BANNER

การปฏิรูปการศึกษาในอาเซียน


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      10 Oct 2017

  


บทนำ
การศึกษาถือเป็นสิทธิสากลขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะได้รับโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ สีผิว สถานการณ์แวดล้อม และอื่น ๆ และในปีที่ผ่านมาผู้นำจากประเทศอาเซียนได้สร้างประวัติศาสตร์ในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวโดยการรับรอง “ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น” (ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth - OOSCY)[๑] เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนกลางคันให้สามารถกลับเข้ามาเรียนได้อีกครั้ง หลังการรับรองปฏิญญาฯ ประเทศสมาชิกอาเซียนในภูมิภาคได้มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีจำนวนกว่า ๑ ล้านคน และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไปได้นั้นจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ สถานการณ์ดังกล่าวก็เปรียบเสมือนหลุมขนาดใหญ่ที่จะกลายเป็นหลุมลึกมากยิ่งขึ้น

ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่นได้รับความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ รัฐ Selangor ประเทศมาเลเซีย   ทั้งนี้  ในนิยามของคำว่า “เด็ก” นั้น หมายถึง เด็กตั้งแต่อายุ ๓ ขวบซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเข้าเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความเห็นว่าให้เพิ่มนิยามของคำว่า “เยาวชน” เพื่อให้ครอบคลุมเยาวชนซึ่งอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี และส่งเสริมการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึง (inclusive education)   ทั้งนี้  ปฏิญญาฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับทั้งเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เช่น เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เข้าเรียน เข้าเรียนแล้วไม่ไปเรียน และออกกลางคัน โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักในการจัดระบบการศึกษาให้กับคนทุกกลุ่มด้วยการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น (Flexible education)[๒] เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาตนเองให้เป็นประชากรโลกที่มีประสิทธิภาพ และปฏิญญา ฯ ยังได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการที่จะให้การศึกษาให้แก่ทุกคน ภายใต้กรอบของเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)

สาระสำคัญของปฏิญญาฯ
ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่นมีเนื้อหาในเรื่องสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติซึ่งสอดรับกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child -CRC) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of Discrimination against Women - CEDAW) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of the Persons with Disabilities - CRPD) โดยกล่าวในมาตรา ๒๘ ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่า ประเทศภาคีตระหนักถึงสิทธิของเด็กในการศึกษาและมีมุมมองที่จะส่งเสริมสิทธิดังกล่าวบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ก.    ทำให้การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับและไม่เสียค่าเล่าเรียน
ข.   ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา รวมถึง การทำให้การศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษาเปิดกว้างและมีมาตรการที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เช่น การเล่าเรียนฟรี และการช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่จำเป็น
ค.   ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียนแต่ละคนจากการประเมินด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ง.   จัดให้มีการให้ข้อมูลและคำแนะนำด้านการศึกษาสำหรับการศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษาให้เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านี้ได้
จ.   ใช้มาตรการเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน

        การดำเนินการของประเทศอาเซียน
เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย  ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือขององค์การยูเนสโกกรุงเทพฯ ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศไทย สำนักเลขาธิการอาเซียน และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกขององค์การยูนิเซฟ โดยได้รวบรวมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน กว่า ๔๐ ท่านซึ่งมากจากกัมพูชา ลาว ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามเข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาระดมความคิดและทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค และได้ร่างข้อบังคับในการทำงานขึ้นสำหรับคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการศึกษา และมีแผนที่จะเสนอต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการศึกษาในการประชุมครั้งต่อไป ผู้เข้าร่วมประชุมได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาปฏิญญาฯ เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ละประเทศจะต้องสร้างแนวทางในการที่จะทำให้การศึกษาครอบคลุมทุกพื้นที่ และสร้างกรอบความที่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาในระดับภูมิภาค รวมถึงการสร้างระบบฐานข้อมูลระดับชาติที่ครอบคลุมข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงศึกษา และให้การศึกษามีความยืดหยุ่นและยั่งยืน

          นอกจากนี้ ยูเนสโกยังต้องการให้รัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนจัดให้มีการศึกษาสำหรับทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา ๑๕ ปี แต่นโยบายดังกล่าวยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงเรียนในระบบ ในตอนท้ายของการประชุม ที่ประชุมจะต้องจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อเสนอในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการศึกษาในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๐
๑.   ข้อตกลงการทำงานของกลุ่มงานเพื่อสอดคล้องกับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนตกหล่น
๒.      รายการกิจกรรมในภูมิภาคที่ต้องการเสนอ
๓.      ร่างกรอบการดำเนินงานของประเทศในปฏิญญาอาเซียน
๔.      กรอบเวลาสำหรับการดำเนินงานข้างต้น[๓]

การดำเนินการในประเทศไทย
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประเทศไทยมีนักเรียนสังกัด สพฐ. ที่ออกกลางคันจำนวนกว่า ๒๒,๐๐๐ คน ในระหว่างปีการศึกษา ๒๕๕๖-๒๕๕๘ โดยเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครอง ปัญหาความยากจน ปัญหาในการปรับตัว พฤติกรรมของเด็กและเยาวชน และปัญหาอื่น ๆ ตามลำดับ

แนวทางการป้องกันเด็กตกหล่นในไทยเพื่อสอดคล้องกับปฏิญญาฯ 
๑.   สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลนักเรียนออกกลางคันรายบุคคลและรายจังหวัด พร้อมวิเคราะห์ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงจำแนกตามสาเหตุ และประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาดังกล่าวต่อไป
๒.   กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมแผนงานทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยสิ่งสำคัญคือการนำแผนไปสู่การบูรณาการการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด ทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำระบบข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวางแผนติดตามนักเรียนให้กลับมาเรียนให้มากที่สุด และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๓.   การขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมไปถึงเด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าเรียน (๓ ขวบ) แต่ไม่ได้เข้าเรียน เพื่อให้สอดรับกับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น

บทสรุป
ปัญหาเด็กและเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษาไม่ได้เป็นปัญหาระดับประเทศเพียงอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่ทุกประเทศในอาเซียนล้วนแต่ประสบปัญหาดังกล่าวทั้งสิ้น การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ระบบการศึกษามีความยืดหยุ่น ครอบคลุมและเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถกลับเข้ามาสู่ในระบบนั้น เป็นเรื่องระดับภูมิภาคที่นานาประเทศในอาเซียนต่างเห็นพ้องกัน จึงได้มีการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น แม้ปัญหาเด็กและเยาวชนตกหล่นจะเกิดจากการที่เด็กและเยาวชนย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ ความยากจน ปัญหาการปรับตัว และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศในภูมิภาคก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กและเยาวชนออกจากสถานศึกษาในช่วงวัยที่ควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะการปล่อยให้เด็กตกหล่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับสังคมอื่น ๆ ตามมา   ดังนั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขให้เด็กและเยาวชนอยู่ในระบบการศึกษาจนจบ แม้จะมีอุปสรรคด้านงบประมาณ หรืออื่น ๆ จำนวนมาก แต่เชื่อว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะไม่เกินความสามารถของประชาคมอาเซียน
 
ดาวน์โหลดบทความ pdf
[๑] เข้าถึงได้จาก http://asean.org/storage/2016/09/ASEAN-Declaration-on-OOSCY_ADOPTED.pdf
[๒] เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนและสามารถบริหารตนเองได้ ตามศักยภาพความสนใจ
และความถนัดของตนเอง โดยเน้นการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเรียนแบบเปิด (Open learning) 
การเรียนทางไกล (Distance learning) การเรียนโดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์ (Computer Mediated Learning) การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning)  
[๓] UNESCO Bangkok. From Declaration to Action for ASEAN’s Out-Of-School Children and Youth.” May, 26 2017. http://bangkok.unesco.org/content/declaration-action-asean%E2%80%99s-out-school-children-and-youth (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

© 2017 Office of the Council of State.