BANNER

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน (๓)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      06 Sep 2017

  


ประเทศสมาชิกของอาเซียนกับการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา
          โดยหลักแล้ว ประเทศสมาชิกของอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง (principle of non-interference) หลักนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) หรือปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration)[๑] ซึ่งเป็นเอกสารแรกในการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และภายหลังในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับการรับรองในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)[๒] จึงเป็นหลักที่มีความสำคัญกับประเทศสมาชิกอาเซียน แต่สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาได้รับการตอบโต้จากอินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากเป็นประเทศในอาเซียนที่มีมีประชากรส่วนมากที่นับถือศาสนามุสลิมเช่นกัน ในอินโดนีเซียเองก็มีการประท้วงเกิดขึ้นในประเด็นของชาวโรฮิงญา รวมทั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ตำรวจอินโดนีเซียได้มีการจับกุมกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งวางแผนจะวางระเบิดสถานทูตเมียนมาประจำอินโดนีเซียเพื่อต่อต้านเหตุการณ์ที่เกิดแก่ชาวโรฮิงญาด้วย[๓]
          นอกจากในอินโดนีเซีย นายนาจิบ ราซัค (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียก็ได้ตั้งคำถามกับการงดเว้นการกระทำการใด ๆ ของนางออง ซาน ซูจี โดยในการชุมนุมนับพันคนที่สนับสนุนชาวโรฮิงญา ณ  กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อปลายปีที่แล้ว นายนาจิบได้กล่าวว่า “ประชาชนในโลกไม่สามารถอยู่เฉยและทนต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นได้ ประชาชนในโลกไม่สามารถเพียงแค่บอกว่า ‘ดูสิ นั่นไม่ใช่ปัญหาของเรา’ เพราะแท้จริงแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาของเรา”[๔]  แต่บางคนก็ตั้งข้อสงสัยและมองว่าการเคลื่อนไหวของนาย Najib ในช่วงที่คะแนนนิยมกำลังลดลงนั้นเป็นการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่มีกำหนดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. ๒๕๖๑[๕]
          เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ผู้ประท้วงชาวโรฮิงญาเกือบ ๑,๐๐๐ คนได้เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เพื่อรวมตัวชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการนองเลือดเข่นฆ่าชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่หลังจากเกิดเหตุการณ์การสู้รบครั้งใหม่ระหว่างกองกำลังรักษาความปลอดภัยเมียนมากับกลุ่มผู้ประท้วงชาวโรฮิงญา โดยเหตุการณ์ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญาครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ประชาชนชาวมุสลิมทั้งในมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ เกิดความไม่พอใจอย่างมาก[๖]
ในประเทศไทย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TNN24 ว่า อาเซียนยังคงยึดถือกฎบัตรอาเซียนในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก โดยถือว่าเรื่องชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาภายในของเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศทางผ่านจำเป็นต้องรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้ามา โดยที่เมียนมาซึ่งเป็นประเทศต้นทางไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้ ปัจจุบันการหารือในอาเซียนเป็นในลักษณะกว้าง ๆ เช่น กำหนดเป็นกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่ปกติในอ่าวเบงกอล ซึ่งจะหมายถึงคนหลายกลุ่ม อีกทั้งไม่มีการหารือตรง ๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาการแก้ไขกฎบัตรอาเซียนในเรื่องของการแทรกแซง โดยนางอังคณามองว่าเรื่องของชาวโรฮิงญาไม่ใช่ประเด็นด้านการแทรกแซงแต่เป็นเรื่องความร่วมมือในการแก้ปัญหาและคุ้มครองประชาชนในอาเซียนให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองจากรัฐในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ
          ในขณะที่ที่ปรึกษาองค์กร Human Rights Watch ประจำประเทศไทยเห็นว่าประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียควรเป็นผู้นำในการเรียกการประชุมฉุกเฉินเพื่อหาทางช่วยเหลือชาวโรฮิงญาร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกล่าวว่า รัฐบาลไทยอยู่ในสองสถานะ (๑) เป็น ‘หนังหน้าไฟ’ ไม่ว่าชาวโรฮิงญาจะใช้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายหรือเป็นทางผ่าน รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือกับชาวโรฮิงญา และ (๒) ในฐานะสมาชิกอาเซียน โดยที่ปรึกษาฯ มองว่าเหตุการณ์ในรัฐยะไข่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นรัฐบาลไทยควรจะแสดงความคิดริเริ่มจัดการประชุมร่วมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็น ๒ ประเทศที่เคยร่วมมือกันแก้ไขปัญหามาก่อน และหารือกับประเทศสมาชิกและให้ข้อเสนอแนะแก่เมียนมา โดยเน้นไปที่ประเด็นหลัก ๒ ประเด็นคือ (๑) ยุติปฏิบัติการทางทหารเมียนมาในรัฐยะไข่ และ (๒) ให้เมียนมาเปิดทางให้มีการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้ โดยเปิดให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง[๗]
          แม้จะมีความพยายามจากนานาประเทศในการเรียกร้องให้เมียนมาอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่ม ARSA จนมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ท่าทีล่าสุดของกองทัพเมียนมา และรัฐบาลพรรค NLD ของนางอองซาน ซู จี ยังคงไม่มีการตอบรับต่อการเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด[๘]
 
          สรุป
          ปัจจุบันชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมายังคงเผชิญกับความรุนแรงและมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มรัฐบาลทหารและกลุ่ม ARSA ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ออกนอกเมียนมาเพื่อลี้ภัยในประเทศต่าง ๆ เช่น บังกลาเทศ ประเทศไทย และมาเลเซีย เป็นต้น ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศยังคงต้องรอความชัดเจนว่าบังกลาเทศมีแผนจัดการกับพวกเขาอย่างไร  โดยยังมีความไม่แน่นอนของแผนการย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะ Thengar Char และหากมีการย้ายไปยังเกาะจริงจะสามารถจัดการกับอุปสรรคในการย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะดังกล่าว เช่น กลุ่มโจรสลัดและอาชญากร
          ในด้านกฎหมาย มีการจัดทำตราสารทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศขึ้นหลายฉบับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลก แต่ประเทศส่วนใหญ่ที่มีปัญหาของผู้ลี้ภัยยังมิได้ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติตราสารเหล่านั้น โดยอนุสัญญาว่าด้วยสภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นตราสารระหว่างประเทศที่ครอบคลุมถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยได้มากที่สุด แต่ทั้งบังกลาเทศ ประเทศไทย และเมียนมา ไม่ได้ลงนามหรือให้สัตยาบันต่อตราสารระหว่างประเทศทั้งสองฉบับ ทั้งสามประเทศจึงไม่มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในตราสารระหว่างประเทศดังกล่าว ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาในทั้งสามประเทศไม่ได้รับความคุ้มครองตามตราสารฯ  อย่างไรก็ตาม หลักการห้ามผลักดันกลับเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองในตราสารทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจำนวนหลายฉบับ และตามธรรมนูญจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถือว่าหลักการดังกล่าวเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศประเภทหนึ่ง  ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญา บังกลาเทศและประเทศไทยต้องคำนึงถึงหลักการห้ามผลักดันกลับในฐานะจารีตประเพณีระหว่างประเทศด้วย และเมียนมาควรหาวิธีการอื่นในการจัดการกับปัญหาของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ หากเมียนมามีความบริสุทธิ์ใจก็ควรให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาในประเทศ รวมถึงให้องค์กรที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบตามคำแนะนำของที่ปรึกษาองค์กร Human Rights Watch ประจำประเทศไทย
 
[๑] Bangkok Declaration, เข้าถึงได้จาก http://www.internationaldemocracywatch.org/attachments/220_The%20ASEAN%20Declaration%20-%20Bangkok%20Declaration.pdf
[๒] ข้อ ๒ (๒) (จ) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัญญัติว่า
“ให้อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้…
...
(จ) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
...”
เข้าได้ถึงจาก http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121203-180519-958411.pdf
[๓] สำนักข่าว reuters, Indonesia arrests militant planning bomb strike on Myanmar embassy, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.reuters.com/article/us-indonesia-security/indonesia-arrests-militant-planning-bomb-strike-on-myanmar-embassy-idUSKBN13L032
[๔] สำนักข่าว the guardian, Malaysia PM urges world to act against ‘genocide’ of Myanmar’s Rohingya, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.theguardian.com/world/2016/dec/04/malaysia-pm-urges-world-to-act-against-genocide-of-myanmars-rohingya
[๕] Is Malaysian support for Rohingya an Election Ploy by Najib Razak?, Tashny Sukumaran, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.scmp.com/week-asia/geopolitics/article/2091627/malaysian-support-rohingya-election-ploy-najib-razak
[๖] สำนักข่าว FMT, Protest in Malaysia against Myanmar Violence, ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2017/08/30/protest-in-malaysia-against-myanmar-violence/
[๗] สำนักข่าว TNN24, รายงานพิเศษ: บทบาทอาเซียนกับการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่, ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=JDmze3SHTEM
[๘] เพิ่งอ้าง

© 2017 Office of the Council of State.