของสาธารณะ
(๑๕) มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อสั่งสอนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ หรือของนักเรียน
(๑๖) มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนดังกล่าวจะถูกใช้เป็นสถานที่นัดพบขององค์กรผิดกฎหมาย
(๑๗) ชื่อโรงเรียนที่ขอขึ้นทะเบียนขัดกับผลประโยชน์ของสิงคโปร์ หรือ
(๑๘) ใบขอขึ้นทะเบียน หรือเอกสารที่ใช้ประกอบขอขึ้นทะเบียนมีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือไม่ครบถ้วน
          จะเห็นได้ว่า การขึ้นทะเบียนโรงเรียนในสิงคโปร์ค่อนข้างรัดกุม โดยอธิบดีฯ สามารถปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียนโรงเรียนได้บนหลายฐาน ตั้งแต่คุณภาพของตัวอาคาร ครู ผู้บริหารโรงเรียน ค่าเล่าเรียน หรือแม้กระทั่งชื่อโรงเรียน ในบางกรณี อธิบดี ฯ สามารถใช้ดุลยพินิจในการตัดสินว่าโรงเรียนที่ขอขึ้นทะเบียนนั้นจะกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ หรือผลประโยชน์ของสิงคโปร์อย่างไร ซึ่งสะท้อนว่าภาครัฐมีการควบคุมโรงเรียนในประเทศอย่างจริงจัง
 
ค) การอุทธรณ์
หากผู้ขอขึ้นทะเบียนโรงเรียนไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของอธิบดีฯ สามารถทำหนังสืออุทธรณ์เป็นสำเนา ๒ ฉบับ ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ (Appeal Boards) แล้วแต่กรณี โดยต้องยื่นผ่านอธิบดีฯ หลังจากได้รับหนังสืออุทธรณ์แล้ว รัฐมนตรีฯ หรือเลขานุการของคณะกรรมการอุทธรณ์จะต้องแจ้งผู้ยื่นหนังสืออุทธรณ์และอธิบดีฯ ล่วงหน้า ๑๔ วัน ก่อนถึงวันที่จะพิจารณาเรื่องอุทธรณ์[๙]

คำตัดสินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะกรรมการอุทธรณ์นั้นถือเป็นที่สิ้นสุด
โดยคำตัดสินดังกล่าวจะถูกส่งให้อธิบดีศึกษาธิการ ซึ่งจะแจ้งผลคำตัดสินต่อผู้ยื่นหนังสืออุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป[๑๐]

          การขึ้นทะเบียนสถานศึกษาเอกชน
กิจการสถานศึกษาเอกชนเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในสิงคโปร์สังเกตได้จากจำนวนสถาบันการศึกษาต่างประเทศที่เข้าไปเปิดกิจการในประเทศสิงคโปร์ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนวิชาความรู้ที่เป็นวิชาการ และที่ไม่เป็นวิชาการ รวมไปถึงศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ออกกฎหมาย Private Education Act (Chapter 247A) เพื่อจัดระเบียบสถาบันการศึกษาเอกชนเหล่านี้
 
          ก) ขั้นตอนและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน
Private Education Act (Chapter 264A) กำหนดให้บุคคลใดก็ตามที่ต้องการประกอบธุรกิจการศึกษาในสิงคโปร์ หรือให้ใบประกาศนียบัตร วุฒิบัตร หรือปริญญาบัตรที่เกี่ยวกับการศึกษา จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันการศึกษาเอกชน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ สภาการศึกษาเอกชน (Council of Private Education) สามารถสั่งปิดสถานศึกษาดังกล่าได้โดยใช้กำลัง หรือปิดทางเข้า-ออกสถานที่ดังกล่าวได้

การขอขึ้นทะเบียนสถาบันการศึกษาเอกชนจะต้องกระทำโดยผู้บริหารของสถาบันการศึกษาเอกชนดังกล่าว โดยยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อสภาการศึกษาเอกชน ซึ่งอาจพิจารณาปฏิเสธคำขอขึ้นทะเบียนของสถาบันการศึกษาเอกชนดังกล่าวได้ บนฐานดังต่อไปนี้
(๑) สถาบันการศึกษาเอกชนนั้นไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือองค์กร
(๒) สถานที่ตั้งของสถาบันการศึกษานั้น ไม่เหมาะสมที่จะเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนไม่ถูกสุขอนามัยหรือไม่ปลอดภัย ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากให้การศึกษาเอกชนหรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
(๓) มากกว่ากึ่งหนึ่งของครู หรือผู้ที่จะมาเป็นครูในสถาบันการศึกษาเอกชนนั้นขาดคุณสมบัติหรือประสบการณ์ขั้นต่ำ หรือมีความไม่เหมาะสมที่จะสอนในสถาบันการศึกษาเอกชน
(๔) ใบขอขึ้นทะเบียน หรือเอกสารที่ใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนมีข้อความที่เป็นเท็จ หรือมีข้อมูลไม่ครบถ้วน
(๕) สถาบันการศึกษาเอกชน หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาเอกชนฝ่าฝืนบัญญัติภายใต้กฎหมาย Private Education Act หรือเคยถูกตัดสินว่ากระทำความผิดภายใต้รัฐบัญญัตินี้ หรือเคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริต หรือฉ้อโกง ภายในระยะเวลา ๕ ปี ก่อนการยื่นขอขึ้นทะเบียน
(๖) ผู้บริหาร หรือผู้ที่จะเป็นผู้บริหารของสถาบันการศึกษาเอกชนมีความไม่เหมาะสม
(๗) สภาการศึกษาเอกชนเห็นว่า ชื่อของสถาบันการศึกษาเอกชนอาจชักจูงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อลักษณะหรือวัตถุประสงค์ของสถาบันการศึกษาเอกชนนั้น หรือมีความเหมือนหรือซ้ำกับชื่อสถานศึกษาอื่นหรือสถาบันการศึกษาเอกชนที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นชื่อที่หยาบคายหรือเป็นชื่อที่รัฐมนตรีมีคำสั่งไม่ให้รับขึ้นทะเบียน

เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนและได้ดำเนินกิจการไปสักระยะหนึ่ง สถาบันการศึกษาเอกชนนั้นอาจถูกตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบโรงเรียน (inspector) ซึ่งแต่งตั้งโดยสภาการศึกษาเอกชน[๑๑] ผู้ตรวจสอบโรงเรียนมีอำนาจในการ
(ก) เข้าไปยังสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาเอกชน ในกรณีที่มีเหตุให้เชื่อว่ามีหลักฐานการกระทำผิดภายใต้รัฐบัญญัตินี้ และอาจค้น ยึด และเอาหนังสือ เอกสาร วัตถุ หรือทำสำเนาหากเห็นว่าจำเป็น
(ข) ขอให้บุคคลที่เชื่อว่าได้กระทำความผิดส่งหลักฐานให้ หรือ
(ค) ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้บุคคลใด ๆ ในสิงคโปร์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดนั้น เป็นต้น

          ข) การขออนุญาตประกอบกิจกรรมในสถานศึกษาเอกชน
นอกจากกฎหมายสิงคโปร์จะกำหนดให้สถานศึกษาเอกชนต้องขึ้นทะเบียนแล้ว บางกิจกรรมในสถานศึกษาเอกชน เช่น ร้านอาหาร สื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องขอใบอนุญาตด้วย โดยขึ้นอยู่กับประเภทของสถานศึกษา
          การขึ้นทะเบียนผู้บริหารโรงเรียนและครู
Education Act (Chapter 87) กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้บริหาร (manager) โรงเรียน และยังห้ามไม่ให้บุคคลใดสอน หรือถูกจ้างเป็นครูในโรงเรียนหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นครูหรือได้รับอนุญาตให้สอนภายใต้รัฐบัญญัตินี้

ก) คุณสมบัติของผู้ที่สามารถขึ้นทะเบียนผู้บริหารโรงเรียนและครู
ผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริหารโรงเรียนจะต้องไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา ๓๓ แห่ง Education Act (Chapter 87) ซึ่งให้อธิบดีมีอำนาจในการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนผู้บริหารโรงเรียน บนฐานดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบุคคลที่กระทำผิดในเขตอำนาจศาลสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย หรือประเทศในเครือสหราชอาณาจักร และเป็นการกระทำผิดที่ลงโทษด้วยการจำคุก โดยการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับการศึกษา หรือการขึ้นทะเบียนโรงเรียน หรือภายใต้กฎหมายที่ใกล้เคียงกันของมาเลเซีย
(๒) เป็นบุคคลที่เคยได้รับการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริหารของโรงเรียน หรือถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะภายใต้รัฐบัญญัตินี้ หรือกฎหมายก่อนหน้าที่ถูกยกเลิกไปแล้วที่เกี่ยวกับการศึกษา หรือการขึ้นทะเบียนโรงเรียน หรือกฎหมายใดของมาเลเซียที่มีบทบัญญัติที่ใกล้เคียง
(๓) เป็นบุคคลที่มีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารโรงเรียน
(๔) เป็นบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่จะจัดการโรงเรียน
(๕) เป็นบุคคลที่เคยให้ข้อมูลเท็จในการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือครู
(๖) การขึ้นทะเบียนบุคคลดังกล่าวจะกระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ หรือของนักเรียน

สำหรับคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นครูในสิงคโปร์อยู่ภายใต้มาตรา ๓๘ แห่ง Education Act (Chapter 87) กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจในการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนครู หากพิจารณาแล้วเห็นว่า
(๑) เป็นบุคคลที่มีลักษณะไม่เหมาะสม
(๒) เป็นบุคคลที่กระทำผิดในเขตอำนาจศาลสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย หรือประเทศในเครือสหราชอาณาจักร และเป็นการกระทำผิดที่ลงโทษด้วยการจำคุก โดยการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับการศึกษา หรือการขึ้นทะเบียนโรงเรียน หรือภายใต้กฎหมายใกล้เคียงกันของมาเลเซีย
(๓) เป็นบุคคลที่เคยได้รับการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนเป็นครู หรือถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียนไม่ว่าจะภายใต้รัฐบัญญัตินี้ หรือกฎหมายก่อนหน้าที่ยกเลิกไปแล้วที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือการขึ้นทะเบียนโรงเรียน หรือกฎหมายใดของมาเลเซียที่มีบทบัญญัติที่ใกล้เคียง
(๔) เป็นบุคคลที่เคยถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะภายใต้รัฐบัญญัตินี้ หรือกฎหมายก่อนหน้าที่ยกเลิกไปแล้วที่เกี่ยวกับการศึกษา หรือการขึ้นทะเบียนโรงเรียน หรือกฎหมายใดของมาเลเซียที่มีบทบัญญัติที่ใกล้เคียง เว้นแต่ การยกเลิกการขึ้นทะเบียนนั้น จะเป็นผลจากการลาออกหรือโรงเรียนปิดตัวลง
(๕) เป็นบุคคลที่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายโดยแพทย์ประจำโรงเรียน
(๖) เป็นบุคคลที่เคยให้ข้อมูลเท็จในการขอขึ้นทะเบียนเป็นครู
(๗) เป็นบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลที่ไม่ดีต่อนักเรียน หรือที่ขัดต่อผลประโยชน์สาธารณะ
(๘) เป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

ข) การอุทธรณ์ต่อคำตัดสิน       
เหมือนกับกรณีการอุทธรณ์คำตัดสินของอธิบดีศึกษาธิการ ต่อการขอขึ้นทะเบียนโรงเรียนจะเห็นได้ว่า การขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริหารโรงเรียน และการขึ้นทะเบียนครูในสิงคโปร์นั้นมีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก โดยกำหนดห้ามบุคคลที่เคยกระทำผิดกฎหมาย หรือเคยถูกปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียนในประเทศมาเลเซีย มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือครูในสิงคโปร์ด้วยซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศล้วนได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษจึงมีมาตรฐานที่คล้ายกัน การที่บุคคลใดถูกปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือครูในมาเลเซีย จึงมีแนวโน้มที่จะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือครูในสิงคโปร์เช่นเดียวกัน

บทสรุป
การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดแผนและนโยบายในการพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนาประชากรที่มีคุณภาพ ทั้งการส่งเสริมให้พลเมืองสิงคโปร์มีความสามารถด้านภาษามากกว่าหนึ่งภาษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และให้โอกาสเด็กนักเรียนได้เลือกเรียนสิ่งที่ตนถนัด เพื่อให้เด็กแต่ละคนเติบโตมาเป็นประชากรที่สามารถทำงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
นางสาวจันทพร ศรีโพน
บุคลากรจัดทำฐานข้อมูลทางกฎหมาย
ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 

[๑] BBC News. “Pisa tests: Singapore top in global education rankings”, http://www.bbc.com/news/education-38212070. ๖ ธันวาคม ๒๕๕๙. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐)
[๒] A Level คือ การเรียนซึ่งนักเรียนจะเลือกเรียนเพียง ๔ วิชาในปีแรก และ ๓ วิชาในปีถัดไปเพื่อให้นักเรียนเกิดความเชี่ยวชาญในวิชาที่ตนเรียน ซึ่งแตกต่างจากระบบการศึกษาแบบสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนหลายวิชาในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย
[๓] รัฐธรรมนูญของสิงคโปร์กำหนดเรื่องการให้ความเคารพในการศึกษาโดยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ
Section 16 (1) Without prejudice to the generality of Article 12, there shall be no discrimination against any citizen of Singapore on the grounds only of religion, race, descent or place of birth
[๔] Compulsory Education Act (Chapter 51) ของสิงคโปร์กำหนดให้เด็กต้องเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ
Section 3 —(1)  A child of compulsory school age who is —
(a)born after 1st January 1996;
(b)a citizen of Singapore; and
(c)residing in Singapore,
[๕] คำนิยามของโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในมาตรา ๒ แห่ง Compulsory Education Act ให้หมายถึง โรงเรียนที่จัดการโดยรัฐโดยตรง โรงเรียนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ โรงเรียนตามที่กำหนดในกฎหมาย School Boards (Incorporation) Act (Chapter 284A) และโรงเรียนอื่นตามที่กำหนด
Section 2. “national primary school” means any institution for the provision of full-time primary
education, being —(a) a school organised and conducted directly by the Government; (b) a school in receipt of grant-in-aid under the Education Act;
[๖] Section 7. —(1) Any person who is guilty of an offence under section 3(2) shall be liable on conviction to a fine not exceeding $5,000 or to imprisonment for a term not exceeding 12 months or to both.
[๗] Section 2. “school” means according to the context —
(a)an organization for the provision of education for 10 or more persons; or
(b)a place where 10 or more persons are being or are habitually taught whether in one or more classes, or in the case of a correspondence school, the place or places where instruction is prepared or where answers are examined or corrected;
 
[๘] 4A.—(1)  Subject to subsection (2), no person or organization shall, except with the written consent of the Director-General —
(a)      use the words “academy”, “college”, “school”, “university” or any other term which the Minister may specify by notification in the Gazette, or any of its derivatives, in any language or any other word or words indicating that the person or organization provides education, in the name, description or title under which that person or organization is providing education; or
[๙] Section 56.—(1)  Any person wishing to appeal against any decision of the Director-General shall within the period prescribed deliver to the Director-General two copies of a written statement addressed either to the Minister or to the Appeals Board, as the case may require, stating concisely the grounds for his appeal.
(2)  On receiving such statement the Director-General shall forthwith forward it to the Minister or the secretary of the Appeals Board, as the case may require.
(3)  As soon as may be after receiving such statement the Minister or the secretary of the Appeals Board, as the case may require, shall give to the appellant and the Director-General at least 14 days notice of the date of hearing the appeal.
[๑๐] Section 60.—(1)  The Minister or the Appeals Board, as the case may be, may confirm, set aside or modify the decision against which the appeal is made.
(2)  The decision of the Minister or the Appeals Board, as the case may be, shall be communicated to the Director-General, who shall forthwith inform the appellant in writing of that decision.
 (3)  The decision of the Minister or the Appeals Board made under this section shall be final and conclusive and shall not be questioned in any court.
 
[๑๑] 34.— (1) Subject to the provisions of this Act, no person in Singapore may —
(a) offer to provide or provide private education, whether in Singapore or elsewhere; or
(b) award any degree, diploma or certificate (including any honorary degree or other distinctions) in respect of private education, whether offered or provided in Singapore or elsewhere,

© 2017 Office of the Council of State.